สิ่งนี้..มีอยู่จริง!
ไม่ใช่กองทุนของหน่วยงานรัฐ..
และไม่ใช่เงินสนับสนุนของรัฐบาลในชื่อ “ซอฟต์พาวเวอร์” แต่เป็นเงินจากไหนนั้น ต้องไปถามคุณอรุณศักดิ์ อ่องลออ นู่น!
ที่โยนให้ไปถาม ก็ด้วยได้อ่านที่คุณอรุณศักดิ์ นักคิด นักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์ ได้โพสต์.. “หมดเวลาที่คนทำหนังจะมาร้องแรกแหกกระเชอ ให้ใครช่วย
เราต้องยอมรับว่าหนังเป็นธุรกิจ มีกำไร มีขาดทุน มีต้นทุน เลิกพูดว่าไม่มีโรงฉาย ไม่ใช่ความผิดของโรงหนัง
เลิกพูดว่าไม่มีเงินทำหนัง ไม่ใช่ความผิดของนายทุน ไม่ใช่ความผิดของคนทำหนัง…ที่อยากทำหนัง
เราไม่ได้ต้องการไปไกลเพียงไหน ขอแค่เป็นหนังไทย ที่คนไทยดู มันจะไปแค่ไหน ให้หนังนำไป ให้โอกาสทุกคนส่งมา ขอเพียงคุณอธิบายได้ รับผิดชอบได้
และมั่นใจว่าหนังคุณสามารถเอาเงินมาคืนกองทุนได้ คุณเจ๋งที่จะรับผิดชอบตัวเองไหม กล้าการันตีหนังตัวเองไหมครับ ง่ายแค่นั้นเอง
ผมจะมาชวนให้คนทำหนัง ได้ทำหนังที่อยากทำ รับผิดชอบหนังที่ตัวเองทำ”
นี่..ที่มา คือหลังจากคุณอรุณศักดิ์ได้รวบรวมพลพรรคก่อตั้ง “สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์อิสระไทย” ขึ้น ก็ไม่รู้ว่าไปได้เงินทุนมาจากไหน..
จึงได้ทำโครงการ “กองทุนสร้างหนังสามัคคี” มีชื่อภาษาฝรั่งว่า “UNITY FUND 2025” ขึ้นมา และชักชวนให้ใครก็ได้ที่อยากทำหนังได้แสดงฝีไม้ลายมือ!
แต่มีข้อแม้.. “ต้องเอาเงินมาคืนกองทุนได้” ไม่ใช่ชักดาบเมื่อหนังเจ๊ง!
ถ้าสนใจและมั่นใจในความรู้ ความสามารถของตัวเอง ก็ลองติดต่อคุณอรุณศักดิ์ได้ ขอโทษที่ผมไม่มีเบอร์โทร.ตรง ก็ลองค้นหาวิธีติดต่อเอานะครับ!
อ้อ..ส่วนรัฐบาลที่ได้ประกาศไว้เมื่อปลายปี ภายหลังการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
โดยคุณประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม บอกว่า.. “รัฐบาลเห็นว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชันไทย มีความแข็งแกร่ง
สามารถเป็นเรือธงในการส่งเสริมเศรษฐกิจและซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้ ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรมก็รับผิดชอบในเรื่องนี้ และมีภารกิจในการดำเนินการ 4 เรื่องหลัก
1.การสนับสนุนการผลิต 2.พัฒนาบุคลากร 3.ส่งเสริมการตลาด หรือการพาบุคลากรไปร่วมงานเทศกาลในต่างประเทศ
และ 4.กิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมในวันนี้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี
และแอนิเมชันไทย วงเงิน 220 ล้านบาท ในปี 2568 โดยจะมีคณะกรรมการพิจารณา 3 ระดับ ได้แก่
1.คณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์ 2.คณะกรรมการกลั่นกรอง 3.คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ประกอบจาก 4 ส่วนคือ
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, อนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์, คนในสถาบันการศึกษาหรืออุตสาหกรรม และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนของงบประมาณก้อนนี้ แบ่งเป็นงบสนับสนุนการผลิต 200 ล้านบาท เป็นการสร้าง IP ด้านอุตสาหกรรม 10 ล้านบาท และสร้างหนังสั้นอีก 10 ล้านบาท นั้น
ป่านนี้จะมีความคืบหน้าถึงไหน อย่างไรไม่ทราบ จะมีบริษัทไหน ใครได้รับอนุมัติเงินก้อนนี้หรือยัง ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจะได้ชี้แจงแถลงไขให้ทราบบ้างก็ดี
อย่างน้อยก็เพื่อจะได้ติดตามดูว่า หนังที่ได้เงินสนับสนุนไปนั้นเป็นเรื่องใด ใครกำกับ จะได้ช่วยกันเป็นกำลังใจ อุดหนุนเมื่อเวลาหนังเข้าฉาย..
ที่สำคัญ จะได้รู้..คุ้ม-ไม่คุ้มกับเงิน (ภาษี) ที่ลงทุนไป จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทยได้มากน้อยแค่ไหน ประชาชนก็จะได้เห็น!
หรือว่าจะเป็นเหมือนที่ผ่านๆ มา ที่แม้ภาครัฐจะมีงบสนับสนุน แต่การจะอนุมัติให้บริษัทผู้สร้างหรือผู้กำกับคนไหนนั้น ไม่ใช่แค่ส่งเอกสารแล้วจะได้เงิน
ผู้กำกับหลายท่านได้บ่นให้ฟังด้วยความท้อแท้ เหนื่อยใจกับการขอเงินสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ ว่าเป็นไปด้วยความยุ่งยาก ลำบาก มีเงื่อนไข กติกาที่สลับซับซ้อนยากจะรับได้
และที่น่าเบื่อหน่ายที่สุด ก็คือการเล่นพรรคเล่นพวก ถ้าไม่มีเส้นสายภายในก็ยากที่จะได้รับการอนุมัติ!
ครับ..ผมก็ฟังมา จริง-เท็จไม่อาจยืนยัน แต่ก็ให้แอบเชื่ออยู่ในใจลึกๆ..
เด็กเส้น-ผู้ใหญ่เส้น-นักโทษเส้น..ประเทศนี้มีอยู่จริง!.
สันต์ สะตอแมน
The post สิ่งนี้..มีอยู่จริง! appeared first on .