อย่าเอาเปรียบเด็ก
ยังอยู่ที่ความปลอดภัยบนท้องถนนครับ
เราได้เห็นมาตรฐานของรถโดยสาร จากกรณีไฟไหม้ ทำให้นักเรียนและครูต้องเสียชีวิตไปจำนวนมากแล้ว หลังจากนี้จะถอดบทเรียน หรือจะล้อมคอก แบบไฟไหม้ฟางก็เชิญทำไปครับ
ซึ่งมันก็คงเป็นแบบนั้น
เพราะอีกเดือนสองเดือนข้างหน้า ก็ลืมกันหมดแล้ว
แต่ก็อยากจะฝากไปถึงคนที่มีอำนาจที่จะจัดการเรื่องนี้ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลองนึกภาพ ถ้าลูกตัวเองติดอยู่ในรถโดยสารหรือรถโรงเรียนที่ไฟกำลังไหม้อย่างรุนแรง สิ่งแรกที่จะทำคืออะไร
แล้วถัดๆ มาหลังจากนั้นจะทำอะไร
ถ้าคิดว่าลูกตัวเองไม่มีทางไปนั่งรถโรงเรียนเพราะมีรถส่วนตัวไปส่งทุกวันก็ไม่เป็นไรครับ ไม่ต้องทำอะไร แค่ชี้โบ๊ชี้เบ๊ ทำทีเป็นขึงขัง จบแล้วก็จบกัน
ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ครับ แต่อยากให้ได้รับรู้ถึงความปลอดภัยบนท้องถนนประเทศไทยว่าย่ำแย่ที่สุดในโลกประเทศหนึ่งเลยทีเดียว
สถิติผู้เสียชีวิตสะสมปีนี้ จนถึงวันที่ ๒ ตุลาคม อยู่ที่ ๑๐,๔๓๑ ราย
ถ้าเฉยๆ กับตัวเลขนี้ ก็ไม่ต้องทำอะไรเช่นเคย
แต่หากเห็นว่าสูงจนน่าตกใจ ก็ควรจะเริ่มปฏิบัติตามกฎหมายกันเสียที
ในส่วนของกฎหมายที่ยังล้าหลัง ก็ควรจะแก้ไขโดยด่วน
นักการเมืองพรรคไหน คนไหน ที่เอาแต่กระเหี้ยนกระหือรือ แก้ ม.๑๑๒ แก้รัฐธรรมนูญ ลองพักความคิดไว้สักพัก แล้วลองพิจารณาดูว่า เรื่องความปลอดภัยของเด็กๆ สำคัญเร่งด่วนกว่าหรือไม่
ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องขี้ผง ก็ไม่ต้องทำอะไร
แต่หากเห็นความสำคัญในความปลอดภัยของเด็กๆ ต้องลงมือทันทีครับ
แล้วจะแก้อย่างไร?
โซเชียลมีประโยชน์เยอะครับ แยกเนื้อแยกน้ำ จะพบข้อมูลที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้จริง หากเปิดรับและมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหา
วานนี้ (๒ ตุลาคม) เฟซบุ๊กเพจ “Money Disruptor” เขียนเรื่อง “ความปลอดภัย และ ธุรกิจรถโรงเรียนในสหรัฐ” ลองอ่านดูครับ
—————–
หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า หนึ่งในธุรกิจที่มีกำแพงการแข่งขัน (Barrier of Entry) สูงที่สุดในสหรัฐ คือธุรกิจ “รถโรงเรียน”
ปัจจุบันมีเด็กกว่า ๒๖ ล้านคนในสหรัฐและแคนาดา ใช้รถโรงเรียนกว่า ๕ แสนคัน แต่ส่วนใหญ่ถูกบริหารโดย ๓ บริษัทแค่นั้น (Oligopoly) คือ Blue Bird, Thomas และ IC
เงินรายได้ส่วนหนึ่ง มาจากการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งทำให้รถโรงเรียน ต้องผ่านข้อบังคับที่เข้มข้นมากมาย และต้องมีการออกแบบพิเศษที่ “ปลอดภัยสูงกว่า” รถโดยสารปกติ เช่น
๑.การออกแบบ
-ตัวถังสีเหลืองเฉพาะ “National School Bus Glossy Yellow” เพื่อให้แยกแยะได้ชัดเจน มองเห็นได้ง่าย ในทุกสภาพอากาศ
-มีแขนหยุดและไฟกะพริบ ใช้แจ้งให้ผู้ขับขี่อื่นๆ หยุดรถ เมื่อเด็กๆ กำลังเดินขึ้นหรือลง
-มีพนักพิงสูงและการแบ่งพื้นที่ ป้องกันเด็กในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เรียกว่า “Compartmentalization”
-รถสมัยใหม่ มีระบบติดตาม GPS ผ่านแอปพลิเคชัน และแจ้งเตือนผู้ปกครองเมื่อรถใกล้ถึงจุดรับส่ง และมี RFID เพื่อเช็กเด็กขึ้นลงรถ
-มีกล้อง เพื่อตรวจตราติดตามพฤติกรรมของนักเรียนและคนขับ และช่วยสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
๒.การป้องกันไฟไหม้
-ภายในใช้วัสดุกันไฟ เพื่อชะลอการแพร่กระจายของไฟ
-มีระบบดับไฟอัตโนมัติ และระบบป้องกันการลุกไหม้ของถังน้ำมันเชื้อเพลิง
-ติดตั้งทางออกฉุกเฉินหลายแห่ง เช่น ประตูหลัง ช่องหลังคา และหน้าต่างด้านข้าง เพื่อให้เด็กๆ สามารถออกจากรถได้อย่างรวดเร็วในกรณีฉุกเฉิน
๓.ข้อบังคับ
-มีมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์ (FMVSS) ที่เฉพาะเจาะจง เช่น การป้องกันการชน มาตรฐานการเบรก และความแข็งแรงของโครงสร้าง ซึ่งเข้มงวดกว่า และถูกตรวจสอบบ่อยครั้งกว่ารถโดยสารปกติ
-มีการฝึกอบรมคนขับอย่างละเอียด วิธีการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน การตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ต้องมีใบขับขี่เชิงพาณิชย์พิเศษ
๔.การใช้พลังงานสะอาด
เพิ่งเริ่มสนับสนุนอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี ๒๐๒๑ โดยรัฐบาลสนับสนุนงบถึง $5b ใน ๕ ปี ในการทยอยเปลี่ยนรถโรงเรียนให้เป็น Zero Emission เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ลดเสียงรบกวน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งรถโรงเรียน ที่ส่วนมากมีเวลาและเส้นทางการวิ่งที่แน่นอน และเวลาจอดพักนานกว่าปกติ จึงเหมาะกับการใช้งานรถไฟฟ้ามาก
ด้วยมาตรฐานที่สูง และการตรวจสอบที่เข้มงวดที่สุด ในรอบเกือบ ๑๐๐ ปี ธุรกิจรถโรงเรียนในสหรัฐ จึงมีเพียงผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย ที่ผ่านคุณสมบัติ
ซึ่งไม่ว่ารายไหน สิ่งสำคัญที่สุดอันดับหนึ่ง คือ ความปลอดภัยของเด็กนักเรียนครับ
“For school bus business, safety is always the number one priority”
————————–
ครับ…นั่นคือมาตรฐานอเมริกัน ซึ่งแน่นอนว่าสูงมาก หากจะนำมาใช้กับประเทศไทย คงได้ไม่ถึงครึ่ง เพราะข้อจำกัดด้านงบประมาณ คุณภาพพลเมือง เป็นหลัก
ทีนี้ลองมาดูมาตรฐานรถโรงเรียนในประเทศไทยบ้าง
ความหมายของรถโรงเรียน คือ รถที่ใช้รับ-ส่งนักเรียน ซึ่งอาจเรียกว่า รถรับส่งนักเรียนหรือรถรับจ้างรับส่งนักเรียนก็ได้
การนิยามความหมายเป็นไปตามเงื่่อนไขสำคัญของ ๓ หนวยงาน คือ
(๑) ประเภทรถที่กำหนดไว้ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ หมายถึง รถของโรงเรียนหรือรถของบุคคลที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ว่าด้วยการขนส่งทางบกหรือกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ให้นำมาใช้รับ-ส่งนักเรียน
(๒) ประเภทรถที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก หมายถึง รถตู้ รถสองแถว รถหกล้อ หรือรถบัส ที่จดทะเบียนเป็นรถโดยสารแบบประจำทาง และรถโดยสารไม่ประจำทาง
(๓) ประเภทรถที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติรถยนต์หมายถึง รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีที่นั่งไม่เกิน ๑๒ ที่นั่ง (รย.๒) เช่น รถสองแถวหรือรถตู้ ที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล มีป้ายทะเบียนพื้นสีขาว ตัวอักษรและตัวเลขสีฟ้า เช่น ฮต 1111 หรือ นข 11111 เป็นต้น
จะเห็นว่ามาตรฐานของไทยยังคงมีรถสองแถว รถหกล้อ หรือแม้กระทั่งรถตู้ รับส่งนักเรียนเกลื่อนประเทศ
แม้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. ๒๕๖๒ จะกำหนดรายละเอียดเอาไว้เยอะแยะไปหมด ทั้งคุณสมบัติรถ คนขับรถ แต่เคยเห็นรถตู้รับส่งนักเรียนกระจกใส สามารถเห็นนักเรียนภายในรถได้ชัดเจนกันหรือเปล่าครับ
ฟิล์มทึบแทบทั้งนั้น
ข้อกำหนดง่ายๆ ยังไม่ทำตามกันเลยครับ แถมหน่วยงานรัฐ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม ปล่อยปละละเลยให้ทำกันจนเป็นเรื่องปกติวิสัย
ครับ…ถ้าจะแก้ต้องรื้อใหญ่เดี๋ยวนี้ทันที
หากคิดว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขอะไร ก็รอดูข่าวครับ จะมีเด็กๆ เสียชีวิตระหว่างการใช้บริการรถโรงเรียน ไม่จบไม่สิ้น
เลิกเอาเปรียบเด็กๆ กันเสียที.
The post อย่าเอาเปรียบเด็ก appeared first on .