‘นิกร’ แจง รายงานมี 3 ข้อเสนอ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วย นิรโทษกรรม ม.110 ม.112
17 ต.ค.2567 – ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานการประชุม รับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธานกมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว
นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่า สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 ไม่ได้เป็นคดีหลักและคดีรอง แต่เป็นคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง โดยในรายงานก็ยืนยันไว้เช่นกัน
นอกจากนี้ กรรมาธิการไม่ได้มีข้อสรุปว่า จะนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมสำหรับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 เพียงแค่ศึกษาว่า มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เนื่องจากยังมีความเห็นต่างอย่างมีนัยยะสำคัญเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112
ดังนั้น กรรมาธิการจึงไม่พึงประสงค์ที่จะมีการลงมติว่ากรรมาธิการส่วนใหญ่มีความเห็นอย่างไร เพราะจะถือว่าไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นและความเชื่อของกรรมาธิการได้ แต่ได้เปิดโอกาสให้กรรมาธิการแต่ละคนแสดงความคิดเห็นไว้
นายนิกร กล่าวต่อว่า แนวทางที่เสนอมา จึงแบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ 1.เห็นด้วยว่าควรรวมการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112, 2.ไม่เห็นด้วยว่าควรรวมการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 และ 3.เห็นด้วยว่าควรรวมการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 แต่ให้มีเงื่อนไข ซึ่งส่วนตัวตนก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112
นอกจากนี้ ยังมีความเห็นที่ระบุว่าขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายออาญามาตรา 112 เป็นบทบัญญัติในความผิด ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือว่ามีความผูกพันทุกองค์กร และมีบางฝ่ายมองว่าอาจจะเกิดความขัดแย้ง
“ผมเชื่อว่าหากมีการเสนอร่างกฎหมายเข้ามาแล้วรวมความผิดมาตรา 112 ด้วยนั้น จะไม่ผ่านและถูกร้องว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะกรรมาธิการจากพรรคชาติไทยพัฒนา เรามีความเห็นเป็นมติว่า ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เช่นเดียวกับหลายพรรคที่ได้ให้ความเห็นไว้ในกรรมาธิการ ย้ำว่า ในข้อสังเกตก็ระบุไว้ชัดว่า มาตรา 110 และมาตรา 112 เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว และรายงานนี้เป็นเพียงแค่การสรุปความเห็นของสมาชิกเท่านั้น” นายนิกร กล่าว