ฟังจากปากผู้กำกับ ‘วุฒิดนัย’ กับความละเมียดละไมที่ซ่อนไว้ใน ‘อย่า กลับ บ้าน’
ต้น-วุฒิดนัย อินทรเกษตร
“อย่ากลับบ้าน (Don’t Come Home)” ซีรีส์ลึกลับระทึกขวัญเรื่องจาก Netflix ภายใต้ความร่วมมือกับ หับโห้หิ้น บางกอก ประสบความสำเร็จในฐานะคอนเทนต์ไทยที่สามารถไปสู่ระดับสากลได้อีกครั้ง หลังติดอันดับ 3 บนชาร์ต Top 10 หมวดซีรีส์ภาษาต่างประเทศ (Non-English) ที่มีผู้ชมสูงสุดทั่วโลกบน Netflix และติดอันดับ Top 10 ใน 39 ประเทศทั่วโลก หลังจากเริ่มสตรีมเพียง 1 สัปดาห์
โดยซีรีส์ อย่ากลับบ้าน (Don’t Come Home) ยังได้สร้างปรากฏการณ์บอกเล่าปากต่อปากว่าเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ไทยที่ควรค่าแก่การรับชม ผู้ชมต่างพากันคาดเดาและตีความสัญลักษณ์ที่แฝงฝังอยู่ในเรื่อง จนหลายคน ‘ติดอยู่ในลูป’ วนดูซีรีส์ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อเก็บตกรายละเอียดที่อาจมองข้ามไป
ซีรีส์เรื่อง อย่ากลับบ้าน (Don’t Come Home) จึงนับเป็นผลงานที่สร้างชื่อให้กับ “ต้น-วุฒิดนัย อินทรเกษตร” ผู้กำกับหน้าใหม่ซึ่งทั้งลงมือกำกับและเขียนบทคอนเทนต์ยาวเรื่องแรก จนแจ้งเกิดเป็นกระแสที่กล่าวถึงกันทั่วทั้งโซเชียล และนี่คือสารจากวุฒิดนัยที่จะเผยถึงเบื้องหลังงานสร้าง แนวคิด และมุมมองสุดละเมียดละไม ซึ่งจะทำให้เห็นว่าซีรีส์เรื่องนี้ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่ซ่อนไว้ และยังเป็นปัจจัยที่ทำให้คอนเทนต์ไทยไปไกลได้ถึงระดับสากล
กลยุทธ์วางโครงเรื่องที่เฉียบคม และประเด็นที่สื่อสารได้ในระดับสากล
อย่ากลับบ้าน (Don’t Come Home) เป็นซีรีส์ที่มีพล็อตเรื่องและประเด็นที่มีความเป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ตัวละครหลักที่เป็นผู้หญิงทั้งสามต้องเผชิญ ทั้งด้านครอบครัว หรือด้านการถูกกดทับ ซึ่งทำให้คนดูทั่วโลกมีความรู้สึกร่วมไปกับตัวละครได้ง่าย นอกจากนั้น โครงเรื่องที่วางมาโดยผ่านขั้นตอนการคิดอย่างละเอียดลออ รวมถึงการเปิดปมใหม่ๆ ของแต่ละตัวละครให้ผู้ชมได้ร่วมกันค้นหาคำตอบ ทำให้คนดูลุ้นระทึกไปกับเรื่องราวจนอดใจไม่ได้ที่จะดูอย่างต่อเนื่องจนจบ ซึ่งเป็นความตั้งใจของ ต้น-วุฒิดนัย อินทรเกษตร ผู้กำกับและผู้เขียนบท ที่พาผู้ชมไปพบกับความคาดไม่ถึงในทุกตอน
ซึ่งวุฒิดนัยได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “ในทุกตอนจะมีการออกแบบและวางแผนการเริ่มต้นและการจบเพื่อให้สอดคล้องกับประเภทเรื่องที่ตั้งใจจะพาผู้ชมไป เปรียบเสมือนการพาผู้ชมไปทดลองเล่นเครื่องเล่นในสวนสนุก ทำให้ผู้ชมสนุกไปกับการเล่น และอยากลองเล่นต่อไปเรื่อยๆ ว่าเครื่องเล่นอื่นๆ จะให้ความสนุกที่แตกต่างไปอย่างไร” รวมถึงการเล่าเรื่องรายละเอียดในซีรีส์ที่วุฒิดนัยตั้งใจเลือกจะละบางประเด็นไว้ “ในการทำซีรีส์ มีทั้งการเล่าเรื่องให้ชัดเจนและคลุมเครือ ในฐานะผู้กำกับจึงต้องเลือกว่าจะให้เหตุผลหรือจะละรายละเอียดบางส่วนไว้และเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการเล่าเรื่องเพื่อให้เกิดอิมแพกต์กับคนดูมากที่สุด”
ความละเมียดละไมระดับไฟน์ไดนิ่ง เสิร์ฟสัญญะเป็นคำใบ้ระหว่างทางให้ผู้ชมเต็มอิ่มหลังรับชม
หลังสตรีม อย่ากลับบ้าน (Don’t Come Home) ได้สร้างปรากฎการณ์บนโลกอินเทอร์เน็ตเมื่อผู้ชมต่างพากันวิเคราะห์ พูดคุยกันถึงความเป็นไปได้ และตีความถึงข้อความและสัญญะต่างๆ ในซีรีส์กันอย่างหลากหลาย โดยวุฒิดนัยเผยว่า ขอบคุณสำหรับความสนใจในรายละเอียดที่ตั้งใจถ่ายทอด ซึ่งนอกจากสิ่งที่ผู้ชมจับสังเกตได้แล้ว ยังมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทิ้งไว้ระหว่างทางตลอดทุก touchpoint ของซีรีส์ ตั้งแต่การตั้งชื่อตัวละครหลักที่ล้วนมีความหมาย และซ่อนสัญญะต่างๆ เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น “วารี” ที่ตั้งต้นจากวลี “เวลา และวารี ไม่เคยรอใคร” “มิน” ที่สื่อความหมายถึงปลา สารวัตร “ฟ้า” ที่อยู่ขนานกับผืนน้ำ เป็นภาพสะท้อนของกันและกันที่ไม่มีวันบรรจบกันได้ ไปจนถึงชื่อ “พนิดา” ที่แปลว่าผู้หญิง และชื่อของนายตำรวจ “ดนัย” ที่หมายถึงผู้ชาย หรือแม้แต่เหตุผลที่วิญญาณของวารีที่ปรากฎตัวในตอนต้นๆ ของซีรีส์ถึงมีความสูงที่ดูผิดสัดส่วน ซึ่งวุฒิดนัยตั้งใจสื่อถึง Alice in Wonderland Syndrome อาการทางระบบประสาทที่บิดเบือนการรับรู้ ทำให้วัตถุปรากฏเล็กลงหรือใหญ่ขึ้น โดยได้แอบหยอดคำอธิบายที่สื่อถึงอาการนี้เอาไว้ในฉากอ่านนิทานในเรื่องด้วย นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดที่วุฒิดนัยหยอดเอาไว้ระหว่างทาง อย่างเพลงประกอบที่แทรกไว้ในช่วง episode กลางๆ ที่แอบบอกใบ้ถึงการเปลี่ยน genre ของซีรีส์ รวมถึงเพลง “ความทรงจำ” ที่วุฒิดนัยตั้งใจเลือก วี วิโอเล็ต มาขับร้องด้วยความตั้งใจที่อยากให้ถูกถ่ายทอดด้วยเสียงของผู้หญิง และตั้งใจขอให้มีการปรับเนื้อเพลงเล็กน้อย เพื่อให้เพลงถ่ายทอดเรื่องราวของวารีได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
เทคนิคงานสร้างสมจริง เนรมิตจินตนาการของผู้กำกับสู่สิ่งที่ผู้ชมได้เห็นในซีรีส์
นอกจากเหล่าสัญญะที่ซ่อนอยู่รอให้คนดูมาค้นพบแล้ว วุฒิดนัยยังได้เผยความลับที่หลายคนอาจไม่ทันนึกถึงว่าหลายๆ ฉากที่ได้ผ่านตาในซีรีส์เรื่อง อย่ากลับบ้าน (Don’t Come Home) แท้จริงแล้วเกิดจากงานคอมพิวเตอร์กราฟิก เช่น ฉากที่เขื่อนและโรงไฟฟ้าที่สร้างขึ้นเพียงส่วนที่นักแสดงต้องสัมผัสเท่านั้น ส่วนบริเวณโดยรอบล้วนเป็นงาน CG ที่แต่งเติมเข้าไปภายหลัง หรือบ้านจารึกอนันต์ ที่แม้ห้องต่างๆ ภายในบ้านนั้นจะสร้างขึ้นมาใหม่ในสตูดิโอ แต่ภายนอกของบ้านจารึกอนันต์นั้นถูกสร้างขึ้นเพียงฉากหน้า (facade) เท่านั้น โดยรายละเอียดด้านในบ้านที่มองเห็นจากด้านนอกล้วนถูกเนรมิตขึ้นด้วย CG โดยวุฒิดนัยที่มีส่วนสำคัญในการออกแบบบ้านหลังนี้ ได้ทำงานร่วมกับทีมโปรดักชันในการออกแบบบ้าน รวมทั้งคัดสรรองค์ประกอบฉากอย่างละเอียดเพื่อให้สื่อถึง “พื้นที่” และ “เวลา” ได้เป็นอย่างดี “ทั้งหมดนี้ต้องยกความดีความชอบให้ทีมโปรดักชันที่ทุ่มเททำการบ้านอย่างละเอียด อย่างแผ่นกระเบื้องที่ปูพื้นบ้านนั้นเป็นการพิมพ์ลายขึ้นใหม่ทั้งหมด เพราะไม่มีขายแล้วปัจจุบัน นอกจากนี้มีอีกฉากเล็กๆ ที่คนอาจจะยังไม่ได้สังเกตเห็นว่าเป็นงาน CG คือใยแมงมุมที่เกาะอยู่บนเครื่องปั่นไฟด้านหน้าบ้านจารึกอนันต์ ซึ่งออกแบบไว้เป็นวงกลมเหมือนกับรอยร้าวบนกระจกในบ้าน
นอกจากความสมจริงของโปรดักชัน อีกเทคนิคสำคัญคือ Virtual Studio ที่ Netflix ได้นำมาใช้ในการถ่ายทำโดยเฉพาะในฉากขับรถที่นอกจากจะสร้างความสมจริงให้กับการถ่ายทำแล้ว ยังเป็นการยกระดับความปลอดภัยให้กับนักแสดง ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงระหว่างการถ่ายทำ และยังช่วยให้นักแสดงสามารถโฟกัสกับการแสดงได้อย่างเต็มที่อีกด้วย
วุฒิดนัยทิ้งท้ายว่า “ดีใจที่ความตั้งใจสรรค์สร้างผลงานอย่างละเอียดและประณีตได้ส่งผ่านไปยังผู้ชม ความสําเร็จของ อย่ากลับบ้าน (Don’t Come Home) ไม่ใช่ความสำเร็จที่มาจากผมคนเดียว แต่เป็นเครดิตของทีมงานทุกคนที่ร่วมกันทุ่มเทพาคอนเทนต์ที่เรารักมาพบกับผู้ชมที่รักในผลงานชิ้นนี้ของพวกเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผม และทีมงานรู้สึกขอบคุณมากๆ ครับ”
The post ฟังจากปากผู้กำกับ ‘วุฒิดนัย’ กับความละเมียดละไมที่ซ่อนไว้ใน ‘อย่า กลับ บ้าน’ appeared first on .