ก็เลี้ยงหลานไง!
อย่าเพิ่งเบื่อ กับการเขียนถึง MOU 44 ซ้ำแล้วซ้ำอีกนะครับ
เพราะผลกระทบจะมากกว่าการเสียเขาพระวิหาร พื้นที่ ๒ ตารางกิโลเมตร ให้กัมพูชา เมื่อ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๐๕ หลายร้อยหลายพันเท่า
ครั้งนั้นเพราะเสียรู้
แต่หากต้องเสียดินแดนอีกครั้งในอนาคตอาจเป็นการสมคบคิด เพราะผลประโยชน์ด้านพลังงานก้อนมหาศาล
ไทยอาจเสียเกาะแก่ง และน่านน้ำของประเทศ!
แม้รัฐบาลแพทองธารจะยืนกรานว่า เป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางที่จะเสียดินแดนให้กัมพูชา ซึ่งความจริงควรจะเป็นแบบนั้น แต่เพราะการมีอยู่ของ MOU 44 จึงไม่อาจปฏิเสธได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มว่า การเสียดินแดนอีกครั้งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
หากพิจารณาที่จุดกำเนิดของ MOU 2544 จะเกิดคำถามตัวโตๆ ตามมามากมาย
ทำไมถึงอยู่ในภาวะเร่งรีบ!
การเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาในเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีปใน ๓ ครั้งที่สำคัญ
คือ…
เมื่อวันที่ ๒-๕ ธันวาคม ๒๕๑๓
๑๔ มีนาคม ๒๕๓๕
และ ๒๗-๒๘ เมษายน ๒๕๓๘
ทั้ง ๓ ครั้งไม่ประสบความสำเร็จ
แต่ก็พอสรุปสาระสำคัญได้ว่ากัมพูชามีท่าทีชัดเจนมาตลอด ว่าต้องการให้พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีปทั้งหมดเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม
ให้แบ่งผลประโยชน์ฝ่ายละเท่ากัน
โดยที่่กัมพูชา ไม่สนใจที่จะปรับปรุงเส้นเขตไหล่ทวีปที่ตนอ้างสิทธิให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่อย่างใด
ต่อมารัฐบาลทักษิณ เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ได้จัดให้มีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการของเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของไทยและกัมพูชาที่เสียมราฐในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๔
ผลคือสามารถกำหนดแนวทางจนนำไปสู่การจัดทำ MOU 2544 ได้
รัฐบาลทักษิณบริหารประเทศได้เพียงครึ่งปี สามารถลงนาม MOU 2544
ฉะนั้นไม่มีอะไรน่าประหลาดใจนัก รัฐบาลแพทองธารเข้าบริหารประเทศได้ไม่กี่วันก็พยายามผลักดันการเจรจากับกัมพูชาให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดภายใต้ MOU 2544
เป็นแรงกระตุ้นให้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU 2544
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ว่า เอกสารลับทางการทูตของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เว็บไซต์ “วิกิลีกส์” นำมาเผยแพร่ ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ได้กล่าวถึงรายละเอียดการไปเยือนกรุงพนมเปญของสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน และร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงกัมพูชาว่า ผู้แทนบริษัท โคโนโคฟิลิปส์ ยักษ์ใหญ่พลังงานสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชา หาทางคลี่คลายข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย
โดยระบุว่าบริษัทฯ ถือสัญญาสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลาเกือบสิบปี
ในระหว่างการประชุมครั้งนั้น นายเกา คิม ฮอร์น เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้แจ้งต่อบริษัทฯ ว่า รัฐบาลไทยกับกัมพูชาเกือบได้ข้อยุติในเรื่องนี้ ไม่นานนักก่อนที่รัฐบาลทักษิณจะถูกรัฐประหาร
เอกสารสถานทูตอีกฉบับในเดือนธันวาคม ๒๕๕๒ ยังกล่าวอย่างชัดเจนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “ทักษิณ” กับ “ฮุน เซน” ว่า…
“การไปเยือนพนมเปญของทักษิณ ถูกนักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่มองว่า เป็นความต่อเนื่องของทักษิณและสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในการใช้กันและกันเพื่อผลประโยชน์”
จริงเท็จประการใดเรื่องนี้มีรายละเอียดอยู่ใน วิกิลีกส์
เมื่อ “ทักษิณ” กลับมาอีกครั้งในฐานะผู้ครอบครองรัฐบาลแพทองธาร มีการโชว์ความสัมพันธ์ระหว่าง “ทักษิณ” กับ “ฮุน เซน” ที่ดูแน่นแฟ้นกว่าเก่า
แม้ทั้ง ๒ ประเทศบริหารโดยรัฐบาลลูก แต่เป็นที่รับรู้กันว่ารุ่นพ่อบงการอยู่เบื้องหลัง
ไม่ทราบว่ารัฐบาลแพทองธารมองอย่างไร กับการที่กัมพูชาไม่เคยพูดเรื่องการปรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่ตนอ้างสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนส่วนล่างให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
ยืนยันที่จะผ่าเกาะกูดอยู่อย่างนั้น
อีกทั้งยังสามารถใช้การปรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่ตนอ้างสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนส่วนบน ซึ่งกัมพูชาแทบจะไม่ได้พื้นที่ในส่วนนี้มาใช้เจรจาต่อรองได้เลย โดยที่ทั้งหมดยังปรากฏอยู่ใน MOU 2544 มาถึงทุกวันนี้
เดิมทีกัมพูชาต้องการให้ดำเนินการตกลงทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมให้เร็วที่สุด เพื่อการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว
ในขณะที่ไทยไม่มีความจำเป็นต้องรีบเร่งในเรื่องดังกล่าวอย่างเช่นกัมพูชา
ความต้องการอย่างรีบเร่งที่แตกต่างกันนี่เอง ทำให้ไทยอยู่ในฐานะที่เหนือกว่ากัมพูชาในการเจรจาก่อนการจัดทำ MOU 2544
แต่การกำเนิดของ MOU 2544 กลับกำหนดกรอบในการเจรจาที่ต่างไปจากท่าทีเดิมของไทยดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง ตามข้อเท็จจริงพื้นที่ทับซ้อนส่วนบนนั้น กัมพูชากำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปตามใจชอบ ในขณะที่ไทยมีการกำหนดที่มีความสอดคล้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศมากกว่ากัมพูชาอย่างมีนัยสำคัญในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทั้งส่วนบนและล่าง
หากกำหนดให้ถูกตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว กัมพูชาแทบจะไม่ได้พื้นที่อะไรเลยในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนส่วนบน
และพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่แท้จริงในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนส่วนล่างจะเหลือน้อยลงจากเดิมอย่างมากในทางที่เป็นคุณต่อไทย
ดังนั้นการผูกประเด็นเจรจาให้พื้นที่ทับซ้อนทั้งสองส่วนแยกต่างหากจากกันมิได้ มีผลที่เป็นคุณต่อกัมพูชามากกว่าไทย
ก่อนจัดทำ MOU 2544 กัมพูชาอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถต่อรองอะไรได้มาก เพราะกัมพูชากำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปของตนโดยไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
แต่เมื่อจัดทำ MOU 2544 แล้ว พื้นที่ทับซ้อนส่วนล่างไม่มีประเด็นที่จะต้องอ้างอิงหลักกฎหมายระหว่างประเทศใดอีกต่อไป
ย้้ำอีกทีนะครับ…พื้นที่ทับซ้อนส่วนบน เป็นส่วนที่กัมพูชาแทบจะไม่ได้พื้นที่อะไรเลยอยู่แล้วหากกำหนดตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
เพราะไม่ใช่เขตแดนของกัมพูชา
แต่กัมพูชากลับสามารถใช้การเจรจาในพื้นที่ทับซ้อนส่วนบน มาเป็นประโยชน์สำหรับการเจรจาต่อรองกับไทยในพื้นที่ทับซ้อนส่วนล่างได้
รัฐบาลแพทองธารจะบอกว่าไม่รู้เรื่องนี้คงไม่ได้ เพราะอ่านหนังสือออกกันทั้งนั้น
ที่สำคัญแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา มีการกระจายตัวอยู่ไม่สม่ำเสมอ และค่อนข้างเป็นไปได้อย่างมากว่าส่วนใหญ่อยู่ที่ด้านตะวันตกของพื้นที่ดังกล่าวซึ่งอยู่ใกล้ฝั่งไทย
มีการคาดการณ์ที่น่าเชื่อถือได้ในทางธรณีวิทยาว่า แหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีศักยภาพนั้นอยู่ที่บริเวณตะวันออกของแอ่งปัตตานี ซึ่งต่อจากน่านน้ำไทยออกไปในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา
ค่อนข้างเป็นไปได้อย่างมากว่า ทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนนั้น มีการกระจายตัวอยู่อย่างไม่สม่ำเสมอ
แต่โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ด้านตะวันตกของพื้นที่ดังกล่าวซึ่งอยู่ใกล้ฝั่งไทย
ครับ…”ทักษิณ” บอกจะกลับมาเลี้ยงหลาน ไม่ยุ่งการเมือง
เพราะอยู่ในวัยรักลูก หลงหลาน
เรื่องนี้ยังทำให้เชื่อไม่ได้
แล้วเรื่องอื่นใครจะเชื่อ.
The post ก็เลี้ยงหลานไง! appeared first on .