คณะเศษสร้าง ปี 3 เรียนรู้เศรษฐกิจหมุนเวียน จากนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ จ.บุรีรัมย์

อาสาสมัครร่วมปลูกหญ้าแห้ว อาหารโปรดนกกระเรียน

ปัญหาน้ำท่วมฉับพลันและการขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ รวมถึงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เป็นสัญญาณเตือนถึงวิกฤตภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น การป้องกันทางธรรมชาติ เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ มีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลระบบนิเวศและบรรเทาวิกฤตสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทย พื้นที่ชุ่มน้ำมีกางระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค อย่างใน จ.บุรีรัมย์ มีการแก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้งจากการพัฒนาระบบจัดการน้ำได้ทำให้ปัญหานี้คลี่คลายลง หนึ่งในแนวทางสำคัญ คือการฟื้นฟูและอนุรักษ์ พื้นที่ชุ่มน้ำ อย่างพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด หรืออ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่คอยกักเก็บน้ำที่ช่วยเกื้อหนุนทั้งการอุปโภค การประปา การเกษตร และระบบนิเวศ การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ ยังเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและสร้างความมั่นคงทางน้ำให้กับชุมชน

แนวทางที่มีการลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมนี้ ทางกลุ่มธุรกิจ TCP จึงได้จัดกิจกรรม TCP Spirit “คณะเศษสร้าง ปี 3” ภายใต้แนวคิด เฮียนธรรมชาติหมุนเวียน เบิ่งนกกระเรียนฟื้นคืน นำอาสาสมัครจำนวน 50 คน ลงพื้นที่ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย ชุมชนบ้านสวายสอและชุมชนบ้านหัวสะพาน  จ.บุรีรัมย์  

อาสาสมัครลงมือฝัดข้าว

เพื่อเรียนรู้เศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ชุ่มน้ำและการทำเกษตรอินทรี แบ่งเป็น 3 วิชาหลักๆ ประกอบด้วย วิชาที่ 1 วัฏจักรน้ำ วัฏจักรชีวิต ที่ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย กับการเรียนรู้วิถีชีวิตของนกกระเรียนที่เปรียบเสมือนตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยพื้นที่ชุ่มน้ำ ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มากและอ่างเก็บน้ำสนามบิน ได้ถูกฟื้นฟูจากพื้นที่ที่ไม่ถูกใช้งานจนกลายเป็นระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญใน จ.บุรีรัมย์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2524 ได้รับการคัดเลือกเป็นพื้นที่ปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติ จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย เนื่องจากเป็นแหล่งอาศัยและอาหารที่มั่นคงตลอดปี โดยได้ความร่วมมือของชุมชนช่วยปกป้องฟื้นฟู และสร้างความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ให้ปลอดสารเคมีจากการทำเกษตร นกกระเรียนพันธุ์ไทยหรือนกชนิดอื่นๆ จะสามารถขยายพันธุ์ได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้รู้จักวิธีการปลูกหญ้าแห้วทรงกระเทียม ซึ่งเป็นแหล่งอาหารทดแทนของนกกระเรียน

นกกระเรียนพันธุ์ไทย ในพื้นที่ชุ่มน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก

วิชาที่ 2 เกษตรอินทรีย์ วิถีวงกลม  ที่เถียงนาเชฟเทเบิล ชุมชนบ้านสวายสอ แหล่งทำเกษตรอินทรีย์และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนบ้านสวายสอ อ.เมือง ที่มีผลิตภัณฑ์ข้าวจากนาอินทรีย์ ภายใต้ชื่อ ข้าวสารัช ข้าวที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชุมชนในการผลิตเพื่อความคงอยู่ของระบบนิเวศที่เป็นถิ่นอาศัยของนกกระเรียนพันธุ์ไทย และสมดุลของธรรมชาติ โดยจะมีฐานการเรียนรู้ให้อาสาสมัครได้ลองลงมือทำจริง อาทิ การเพาะข้าว ดำนา การฝัดข้าว และการแยกฟาง ซึ่งเป็นกระบวนการสั้นๆ ที่ทำให้เข้าใจวิถีการทำนามากยิ่งขึ้น

วิชาที่ 3 เส้นทางสายไหม สู่ใยเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ชุมชนบ้านหัวสะพาน อ.พุทไธสง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหม โดยมีการปลูกหม่อนที่ใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์ ทำให้สามารถรักษาคุณภาพของดิน หนอนไหมที่เหลือจากการสาวไหมก็สามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารทางเลือกได้ โดยจะมีการเรียนรู้ตั้งแต่การศึกษาต้นหม่อน การย้อมไหม เป็นต้น

สราวุฒิ อยู่วิทยา

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า คณะเศษสร้าง ปี 3 ในปีนี้ เป็นการเรียนรู้วัฏจักรทางชีวภาพ จะแตกต่างจาก 2 ปีที่ผ่าน ที่เป็นการเรียนของวัฏจักรวัสดุต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการเรียนรู้แบบลงมือทำจริงในพื้นที่จ.บุรีรัมย์ ที่ตั้งใจพา อาสารุ่นใหม่มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเข้ามาแทนที่ระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง เพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด กิจกรรมนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้อาสาได้นำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชุมชน พร้อมทั้งส่งต่อพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงให้กับคนรอบข้างและสังคม เพื่อร่วมกันรักษาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้โลก

ดร.เพชร มโนปวิตร

ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ และครูใหญ่คณะเศษสร้าง กล่าวเสริมว่า หากนึกถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่วนใหญ่จะเน้นไปทางทรัพยากรด้านวัตถุดิบ ดังนั้นเมื่อมองในมุมของโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน(BCG) ที่จ.บุรีรัมย์ ถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีมาก เพราะสามารถสะท้อนให้เห็นภาพของเกษตรอินทรีและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีเชื่อมโยงกันเพราะปัญหาใหญ่ของโลก 1 ใน 3 คือ วิกฤตปัญหาดินเสื่อมโทรม ที่ส่งผลต่อการกักเก็บคาร์บอน การอุ้มน้ำ และการทำเกษตร นอกจากนี้ยังทำให้เข้าใจการทำเกษตรอินทรี ที่ต่อยอดในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ส่งต่อไปถึงพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับประโยชน์ เพราะไม่มีสารเคมี และเป็นแหล่งอาศัยของนกต่างๆ และยังสามารถเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนหลักจากที่เคยสูญหายไปจากประเทศไทยกว่า 50 ปี ซึ่งเป็นความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่หรืออาสาสมัครที่เข้าร่วมกิจกรรมได้สัมผัสประสบการณ์และเห็นถึงผลจากการลงมือทำได้อย่างชัดเจน

ณัฐวัฒน์  แปวกระโทก

ด้าน ณัฐวัฒน์  แปวกระโทก เจ้าหน้าที่วิจัยภาคสนาม ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย กล่าวว่า ตลอดระยะกว่า 10 ปี ที่โครงการปล่อยนกกระเรียนได้ดำเนินการในพื้นที่ชุ่มน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก มีบางช่วงที่ประสบกับปัญหาน้ำแล้งในปี 2563 ฤดูฝนแต่ฝนไม่ตกก็มีผลต่อการขยายพันธุ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อน หลังจากนั้นเมื่อมีสภาพฝนฟ้าตกตามฤดู มีน้ำในหนองน้ำ นกกระเรียนก็กลับมาขยายพันธุ์ ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ชุมชนที่มีส่วนร่วมในการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศของนกกระเรียนโดยตรง เพราะหากแหล่งน้ำมีสารเคมี แหล่งอาหารไม่มั่นคง นกกระเรียนก็อาจจะสูญพันธุ์ไปเลยในไทย

“ปัจจุบันชาวบ้านยังสามารถนำประโยชน์จากนกกระเรียนไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงสัญลักษณ์ และการทำท่องเที่ยวดูนก เพราะเป็นพื้นที่แห่งเดียวในไทยที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนพันธุ์ไทย โดยมีจำนวนนกกระเรียนที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติแล้ว 166 ตัว สามารถติดตามได้ 120 ตัว(อัตราการรอดชีวิต)   และเกิดการขยายพันธุ์ในธรรมชาติกว่า 75 ตัว  ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามก็มีการเพาะพันธุ์จากในสวนสัตว์ โดยปี 2568 ก็จะมีแผนที่ปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติจำนวน 8 ตัว ขึ้นอยู่กับว่าจะมีความร่วมมือกับเวียดนามในการส่งไปขยายพันธุ์ที่ประเทศเวียดนาม เนื่องจากพบวิกฤตนกกระเรียนใกล้สูญพันธุ์ ดังนั้นแหล่งที่อยู่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์ แหล่งอาหารมั่นคงจึงเป็นส่วนสำคัญ” ณัฐวัฒน์  กล่าว

. พื้นที่ชุ่มน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก

ทองพูน อุ่นจิตต์ เจ้าของเถียงนาเชฟเทเบิล ชุมชนบ้านสวายสอ กล่าวว่า ในช่วงแรกจองการทำเกษตรอินทรีย์ชาวบ้านในชุมชนก็ยังไม่มีความเข้าใจ แต่พอมีโครงการปล่อยนกกระเรียนคืนถิ่น ก็มีหน่วยงานเข้ามาให้องค์ความรู้เกี่ยวการทำเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง และสร้างความเข้าใจว่านกกระเรียนไม่ใช่ศัตรูที่จะมากินข้าวเป็นอาหารหลัก แต่กลับมาช่วยกำจัดศัตรูของข้าวแทน อย่าง ปลา ปู และแมลงในข้าว อีกทั้งการทำเกษตรอินทรีย์ยังสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งน้ำ จึงได้เกิดการต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นพื้นที่การเรียนรู้หรือมาทานอาหารพื้นถิ่นซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีในพื้นที่ และยังนำเรื่องราวของนกกระเรียนมาสร้างเป็นแบรนด์ข้าวออแกนิกสารัช ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน

นาข้าวอินทรี ชุมชนบ้านสวายสอ

ศิริมงคล คชภัคดี พนักงานบริษัทเอกชน เล่าว่า ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่มัธยม มีความสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจากการเข้าค่ายที่ได้ไปอยู่ร่วมกับชาวบ้านและธรรมชาติ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่แตกต่างจากการการใช้ชีวิตในเมือง และยังเป็นอาสาสมัครอยู่ที่กลุ่มใบไม้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่อนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม ในอ.บ้านนา จ.นครนายก โดยจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่สอดแทรกเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม อย่าง คอนเสิร์ตที่การแต่งเพลงเนื้อหาบอกเล่าเรื่องราวของธรรมชาติ และการมาร่วมกิจกรรมลงพื้นที่ในวิชาต่างๆ ของคณะเศษสร้างทำให้เปลี่ยนความเชื่อเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ไม่ใช่แค่วัตถุดิบ แต่สิ่งที่เกิดจากวัตถุดิบธรรมชาติก็สามารถจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ รวมไปถึงพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นระบบนิเวศที่สำคัญของนกกระเรียน และที่สำคัญคือ การเห็นถึงความเข้มแข็งของคนในพื้นที่และทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญของสิ่งแวดล้อม.

อาสาสมัครเรียนรู้การย้อมไหม

บรรยากาศกิจกรรมคณะเศษสร้างปี 3 

You may also like...