ถึงเวลา “สว.” ปลดแอก เลิกเกรงใจ “บ้านบุรีรัมย์”
ปลดแอกได้แล้ว เลิกเกรงใจได้แล้ว เลิกเกรงใจบ้านบุรีรัมย์ เลิกเถอะ ขอให้ทุกคน(สว)เป็นตัวของตัวเอง ทุกคนเป็นคนดี มีประวัติความดีงามเยอะ..ทำไม ต้องไปทำตามคำสั่งด้วย ไม่ต้องทำ ทำตามความถูกต้อง จะดีกว่า
ความเคลื่อนไหวของ“สภาสูง-วุฒิสภา“กับเรื่องการไต่สวน-สอบสวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ทั้งในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)และกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะหลังอนุกรรมการไต่สวนของกกต.มีหนังสือเรียกสว.55 คนไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในสัปดาห์นี้ 19-21 พ.ค. ขณะเดียวกัน คำร้องคดียื่นถอดถอนภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ที่สว.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่าเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลรธน.วินิจฉัยให้ พ.ต.อ.ทวี ที่คุมกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ฯ ซึ่งศาลรธน.ก็มีมติเอกฉันท์เมื่อ14 พ.ค.ทำให้เรื่องราวความเคลื่อนไหวในส่วนของวุฒิสภา จึงน่าติดตามอย่างยิ่ง
ก่อนหน้านี้ “ไทยโพสต์“ได้สัมภาษณ์”นาวาตรี วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ-สมาชิกวุฒิสภา”ที่เรียกตัวเองว่าเป็น”สว.อิสระ“ถึงภาพรวมการทำงานของสว.ชุดปัจจุบัน ทั้งเรื่องความเป็นอิสระ-ความเป็นเอกภาพและกรณีการโหวตลงมติเห็นชอบบุคคลไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระและองค์กรสำคัญต่างๆ
“นาวาตรี วุฒิพงศ์“ให้มุมมองว่า ภาพรวมการทำงานของสว.ที่ผ่านมา ก็มีคุณภาพ หลายคนคัดมาจากที่ต่างๆโดยการเลือกกันเอง แม้อาจจะมีปัญหาที่บอกว่ามีการฮั้วมา ที่ก็ต้องมีการตรวจสอบต่อไปแต่สำหรับส่วนตัวผมเอง เป็นสว.อิสระ ไม่ได้ขึ้นกับใคร ไม่ได้ไปฟังมติจากใคร นอกจากการคิด-การอ่าน เช่นการโหวตบุคคลไปทำหน้าที่องค์กรอิสระ ก็อ่านตามเอกสารที่คณะกรรมการสรรหา ส่งเอกสารมาให้สว.ซึ่งกรรมการสรรหาฯ มีการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ มาก่อนแล้ว และมีกรรมการกลั่นกรอง(คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาตรวจสอบประวัติฯ ของวุฒิสภา) มากลั่นกรองอีกรอบหนึ่งก่อนจะให้สว.โหวต เราก็ดูตามนั้นเพื่อจะโหวตเห็นชอบ
“แต่ปัญหาก็คือว่า มันดูเหมือนกับบางอย่างมันถูกสั่งการมาจากที่ไหนสักแห่งหนึ่งที่ทำให้มติออกมาไม่ตรงตามความรู้สึกของคนส่วนใหญ่”
… แต่อย่างว่าทุกคน(สว.)มีเอกสิทธิ์ แต่ปัญหาคือว่าจริงหรือไม่ ที่ทุกคนมีเอกสิทธิ์ ทำไมไม่คิดตามที่ควรจะเป็น อย่างการโหวตเห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระ ก็มีการกลั่นกรองมาแล้วจากคณะกรรมการสรรหาฯ ที่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่งเช่น ประธานศาลปกครอง ผู้นำฝ่ายค้านฯ ประธานรัฐสภา อย่างหากกรรมการสรรหาโหวตบางคนด้วยคะแนนเสียงเอกฉันฑ์เช่นโหวตเห็นชอบ 8 เสียงเลย แล้วส่งมา มันก็ยากที่่จะให้อย่างอื่น แต่ปรากฏว่าผลโหวตออกมาอีกแบบหนึ่ง(วุฒิสภา) ก็เลยกลายเป็นว่าชักเริ่มไม่ถูกต้อง ชักเริ่มอึดอัด
รวมถึงกรรมการตรวจสอบประวัติฯ ของสว.ก็มักเป็นคนเดิมๆอีก ผมอยากบอกให้ทุกคนพยายามทำให้มันถูกต้อง อย่าให้ประชาชนร้องเอ๊ะ หรือสงสัย
-การทำงานที่ผ่านมาของสว.ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คิดว่าสว.มีความเป็นกลาง มีความเป็นอิสระมากน้อยแค่ไหน?
คุยกันเป็นรายคน ทุกคน แต่ถึงเวลาลงคะแนน ทำไมถึงเป็นแบบนั้นไปหมด เราไม่ทราบได้เหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าสายสนกลในไปรับฟังคำสั่งจากใครหรือว่ามีการบงการจริงหรือไม่ อันนี้ตอบยาก เราไม่รู้รายละเอียด เพราะเราไม่ได้อยู่ในวงของเขา แต่เราพูดอะไร ลงคะแนนอะไร ส่วนตัวของเราเป็นอิสระ ที่ก็มีประมาณ 40-50 คน ที่เป็นแบบนั้น ก็จะมีประมาณ 130-140 ที่เป็นกลุ่มที่คิดแบบเดียวกัน ส่วนอีก 40 กว่าคนก็คิดอีกแบบหนึ่ง คือตรงกันข้าม
-ที่คนมองว่าที่ผ่านมา สว.มีสีเสื้อการเมือง มีสีน้ำเงิน สีส้ม สีแดง มองอย่างไร?
จริงๆการที่จะไปเชื่อในสีต่างๆ เพราะประชาชนชาวไทย ก็เชื่อกันคนละแบบสองแบบ ไม่อย่างนั้น พรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกมาจะเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร แต่สว.ต้องเป็นกลางทางการเมือง ต้องไม่เชื่อ ต้องไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใดๆ อันนี้คือหลักการ ถึงแม้แต่ละคน อาจจะเคยเชื่อหรือมีเพื่อนอยู่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าก็อาจมีเพื่อนอยู่พรรคการเมืองต่างๆ
อย่างตัวผมเองก็รู้จักคนตั้งเยอะ ก็มีอยู่เกือบทุกพรรค ทั้งสีน้ำเงิน สีส้ม สีแดง รู้จักหมด อย่างไรก็ตาม เราต้องเป็นกลางทางการเมือง ไม่รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง ไม่ฟังคำสั่งจากพรรคการเมืองต่างๆ แต่คนอื่นผมไม่แน่ใจ ซึ่งต้องให้ประชาชนเขาแน่ใจด้วยเหมือนกัน
-การที่คนภายนอกมองว่าสว.มีสีเสื้อทางการเมือง ทำให้การทำงาน การลงมติโดยเฉพาะเรื่องสำคัญๆ มีความลำบากใจหรือไม่ เช่นการลงมติตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้ที่ก็มีสว.ไม่เข้าประชุม เป็นต้น จะทำให้มีปัญหาการยอมรับสว.ในระยะยาวหรือไม่?
ตอนนี้ เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งสองฝ่ายต้องลดทิฐิของตัวเองลง เพราะอย่างสว.หลายคนก็ไม่สบายใจเรื่องเกรงจะไปมีการการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดหนึ่ง-หมวดสอง ก็ต้องไม่แก้หมวดหนึ่ง-หมวดสอง หรือจะให้มีสมาชิกสภาร่างรธน.ขึ้นมา แต่ก็ต้องไม่ใช่ลักษณะตีเช็คเปล่าที่จะแก้อะไรก็ได้ ที่ตรงนี้ในฝ่ายสภาฯ ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่บอกว่า ไม่ได้ ไม่ควรแก้ไขหมด ส่วนสว.เฉลี่ยแล้วก็จะอายุโดยเฉลี่ยประมาณหกสิบปี ก็ค่อนข้างที่จะเป็นอนุรักษ์ฯ(อนุรักษ์นิยม) คือไม่อยากให้กระทบกระเทือนหมวดหนึ่ง-หมวดสอง ไม่อยากให้กระเทือนทั้งระบบเพราะอย่างเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่ควรไปแตะต้องในขณะนี้ ควรไปแก้ไขประเด็นที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย
ในส่วนของสว.นั้น ประชาชนก็ยอมรับระดับหนึ่งว่าสว.มีสิทธิและอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องสีเสื้อ ก็ทำให้บางครั้งประชาชนก็ไม่ไว้วางใจว่าทำไมต้องฝักใฝ่สีน้ำเงิน สีแดง หรือสีส้ม ซึ่งมันก็มีทุกสีที่พยายามเข้ามาแทรกแซงในการทำงาน มีอิทธิพลของการเมืองสนามใหญ่ ที่บางครั้งก็กระทบกระเทือนกับประชาชน เพราะสว.บางคนก็อยู่พื้นที่ เมื่อประชาชนส่วนใหญ่คิดอย่างไร ก็สะท้อนมาที่สว.เหล่านั้น เช่น ถามว่าทำไมคุณไม่ทำอย่างนั้น ไม่ทำแบบนี้ คุณเป็นอั้งยี่จริงหรือเปล่า เป็นสีไหน ก็สะท้อนกลับมา
ทั้งที่บางทีจริงๆเขาไม่ได้เป็น แต่คนไปเชื่อกันแล้ว เนื่องจากสื่อออกข่าวบ่อยๆจนทำให้ประชาชนเขาเชื่อ พอประชาชนเชื่อ ก็ทำให้สว.ทำงานได้ยากขึ้น ตรงนี้ก็มีผล เช่นผลต่อทางจิตใจ เวลาสื่อมวลชนเสนอข่าว ผมก็เคยอภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภา เสนอว่า อยากให้สว.ทุกคนช่วยกัน เช่น อย่าด่ากันเอง ให้ช่วยกันทำงานเพราะมีงานหลายอย่างที่เป็นงานสร้างสรรค์ สว.มีภารกิจมากมายไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย หรือเรื่องการรับรองเห็นชอบบุคคลฯในองค์กรต่างๆ แต่สว.ก็ยังมีหน้าที่ช่วยประชาชนแก้ปัญหา เช่นการเสนอแนวทางเรื่องการพัฒนาระบบการศึกษา การหาแนวทางช่วยแก้ปัญหายาเสพติด เป็นต้น
โวยกมธ.ฯสอบประวัติ ล็อกโผ-มีแต่ชื่อเดิมๆ
-การเห็นชอบบุคคลไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระรวมถึงองค์กรอื่นๆเช่น ศาลปกครองสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญ ในส่วนของวุฒิสภาเอง ตั้งแต่กระบวนการเลือกสว.ไปเป็นกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติฯ มีการล็อกชื่อสว.ไว้หรือไม่?
ก็ล็อกอยู่ที่กรรมการสอบประวัติ ชื่อเดิมๆ ซ้ำตลอด ถามว่าสว.กลุ่มไหน ก็กลุ่มแจ็ค เขาก็ออแกนไนซ์หมดเลย ตอนนี้ก็เป็นปัญหาของวิปวุฒิสภาที่วิปวุฒิสภา ก็จะสรรหาบุคลากรที่ชื่อซ้ำๆมาเป็นกรรมการตรวจสอบประวัติฯ มันซ้ำเกินไป จนสภาใหญ่(วุฒิสภา)ก็ไม่สบายใจ เคยมีการคุยกันเรื่องนี้ว่าควรปรับปรุงแก้ไของค์ประกอบพวกนี้ใหม่ ซึ่งทำตามกฎหมายก็ทำได้ ก็มีสว.จำนวนหนึ่งก็พอใจ บอกว่าทำได้ตามกฎหมาย แต่อีกจำนวนหนึ่งที่ก็ไม่น้อย ก็ 40-50 คน ก็เห็นว่าควรแก้ไข
อย่างกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติองค์กรอิสระต่างๆ เช่น ป.ป.ช. อย่างบางคน ก็เคยลงชื่อยื่นป.ป.ช.ให้ตรวจสอบพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม-พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ ที่ก็อาจไม่เหมาะสมก็ได้ เพราะคุณมีเรื่องกับทางการแล้วคุณก็ไปเป็นกรรมาธิการกลั่นกรองฯสอบประวัติคนที่จะไปเป็นป.ป.ช. ก็ไม่ได้ คนที่เข้าไปเป็นกรรมาธิการสอบประวัติไม่ควรเป็นคนที่เคยมีปัญหากับป.ป.ช. หรือไม่เคยมีปัญหากับใครแล้วส่งเรื่องไปป.ป.ช. ไม่อย่างนั้นป.ป.ช.ก็จะเกรงใจ แล้วก็จะไม่เป็นกลาง เคยมีการเสนอประธานวุฒิสภาว่าต้องไม่ทำ สว.ที่เคยร่วมลงชื่อยื่นเรื่องป.ป.ช.ให้สอบสวน รมว.ยุติธรรมกับอธิบดีดีเอสไอ ไม่ควรเป็นกรรมาธิการสอบประวัติฯ เพราะหากเข้าไปเป็นดูแล้วมันไม่ถูก การตั้งสว.ไปเป็นกรรมาธิการสอบประวัติฯ หลังจากนี้ เห็นว่าควรหลากหลาย ไม่ใช่มีแต่สว.ที่ชื่อเดิมซ้ำๆ
เตือนโหวตองค์กรอิสระ ทำตามใบสั่งทุกครั้ง กระทบภาพลักษณ์
-ที่ผ่านมาซึ่งสว.เคยลงมติไม่เห็นชอบ กรรมการองค์กรอิสระเช่น คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน อาทิ นิวัติไชย เกษมมงคล อดีตเลขาธิการป.ป.ช. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเช่น นายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตทูตฯ หากสว.ยังลงมติลักษณะแบบนี้ไปเรื่อยๆ ที่อาจค้านสายตาสังคม สว.ไม่สามารถบอกได้ว่าทำไมไม่เลือกคนเหล่านี้ที่สังคมอาจมองว่าเขาเหมาะสม ระยะยาว หากยังเป็นแบบนี้ จะเกิดวิกฤตศรัทธากับสว.ชุดนี้หรือไม่?
อันนี้สำคัญมาก เรื่องของวิกฤตศรัทธาคงยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่เรื่องภาพลักษณ์ ก็จะแย่ลงไปเรื่อยๆ
เมื่อภาพลักษณ์แย่ลงเรื่อยๆ จะมีผลต่อศรัทธาด้วย เพราะหากภาพลักษณ์แย่ไปสักพัก คราวนี้ศรัทธาก็ไม่มีเหลือ เดิมก็ยังเชื่อว่าเป็นสถาบันที่กลั่นกรองจริง ซึ่งที่ผ่านมา สว.ชุดปัจจุบันก็ทำได้ดีเช่นการกลั่นกรองกฎหมาย เช่นอย่างร่างพรบ.การออกเสียงประชามติ ที่เห็นต่างกันว่าควรเป็นประชามติชั้นเดียวหรือสองชั้น ซึ่งชั้นเดียวก็เร็วดี แต่สองชั้นก็ดูถูกต้อง ก็ถูกต้องเหมือนกัน แต่ทำไมเอาสองชั้นไม่เอาชั้นเดียว ก็มีการอภิปรายด้วยเหตุด้วยผล สุดท้าย ประชามติสองชั้นก็ชนะแต่ก็เหตุผล หรือร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่เถียงกันระหว่างอวนตาถี่กับอวนตาห่าง จนสุดท้าย ต้องมาประชุมร่วมกันระหว่างส.ส.กับสว.ว่าจะเอาอย่างไร คุยกันด้วยเหตุผล
จะเห็นได้ว่าหลายเรื่องก็มีส่วนดีที่มีสว.อยู่ เพื่อที่เวลาตัดสินใจจะได้ไม่ผลีผลาม ประเทศชาติเรื่องใหญ่ๆ ต้องมีเวลาไตร่ตรอง
เรื่องการโหวตองค์กรอิสระฯ สว.กลุ่มที่เป็นอิสระ ก็พยายามพูดประเด็นนี้ว่า มันไม่ได้ ก็คุยกับคนที่พอคุยกันได้ว่า ขออนุญาต ใครที่อยู่เบื้องหลังพวกคุณ ขอให้หยุดการทำงานอันไม่เหมาะสม ภาพลักษณ์เสียหายมันเสียหายหมด เหมือนปลา ถ้าปลาเน่าตัวเดียวทั้งข้องมันเหม็นหมด คุณก็ต้องหยุดการทำอะไรที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้สว.ได้ใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองอย่างแท้จริง ใครที่บงการก็ต้องหยุดการบงการเสีย อันนี้ผมไม่รู้ว่าใครบงการแน่ สันนิษฐานผู้คนก็พอสันนิษฐานได้ แต่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นทุกคนที่ทำอยู่ ต้องหยุดการทำงานที่ว่านี้เพราะทำให้พวกเราเสียหายมาก แล้วเราก็จะเสียหายกันหมดทุกคน
-คิดว่าการโหวตของสว.ในการโหวตองค์กรอิสระและตุลาการศาลรธน.ที่ผ่านมามีใบสั่งทางการเมืองมาที่สว.หรือไม่?
ผมไม่เห็นไง เพราะไม่ได้สั่งมาที่ผม แต่ถ้ามี ก็เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง มีคนสันนิษฐานว่ามี แต่เราไม่รู้ เราจะไปปรักปรำเขาไม่ได้ คนที่จะไปดูตรงนี้จริงๆ ก็คือพวกอย่าง ดีเอสไอหรือกกต. ต้องไปดูว่าการลงคะแนนบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ ถึงแม้จะมีอำนาจตามรธน.ให้เราไว้ก็ตาม แต่แน่นอนว่าแต่ละคน ต้องใช้วิจารณญาณส่วนตัว อย่าไปฟังคำบงการจากใคร เพราะนี้คือประเทศไทย เขาให้มีสว.แบบนี้มาเพื่อให้ทำงานสำคัญๆ เราก็ต้องทำให้มันดีที่สุด
-มองอย่างไรเรื่องที่มีความพยายามส่งคนเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระหรือองค์กรต่างๆ เช่น ศาลรธน. แล้วจะเกิดผลเสียอย่างไร?
อันนี้ไม่ดี ไม่ถูกต้อง เพราะเราต้องการคนที่มีความเป็นกลางเช่นตุลาการศาลรธน. ต้องเป็นคนที่เป็นกลาง มีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ ประเทศไทยต้องการคนแบบนี้ แต่ต้องไม่ใช่คนที่จะเป็นสาวก ไปซูฮกเขา หรือไปเป็นกีกี้ เป็นสมุน แบบนี้ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นไม่มีความเป็นกลาง ทั้งป.ป.ช. -กกต.-สตง.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องเป็นคนที่เป็นกลาง เป็นคนที่ไม่สามารถมาล็อบบี้ได้ ซึ่งหากเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ ไม่มีข้อกังขาใดๆ ไม่ใช่คนที่เคยไปที่เมืองรองมาแล้วแบบนี้ก็ไม่ถูก
-ภายในปีนี้สว.ต้องโหวตเห็นชอบหลายองค์กรเช่น ป.ป.ช.ใหม่สามคน ตุลาการศาลรธน.สองคน ผู้ตรวจการแผ่นดิน กกต.อีกหลายคน ในฐานะเป็นสว.จะทำหน้าที่ในส่วนนี้ให้ประชาชนไว้วางใจได้หรือไม่?
เราก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เลือกคนที่ดีที่สุด แต่หน้าที่ของสว.ไม่ใช่หน้าที่สรรหาคน สว.มีหน้าที่เห็นชอบรายชื่อที่ผ่านการสรรหามาแล้ว อย่างก่อนหน้านี้เรื่องตุลาการศาลรธน.สองคน ที่คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งชื่อศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน กับนายชาตรี อดีตทูตฯ มา ทางสว.ก็มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบ
ก็ปรากฏว่ามีคนโหวตเห็นชอบสี่สิบกว่าคน ไม่เห็นชอบหนึ่งร้อยสามสิบเจ็ดคน แบบนี้ผมก็เหนือบ่ากว่าแรงเหมือนกัน แต่ผมโหวตเห็นชอบ ผมก็รู้สึกไม่สบายใจ เพราะเขาก็สรรหามาดีแล้ว ก็ทำให้กรรมการสรรหาก็ต้องไปสรรหาใหม่มา
-หลายเดือนที่ผ่านมา การทำงานของสว.มีความเป็นเอกภาพกันหรือไม่ หรือแค่แตกต่างด้านความคิด?
หลายอย่างสามัคคีกันดี คือหากไม่มีใครมาแทรกแซง ก็ดีกันทุกคน แต่พอถึงเวลา จะมีคนที่มาบงการ ที่ไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหนอยู่ดีๆ มันเป็นแบบนั้นเฉยเลย ก็มีการไปถามคนที่เขาลงคะแนนว่าทำไมคุณลงแบบนี้ ก็บอกมีคนสั่งมา อย่างนี้เป็นต้น ถ้ามีคนสั่งมา ก็ไม่น่าจะถูกต้อง ควรต้องไม่มีใครสั่ง ควรตัดสินใจตามวิจารณญาณเพราะว่ามีเอกสิทธิ์อยู่แล้ว ไม่ควรไปลงคะแนนตามที่ใครสั่งมา บางครั้งการสั่งมา แต่บางทีก็ เป็นการลงคะแนนลับก็ไม่มีใครตรวจสอบเราได้ว่าลงคะแนนอย่างไร
-อาจเพราะสว.บางคนเขามองว่าที่เขามาได้ ก็ต้องตอบแทน มีการเกรงใจ เป็นเรื่องของบุญคุณ?
คนไทยก็อาจจะเป็นแบบนั้น มีความเกรงใจ เป็นบุญคุณกันมา ซึ่งมันไม่ถูก มันเป็นเรื่องประเทศชาติ เพราะจริงๆ คุณต้องเกรงใจประชาชน
-คิดว่าแบบนี้สว.ควรต้องปลดแอกเลิกเกรงใจได้หรือยัง ถึงเวลาหรือยัง?
ก็เอาไปพาดหัวเลยว่า”ปลดแอกได้แล้ว เลิกเกรงใจได้แล้ว” เลิกเกรงใจบ้านบุรีรัมย์ เลิกเถอะ ขอให้ทุกคน(สว)เป็นตัวของตัวเอง ทุกคนเป็นคนดี มีประวัติความดีงามเยอะ บางคนเป็นอดีตผู้ว่าฯ หลายคนเป็นนายพล พลเอกก็มี พลโทก็มี ตำรวจก็มีทั้งพล.ต.ต. พล.ต.ท. เป็นนักธุรกิจใหญ่โต ทำไม ต้องไปทำตามคำสั่งด้วย ไม่ต้องทำ วันนี้ท่านทำตามความถูกต้อง ทำตามที่หัวใจเรียกร้องจะดีกว่า อยากสะท้อนว่าอยากให้พวกเขา แทนที่จะปล่อยให้กฎหมายมาถอดถอนคุณ แต่คุณควรถอดถอนตัวเองจากสิ่งเหล่านี้ก่อน ให้สว.มาอิงกับประชาชน อิงกับความถูกต้อง
-คิดว่าระบบการได้มาซึ่งสว.ในปัจจุบันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร หากในอนาคตจะมีการแก้ไขรธน. เรื่องที่มาของสว. ควรเป็นอย่างไร ควรกลับไปใช้ระบบแบบในอดีตเช่น เลือกตั้งโดยตรงทั้งหมดดีหรือไม่?
สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เคยมีมาแล้วตอนปี 2543 ก็มีปัญหาเช่น สภาผัว-สภาเมีย ก็หนักกว่าตอนนี้อีก หรือเคยใช้ระบบ สรรหามาครึ่งหนึ่ง -เลือกตั้งอีกครึ่งหนึ่ง (รัฐธรรมนูญปี2550) ก็ยังมีปัญหาอีกเหมือนเดิม ยิ่งหนักกว่าเดิม ทำอะไรไม่ได้
ผมว่าระบบแบบปัจจุบันดีแล้ว เพราะมีความหลากหลาย สว.หลายคนเข้ามาด้วยวิธีสุจริตก็มีความรู้ความสามารถ การให้มีสว.มาจาก 20 กลุ่มอาชีพ ทำให้มีความหลากหลายทางอาชีพ วิธีปัจจุบันดี แต่ต้องป้องกันไม่ให้มีการฮั้วกันเกิดขึ้น หากไม่มีการฮั้วระบบที่ใช้อยู่ก็จะไปได้ จะทำให้ได้คนดีๆ เข้ามา คนคิดระบบนี้มาก็เก่ง แต่คนที่คิดจะแฮคระบบมันก็ดันเก่ง แล้วก็ดันทำสำเร็จได้ในระดับ 130-140 ก็เยอะ เกินครึ่ง เห็นบอกว่าเขาพยายามทำให้ได้สักครึ่งหนึ่งแต่ปรากฏว่ามาได้ทะลุเป้า ก็เป็นปัญหาการตรวจสอบหรือคอนโทรลของกกต. ทางกกต.ควรต้องมีการดำเนินการตั้งแต่แรกๆ ที่มีการร้องเรียน
ระบบที่มาสว.ปัจจุบันที่ใช้อยู่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่แก้ไขจุดอ่อน เพราะหากกลับไปใช้ระบบให้เลือกตั้งสว.ทั้งหมด ก็จะกลายเป็นแบบเดิมสภาผัวสภาเมีย บ้านใหญ่เข้ามาหมด ผมยืนยันว่าระบบการได้มาซึ่งสว.แบบปัจจุบันจะดีมาก หากไม่มีการฮั้ว
โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร
The post ถึงเวลา “สว.” ปลดแอก เลิกเกรงใจ “บ้านบุรีรัมย์” appeared first on .