สังคมที่เชื่อคนหลอก เกลียดคนเตือน! ไฮโซเก๊กับความปลอมที่สวยงาม
หากมีใครสักคนบอกว่าตนรู้จักนายกรัฐมนตรี แนบภาพ แชท และข้อความสนทนาส่วนตัวประกอบ คุณจะเชื่อหรือไม่?
ในอุดมคติ คำตอบอาจคือ “ไม่” แต่ในความเป็นจริงของสังคมไทย “เชื่อสิ” และพร้อมแชร์ต่อด้วยซ้ำ!
กรณี “ธัญเทพ” หรือชื่ออื่นใดที่เขาเคยใช้ ไม่ใช่แค่เรื่องหลอกลวงดาราสาว
แต่กลายเป็นกรณีศึกษาสะท้อนรากลึกของสังคมไทยว่า เรามักตัดสินคนจากสิ่งที่ดูดี มากกว่าสิ่งที่ดีจริง
สังคมที่ให้ค่ากับเปลือกมากกว่าเนื้อแท้ คลั่งคำพูดดี ๆ มากกว่าข้อเท็จจริง และเลือกเชื่อสิ่งที่ “ฟังแล้วสบายใจ” มากกว่าสิ่งที่ “ตรวจสอบได้”
“ธัญเทพ” ไม่ใช่แค่มิจฉาชีพที่แต่งตัวดี พูดคล่อง และรู้จักใช้ชื่อใหญ่โตมาอ้าง
แต่เป็น “นักสร้างตัวตน” ที่เข้าใจวิธีการอยู่ในยุคสังคมเสพภาพลักษณ์ รู้จักแทรกตัวเข้ากลุ่ม
รู้จักภาษาทางการเมืองและรู้ว่าคำอย่าง “สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย” คือใบเบิกทางที่ใครๆ ก็พร้อมปรบมือให้
เขาอ้างตนว่ามีความเกี่ยวพันกับตระกูล “สิงหเสนี” เคลื่อนไหวในนามของคนรุ่นใหม่ผ่านเวที “สภาเด็กและเยาวชน” และกลุ่มกิจกรรมต่างๆสวมบทบาท “นักเรียกร้องความยุติธรรมในประวัติศาสตร์”
พร้อมพูดเรื่องอ่อนไหวอย่าง 112 เรื่องเจ้า เรื่องชาติ ทั้งหมดนี้คือ “สูตรสำเร็จ” ที่ทำให้เขากลายเป็น “บุคคลน่าเชื่อถือ” ในสายตาหลายคน
ปัญหาไม่ใช่แค่ตัวบุคคล แต่คือระบบที่ไม่มีใครกล้าตั้งคำถามตั้งแต่ต้นทั้งที่ ธัญทพ ชื่อเดิม “ธนายุทธ” เคยถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงที่ดินเมื่อปี 2559
แต่ก็ยังได้รับการประกันตัวโดยบุคคลในเครือข่ายกิจกรรมที่เติบโตมาด้วยกันสะท้อนว่า “ความสัมพันธ์ส่วนตัว” ยังมีน้ำหนักมากกว่าหลักฐาน
เครือข่ายที่เขาเข้าไปมีคนดีอยู่ไม่น้อย มีนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และผู้ใหญ่ที่ทำงานเพื่อสาธารณะ
แต่เมื่อไม่มีระบบตรวจสอบ คนอย่าง “ธัญเทพ” ก็ใช้พื้นที่นั้นปั้นโปรไฟล์ตัวเองได้อย่างแนบเนียน ไม่ต่างจากการใส่สูทแล้วขึ้นเวที -ใครเล่าจะรู้ว่าข้างในไม่มีอะไรเลย
เรื่องนี้ไม่ใช่ข้อกล่าวหาทางกฎหมาย แต่คือการตั้งคำถามต่อ “วัฒนธรรมร่วม” ที่เปิดพื้นที่ให้ “คนปลอม” คนที่ “พูดเพราะ” ใช้ภาษาสวย จับคำถูกทาง แม้ไม่มีเนื้อแท้
แต่กลับได้รับการต้อนรับจากทุกวงการ ตั้งแต่กิจกรรมจนถึงการเมือง
ดาราคนหนึ่งอาจเป็นเพียงผู้เสียหายที่มองเห็นในข่าว แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น สังคมไทยทั้งสังคมต่างหากที่กำลังถูกหลอก…อย่างเป็นระบบ
หมอปลอม ครูปลอม นักกิจกรรมปลอม นักบุญปลอมล้วนเติบโตได้เพราะเราให้คุณค่ากับคำว่า “ดูดี” มากกว่า “ดีจริง”
ใครก็ตามที่พูดถูกจังหวะ ใช้คำถูกกระแส มักได้รับที่ยืน โดยไม่ต้องถูกตั้งคำถามใดๆ
แล้วเมื่อใครกล้าออกมาเตือนหรือท้วง เรากลับหาว่าเขา “ใจแคบ” หรือ “มีอคติ”
ปล่อยให้คนที่พูดตรง ถูกลากลงเวทีแต่คนที่พูดเพราะแต่หลอกเก่ง ยังได้อยู่กลางแสงไฟ!
สังคมแบบนี้ไม่ใช่แค่เปิดทางให้คนหลอกแต่มักจะ “สมรู้ร่วมคิด” กับความปลอม เพราะมันดูดีและเพราะในยุคที่ “พูดถูก” สำคัญกว่า “ทำถูก”ของปลอมที่พูดเพราะ…อาจขายได้ดีกว่าคนจริงที่พูดตรง
และบางที “ธัญเทพ” ไม่ใช่แค่ชื่อของคนคนหนึ่ง แต่คือกระจกเงาที่สะท้อนว่าเรากำลังอยู่ใน สังคมที่หลงรูปมากกว่าสาระและพร้อมจะหลอกตัวเอง…ซ้ำแล้วซ้ำเล่า!
The post สังคมที่เชื่อคนหลอก เกลียดคนเตือน! ไฮโซเก๊กับความปลอมที่สวยงาม appeared first on .