‘หมอยง’ แฉธุรกิจสำนักพิมพ์ทางวิชาการกับดักผลงานวิชาการ!
30 ต.ค.2567 – ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ธุรกิจสำนักพิมพ์ทางวิชาการ กับดัก ผลงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัย” ระบุว่า การจัดอันดับมหาวิทยาลัย จะรวมผลงานทางวิชาการที่เผยแพร่ในระดับนานาชาติ และการอ้างอิง (citation) เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัย จึงต้องกำหนด ให้ตีพิมพ์ในวารสารที่คาดว่าจะมีการอ้างอิงสูง
วารสารที่มีการอ้างอิงสูงไม่ว่าเป็นวารสารเกิดใหม่ จะเป็นวารสารที่เป็น open access (OA) มากกว่าวรสารเก่าแก่ ที่ ไม่เสียสตางค์ และเราจะดู Impact Factor หรือ IF กันมาก วารสารที่อ้างอิงสูง ก็จะมีค่า IF สูง หลายคนพยายามพูดว่าสำนักพิมพ์ MDPI, Hindawi, Frontier เป็นธุรกิจ ผมไม่เคยคิดเช่นนั้น เพราะทุกสำนักพิมพ์เป็นธุรกิจเหมือนกันหมด ไม่ต่างกัน และที่ผ่านมาถ้าไม่ดีจริงก็อยู่ไม่ได้ เช่น Hindawi
วารสารบางวารสาร จะเพิ่มตัวเลข IF ด้วยการเพิ่มจำนวนผลงานที่เป็นรีวิว และแน่นอนวารสาร open access ก็มีการอ้างอิงสูงกว่า การตั้งราคาค่าตีพิมพ์สูงตาม ขึ้นอยู่กับ IF ด้วย หรือ ranking ของวารสาร ก็จัดโดยภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับสำนักพิมพ์
สำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียง รู้ดี และเมื่อมีผลงานที่ส่งมาให้เป็นจำนวนมาก (raw materials) สำนักพิมพ์ก็ได้โอกาส ก็ออกวารสารลูกขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เช่นเมื่อส่งมามากก็ปัดลงเสนอให้ลงพิมพ์ในวารสารลูก และทุกวารสารเสียสตางค์เท่านั้น วารสารบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ก็ทำเช่นนั้น เป็นที่รู้ดีกัน เมื่อวัสดุเข้ามาถึงโรงพิมพ์แล้ว กระบวนการส่งให้ทบทวน การทบทวนทางวิชาการ ก็ไม่ได้มีค่าตอบแทนอะไร มีน้อยบริษัท ที่จะให้ค่าตอบแทนเป็นคูปองส่วนลดในการตีพิมพ์ ก็ยังดีกว่าไม่ให้อะไรเลย ในเมื่อเป็นธุรกิจ ก็น่าจะคิดกันแบบธุรกิจ เป็นการลงทุนเพียงบริหารจัดการ
และอีกประการหนึ่ง นอกจากวารสารเฉพาะทางแล้ว ทุกสำนักพิมพ์ธุรกิจ จะออกวารสาร “จับฉ่าย” หรือจะเรียกให้เพราะหน่อย ก็เป็น miscellaneous เช่น PLOS ONE, Peer J, Scientific Reports, Heloyon, Cureus, F1000research, etc วารสารในกลุ่มนี้เมื่อจัดอันดับแล้ว จะอยู่ใน Q ที่สูงโดยเฉพาะ Q1 ตามที่มหาวิทยาลัยต้องการแน่นอน เพราะตัวหารในกลุ่ม miscellaneous มีมากทุกสาขาวิชามารวมกัน ทั้งที่ค่าเพจชาร์จ ก็ไม่เบาเลย ยกตัวอย่างเช่น Scientific reports ก็ไม่ต่ำกว่า 80,000 บาท หรือทั่วไปก็มักจะเกิน 2,000 เหรียญ US
ผมอยู่ในสาขาไวรัส วารสารดังของไวรัส ถ้าจัดลำดับแล้วน่าสงสารที่สุด เพราะมีวารสารที่เกี่ยวกับ HIV มีการอ้างอิงสูงจึงทำให้การจัดลำดับลงมา ค่อนข้างต่ำ ผมยกตัวอย่างเช่น Archive Virology อยู่ใน Q3, เป็นไปได้อย่างไร ซึ่งเป็นวารสารที่ดำเนินการมาร่วมร้อยปี และลงพิมพ์ได้ฟรี ผู้อ่านจะต้องเป็นคนเสียสตางค์ J Gen Virology วารสารที่ดีมาก แต่ก็อยู่ใน Q2 ของ Scimaco หรือเครือข่ายของสำนักพิมพ์ เราจะยังยึดถือลำดับ หรือ IF กันอีกต่อไปหรือ
สมมุติประเทศไทยตีพิมพ์วารสารต่างประเทศ ปีละ 10,000 เรื่อง และ 60% ต้องเสียสตางค์ค่าตีพิมพ์ และเฉลี่ยเรื่องละ 50,000 บาท ช่วยลองเอา 6,000 บาทคูณกับ 50,000 บาท จะเป็นเงินเท่าไหร่ ที่ประเทศไทยจะต้องเสียออกไป ความจริงน่าจะมากกว่าหมื่นเรื่อง และห้องสมุดยังต้องจ่ายให้กับสำนักพิมพ์อยู่ รวมทั้งยังต้องซื้อ ฐานข้อมูล น่าจะมีใครทำวิจัยเรื่องนี้ และเงินทั้งหมดนี้ใครเป็นคนจ่าย ผมเองคงตอบไม่ได้ว่าเราจ่ายเงินเรื่องนี้ไปเท่าไหร่ ถ้าให้ผมประเมินก็มากกว่า 500 ล้านบาทของทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย จริงเท็จอย่างไรคงต้องประเมินกันจริงๆ และผู้บริหารเท่านั้นที่รู้ว่าจ่ายไปเท่าไหร่
รายได้ของประเทศไทย อยู่ในระดับปานกลางสูง แต่ก็ยังต่ำกว่ากลุ่มรายได้ประเทศที่จัดว่าเป็นรายได้สูง แต่การรเก็บค่าตีพิมพ์ ของเราเท่ากับประเทศที่มีรายได้สูง เราจะสู้ไหวไหม
โปรดติดตามตอนต่อไปอีก และพยายามคิดหาทางออก
The post ‘หมอยง’ แฉธุรกิจสำนักพิมพ์ทางวิชาการกับดักผลงานวิชาการ! appeared first on .