อนิจจา ‘อิ๊งค์-อ้วน’

เดินหน้าต่อครับ…

วานนี้ (๘ พฤศจิกายน) “อิ๊งค์-อ้วน” นายกฯ แพทองธาร กับ รองนายกฯ ภูมิธรรม เปิดแถลงข่าว กรณี MOU 2544​ ไม่มีเกียร์ถอย

ไม่ยกเลิก

 ฟังเหตุผลจากนายกฯ ๓๘ กะรัตรู้สึกวังเวงจริงๆ ครับ

“…เรื่องฟ้องหรือไม่ฟ้องเกิดขึ้นได้ หากมีการยกเลิกฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นการที่เราพูดคุยกันระหว่างประเทศสำคัญมาก   

หากจะยกเลิก ยกเลิกเพื่ออะไร และยกเลิกทำไม และหากยกเลิกแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร คนไทยต้องคิดในเรื่องนี้

ซึ่งไม่ควรจะมายกเลิกฝ่ายเดียว และทำให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ต้องมีการพูดคุยกันก่อน จึงอยากขอเวลาเพื่อที่จะไปพูดคุยกัน…”

จริงหรือยกเลิก MOU​ 2544 เจ้าปัญหาแล้ว ไทยจะมีปัญหากับกัมพูชา

แทนที่จะคิดกลับกันว่า MOU​ 2544 คือตัวปัญหา จะทำให้ไทยกับกัมพูชาต้องขัดแย้งเรื่องเขตแดนกันในอนาคต

ทำไมต้องยกเลิก MOU 2544 มันมีเหตุผลครับ

ไม่มีหรอกครับที่ กัมพูชา จะบอกว่าที่ขีดเส้นผ่าเกาะกูดนั้น ขีดขำๆ ไม่จริงจังอะไร

จนทุกวันนี้เรายอมรับการขีดเส้นของกัมพูชาเพื่อมาคุยกันว่าจะแบ่งเขตแดนกันอย่างไร

ฉะนั้นเลิกพูดเถอะครับว่ากัมพูชาไม่ได้ต้องการเกาะกูด

เขาอาจไม่ต้องการจริงๆ ก็ได้ แต่ขีดเส้นแบบนี้เขาอาจได้เขตแดนทางทะเลจากไทยเพิ่ม

เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิละเมิดอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. ๑๙๕๘ ฉะนั้นควรต้องให้กัมพูชาปรับเส้นเขตไหล่ทวีปทั้งหมดของตนให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศเสียก่อน

ไทยไม่ควรเจรจาภายใต้การลากเส้นที่ผิดกฎหมายของกัมพูชา

เห็น นายกฯ โพยทองธาร เร่งรัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ให้เสร็จหลังประชุมเอเปก เพราะทาง นายกฯ กัมพูชาร้องขอ

ไม่ต้องรีบครับ

อย่าลุกลี้ลุกลนจนเกินงาม

ราวกับว่าหากไม่สามารถขุดน้ำมัน ก๊าซ ขึ้นมาใช้ได้ในรัฐบาลนี้มันจะเน่าจะบูด

เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนสูงมาก หากพลาด รัฐบาลก็จบเหมือนกัน ฉะนั้นหากจะคุยต้องเริ่มบนเงื่อนไขถูกต้องตามอนุสัญญาเจนีวาเสียก่อน

ไทยกับกัมพูชาต่างก็เป็นภาคีของอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. ๑๙๕๘ ทั้งสองฝ่ายจึงมีข้อผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าว

ไปคุยให้ชัด ไม่ต้องกลัวเสียเพื่อนครับ

อย่าสมคบดูดทรัพยากรของส่วนรวมเข้ากระเป๋าตัวเองเป็นพอ

กัมพูชาลากเส้นอย่างไร พี่น้องชาวไทยถึงได้บอกว่าไม่ถูกต้อง ควรยกเลิก แต่รัฐบาลไทยบอกว่ายกเลิกไม่ได้ กลัวเสียความสัมพันธ์

กัมพูชาตีลังกาลากเส้นเขตไหล่ทวีปของตนเอง จากฝั่งที่ตำแหน่งซึ่งอ้างว่าเป็นหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา หลักสุดท้าย ที่มาจดริมทะเล ตรงออกไปยังประมาณกลางขอบนอก ด้านตะวันออกของเกาะกูด ซึ่งเป็นของไทย

แล้วลากเส้นเขตไหล่ทวีปเริ่มต้นใหม่ จากขอบนอกด้านตะวันตกของเกาะกูด ในระดับและทิศทางเดียวกัน ตรงออกไปทางทิศตะวันตก จนเกือบถึงกึ่งกลางอ่าวไทย

ลากเส้นแบบนี้ละเมิดอนุสัญญาเจนีวาอย่างร้ายแรง

ไม่มีประเทศไหนเขาทำกันครับ

มันโจ่งครึ่มเกินไป

แม้กัมพูชาจะใช้เส้นมัธยะ ตามอนุสัญญาเจนีวา แต่เส้นฐานตรงที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต ไม่เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวา

เหมือนลักไก่ครับ

ย้ำอีกครั้ง กัมพูชาใช้หินกัสโรเวีย (Kusrovie) และหินคอนดอร์ (Condor) ที่ไม่ใช่เกาะแต่เป็นโขดหินที่โผล่พ้นน้ำเฉพาะเมื่อน้ำทะเลลด และอยู่ห่างจากฝั่งมาก เป็นจุดฐานของเส้นฐานตรง

กัมพูชาประเทศเดียวที่ทำแบบนี้

นี่แหละครับ ส่งผลให้กัมพูชาอ้างสิทธิขยายกว้างออกไปกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก

มันกินเข้ามาในพื้นที่ของไทยไงครับ

นึกภาพไม่ออก หากกัมพูชายืนกรานใช้แนวเส้นที่ลากไว้ รัฐบาลโพยทองธาร จะไปเจรจาอย่างไร

ขอร้องให้ กระเถิบ ไปอีกหน่อยเพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่าง “ทักษิณ” กับ “ฮุน เซน” อย่างนั้นหรือ

ไม่มีทางหรอกครับ เขายืนยันมากว่า ๕๐ ปีแล้ว

แล้วจะเจรจาตาม MOU 2544 อย่างไรล่ะครับ

มันล็อกเอาไว้แบบนั้นแล้ว 

จากการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชา ในพื้นที่ซึ่งอ้างว่าทับซ้อนนี้ ๓ ครั้งที่สำคัญ คือ

เมื่อวันที่ ๒-๕ ธันวาคม ๒๕๑๓

๑๔ มีนาคม ๒๕๓๕

๒๗-๒๘ เมษายน ๒๕๓๘ กัมพูชามีท่าทีชัดเจนมาตลอดว่า ต้องการให้พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีปทั้งหมดเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม โดยให้แบ่งผลประโยชน์ฝ่ายละเท่ากัน

ไม่สนใจที่จะปรับปรุงเส้นเขตไหล่ทวีปที่อ้างสิทธิให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

ขืนเอาตามก็ฉิบหายครับ

เสียค่าโง่สองต่อ
รัฐบาลโพยทองธาร ก็จะเอาตามแนวทางกัมพูชาเสียด้วยสิครับ

ขุดก๊าซ น้ำมัน ขึ้นมาขายก่อน เส้นเขตแดนค่อยว่ากันทีหลัง

นโยบายขุดพลังงานในทะเลขึ้นมาใช้นี้ เป็นนโยบายของใครกันแน่

บางคนว่า “ทักษิณ” สั่งให้เร่ง

บ้างก็ว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลไม่มีใครมาสั่งทั้งนั้น

มีข้อสังเกตให้คิดกัน ไทยไม่ได้ขาดแคลนพลังงาน ผลิตเกินด้วยซ้ำจนต้องผลักภาระให้ประชาชนจ่ายแทน เช่นกรณีค่าไฟฟ้า

ต่างกับกัมพูชาที่ไม่มีความพร้อมด้านพลังงานเท่าไทย

หลายสิบปีที่ผ่านมา “ฮุน เซน” ถึงได้พยายามให้ไทยเร่งเจรจาเพื่อหาข้อยุติ

มารัฐบาล ฮุน มาเนต ก็กระตือรือร้นเหมือนรัฐบาลพ่อ

ภาษาชาวบ้านคือ “ร้อนเงิน”

ในข้อเท็จจริง เราไม่จำเป็นต้องเร่ง แต่ทางกัมพูชาต่างหากที่พยายามเร่ง

สถานการณ์เช่นนี้ ไทยได้เปรียบด้วยซ้ำ แต่ทำไมรัฐบาลโพยทองธารถึงต้องเร่งตามกัมพูชา

ชักสงสัยแล้วครับว่า นี่เป็นนโยบายใครกันแน่.

The post อนิจจา ‘อิ๊งค์-อ้วน’ appeared first on .

You may also like...