เจาะแพ็กเกจ แก้รธน. พริษฐ์ พรรคประชาชน กับด่านสำคัญที่รออยู่

..พรรคประชาชนมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น ดังนั้นผมคิดว่า ก็มีความเป็นไปได้ที่แต่ละฝ่ายทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองในส่วนของส.ส.หรือจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา ก็อาจเห็นชอบกับบางร่างฯ หรือไม่เห็นชอบกับบางร่างฯ ที่พรรคเสนอ ในฐานะที่เราเป็นผู้เสนอหลายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็คงต้องนำเสนอหลักการและเหตุผลของทุกร่างฯ ให้รอบด้าน ตอบทุกข้อสงสัยให้ได้ และหวังว่า สมาชิกรัฐสภา ทั้งส.ส.และสว. จะเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของเรา ให้ได้มากที่สุด

การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในเดือนตุลาคม ดูเหมือนจะคลายความร้อนแรงทางการเมืองไปพอสมควร  หลัง”พรรคเพื่อไทย”ที่เสนอร่างแก้ไขรธน.รายมาตราต่อรัฐสภาไปแล้ว ปรากฏว่า ล่าสุดแสดงท่าทีถอย-ไม่เดินหน้าผลักดันการแก้ไขรธน.ดังกล่าว หลังพรรคร่วมรัฐบาล-สมาชิกวุฒิสภา รวมถึงกระแสสังคมบางส่วนสะท้อนว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรธน.ดังกล่าวของเพื่อไทย โดยเฉพาะที่ไปแตะเรื่อง”มาตรฐานจริยธรรม”

ขณะเดียวกัน “พรรคประชาชน“พรรคแกนนำฝ่ายค้าน ที่เสนอร่างแก้ไขรธน.แพ็กเกจที่สองที่เป็นเรื่อง “ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ” ที่มีประเด็นคาบเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ล่าสุด พรรคประชาชน เห็นว่า เพื่อให้การแก้ไขรธน.รายมาตราได้เดินหน้าต่อ พรรคประชาชน จึงแสดงท่าทีไว้ว่า พร้อมจะพักการผลักดันร่างแก้ไขรธน. เรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้ก่อน จนกว่าจะสามารถทำงานเชิงความคิดกับพรรคร่วมรัฐบาลและสังคมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่พรรคประชาชน ยืนยันจะเดินหน้าเสนอร่างแก้ไขรธน.รายมาตราอีก 6 แพ็กเกจที่แถลงรายละเอียดต่อสื่อมวลชนไปเมื่อ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา

สำหรับการเดินหน้ายื่นร่างแก้ไขรธน.รายมาตราของพรรคประชาชน มีรายละเอียด-หลักการและเหตุผลอย่างไร โดยเฉพาะในแพ็กเกจที่สองเรื่อง“ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ”ซึ่งแม้พรรคประชาชน จะแสดงท่าที พักการเดินหน้าร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวไว้ก่อน แต่หลักการ-เหตุผลในการเสนอร่างดังกล่าว ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจหลักการ-เหตุผล และที่มาที่ไปในการเสนอร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวว่าเป็นมาอย่างไร เราจึงสัมภาษณ์พูดคุยกับ          “พริษฐ์ วัชรสินธุ-ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน“ซึ่งเป็นคีย์แมนคนสำคัญของพรรคประชาชน ในการทำงานเรื่องการแก้ไขรธน. มาตลอดตั้งแต่ยุคพรรคก้าวไกล

โดย”พริษฐ์” กล่าวถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จุดยืนของพรรคประชาชนที่มีมาตั้งแต่พรรคก้าวไกล เป็นจุดยืนที่คงเส้นคงวามาโดยตลอด คือเรายืนยันมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ใช้ปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา เรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งที่มาของรัฐธรรมนูญ-กระบวนการและเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ โดยเรายืนยันมาตลอดว่าทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญต้องมีการเดินหน้าแบบสองเส้นทางคู่ขนาน

เส้นทางที่หนึ่ง คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด ที่เรามองว่า การให้มีความชอบธรรมมากที่สุด ก็ควรรต้องถูกจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

ส่วนเส้นทางที่สอง ที่เราเห็นว่าต้องเดินแบบคู่ขนานควบคู่กันไปด้วย ไม่ใช่ทดแทนกันแต่เดินแบบคู่ขนานกันคือ”การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา” ในประเด็นที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน เหตุผลก็เพราะเราเห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามเส้นทางแรก อาจต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีขึ้นไป

ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา อาจทำให้ปัญหาบางประการทางการเมืองได้รับการแก้ไขไปพลางก่อนในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หากเราเจาะลึกลงไปในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ความจริงพรรคประชาชนเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในหลายประเด็นที่เราเรียกกันว่าแพ็กเกจ โดยตอนนี้พรรคประชาชนได้ยื่นไปแล้วสองแพ็กเกจ และจะมีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในแพ็กเกจอื่นๆ เพิ่มเติมเข้าไป เพราะการประชุมร่วมรัฐสภาได้ถูกขยับการประชุมออกไปจากเดิมจะประชุม 25 ก.ย.ที่ผ่านมาไปเป็นช่วงเดือนตุลาคม เราจึงจะมีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในแพ็กเกจอื่นเพิ่มเติมเข้าไป

ร่างแก้ไขรธน.รายมาตรา แพ็กเกจที่หนึ่ง เราเรียกว่า ร่างแก้ไขรธน.ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ซึ่งมีการยื่นแก้ไขรธน.ดังกล่าวไปเมื่อ 25 ก.ค.2567 หลังสว.ชุดปัจจุบันเข้าปฏิบัติหน้าที่ โดยเหตุผลที่เรายื่นร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวเป็นแพ็กเกจแรก เพราะเราเห็นว่าการป้องกันการรัฐประหารน่าจะเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายทางการเมือง ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์แนวคิด-นโยบายแบบใด ก็น่าจะเห็นตรงกันได้

ร่างแก้ไขรธน.แพ็คเกจแรก แบ่งออกเป็นสามร่างแก้ไขรธน. โดยร่างแรก เป็นการให้ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คสช. เพื่อคืนอำนาจในการกำหนดนโยบายไปที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ,ร่างแก้ไขรธน.ร่างที่สอง คือการรยกเลิกรธน.มาตรา 279 ที่อยู่ในบทเฉพาะกาลของรธน.ปี 2560 ที่ทำให้ทุกคำสั่ง-ประกาศ คสช. มันชอบด้วยกฎหมายและรธน. แม้อาจจะมีบางคำสั่งคสช.ที่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ดังนั้นการยกเลิกมาตรา 279 จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้เสียหายจากประกาศและคำสั่งคสช. มีโอกาสในการโต้แย้งถึงความชอบด้วยกฎหมายของประกาศและคำสั่งคสช.หากมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจริง

ส่วนร่างที่สาม เป็นการ”เพิ่มหมวดในรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่”เพื่อเติมพลังในการป้องกันการทำรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ของประชาชนทั่วไป รวมถึงสิทธิและหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่วางแผนจะยึดอำนาจจากประชาชน รวมไปถึงการเพิ่มความรับผิดชอบของทุกสถาบันทางการเมืองในการร่วมกันปฏิเสธการทำรัฐประหาร อย่างเช่นการห้ามไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลทั้งปวง รับรองการทำรัฐประหาร

เปิดเหตุผล ทำไมต้องแก้รธน. ตีกรอบอำนาจศาลรธน.-องค์กรอิสระ

“พริษฐ์“กล่าวต่อไปว่า สำหรับร่างแก้ไขรธน.แพ็กเกจที่สอง เป็นเรื่อง การตีกรอบอำนาจของศาลรธน. และองค์กรอิสระ เพราะเราสังเกตุเห็นว่ารธน.ปี 2560 ได้มีการขยายอำนาจของศาลรธน.และองค์กรอิสระ หลายประการ ขณะที่กระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรธน.และองค์กรอิสระ หลายคนตั้งคำถามว่าเป็นกระบวนการที่ไม่สามารถรับประกันได้ว่าา จะได้บุคคลไปปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้จริง เพราะใครก็ตามที่จะไปนั่งทำหน้าที่เป็นตุลาการศาลรธน.และในองค์กรอิสระต่างๆ จะต้องถูกรับรองโดยสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเป็นสว. 250 คนที่ถูกแต่งตั้งรับรองโดยคสช.ที่ต่อมากลายเป็นผู้เล่นทางการเมือง

…พูดง่ายๆ รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ออกแบบระบบที่ทำให้ ผู้เล่นทางการเมืองกลุ่มหนึ่งสามารถมีส่วนร่วมในการแต่งตั้งบุคคลที่จะมาเป็นกรรมการตัดสินได้ เปรียบง่ายๆ เหมือนกับเกมฟุตบอล ที่มีการแข่งขันกันสองทีม แต่มีการให้ทีมหนึ่งสามารถมีส่วนเกี่ยวข้องในการคัดเลือกกรรมการที่จะมาตัดสินการแข่งขันฟุตบอลนัดดังกล่าวได้ ที่ทำให้ประชาชนหรือคนดูที่มองเข้ามา อาจจะตั้งคำถามได้ว่ากรรมการคนดังกล่าวจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางกับทุกทีมได้จริงหรือไม่

“ดังนั้นเราจึงมองว่ากระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ยังเป็นปัญหา จึงควรมีการตีกรอบอำนาจ ไม่ให้มีการขยายขอบเขตอำนาจมากจนเกินไป”

จึงมีการเสนอร่างแก้ไขรธน.สองร่างฯ โดยร่างแก้ไขรธน.ร่างที่หนึ่งเป็นการแก้ไขรธน.เพื่อยุติการผูกขาดอำนาจเรื่องจริยธรรมไว้กับศาลรธน.และองค์กรอิสระ ส่วนร่างที่สอง ไม่ใช่การเสนอแก้ไขรธน.แต่เป็นการแก้ไขพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ เพื่อปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถเกิดง่าย -อยู่ได้ แต่ตายยาก และมีความยึดโยงกับประชาชน ที่จะคาบเกี่ยวกับเรื่องอำนาจของศาลรธน.ในการยุบพรรคการเมือง

และนอกจากร่างแก้ไขรธน.รายมาตรา ทั้งสองแพ็กเกจดังกล่าวแล้ว ก็จะมีการยื่นร่างแก้ไขรธน.รายมาตราที่เป็นแพ็กเกจเพิ่มเติม โดยแพ็กเกจที่สาม เป็นการเพิ่มกลไกการตรวจสอบการทุจริต ที่เป็นการป้องกันการฮั้วกันระหว่างรัฐบาลกับคณะกรรมการป.ป.ช. รวมถึงการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ ให้มีความโปร่งใสเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้อย่างเข้มข้นขึ้น และร่างแก้ไขรธน.แพ็กเกจที่สี่ ที่เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ที่จะเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา -สาธารณสุข -สิทธิชุมชน สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงความเสมอภาคทางเพศ เป็นต้น และร่างแก้ไขรธน.แพ็กเกจที่ห้า ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกองทัพ เช่นการยกเลิกการบังคับการเกณฑ์ทหารและจำกัดขอบเขตอำนาจศาลทหาร ส่วนร่างแก้ไขรธน.แพ็กเกจสุดท้าย ที่เป็นแพ็กเกจที่หก จะเป็นการปรับเงื่อนไขการแก้ไขรธน.ที่จะคาบเกี่ยวกับมาตรา 256 ของรธน.ฉบับปัจจุบัน

“พริษฐ์-ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน“กล่าวลงรายละเอียด ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในแพ็กเกจที่สอง ว่า ในแพ็กเกจที่สอง ร่างที่หนึ่ง เราใช้ว่า เป็นร่างแก้ไขรธน.เพื่อยุติการผูกขาดเรื่องจริยธรรม ซึ่งต้องขอขีดเส้นใต้ย้ำว่า เราเห็นว่านักการเมืองต้องมีจริยธรรม เราไม่ได้มองว่านักการเมืองไม่ควรมีจริยธรรม แต่เรามองว่ากลไกเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ที่อยู่ในรธน.ปี 2560 อาจไม่สามารถแก้ไขได้ และอาจสร้างปัญหาใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามา

..ต้องบอกว่าในมุมมองของพรรคประชาชน เรื่องมาตรฐานจริยธรรม เป็นเรื่อง subjective หรือเรื่องนามธรรม ที่ต่างคนต่างตีความ ต่างนิยามไม่เหมือนกัน แต่รธน.กลับไปให้ศาลรธน.และองค์กรอิสระ มีอำนาจผูกขาดในการนิยามว่ามาตรฐานจริยธรรม แปลว่าอะไร และบังคับใช้กับทุกองค์กร รวมถึงมีบทบาทหลักในการวินิจฉัยและไต่สวนว่าใครฝ่าฝืนมาตราฐานจริยธรรมหรือไม่

 ดังนั้น ในภาพรวมเราเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ มีอำนาจผูกขาดในการไต่ส่วนและวินิจฉัย แต่ในเมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ มีกระบวนการได้มาซึ่งไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่า จะนำไปสู่การปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้จริง การผูกขาดอำนาจเรื่องจริยธรรมไว้กับองค์กรเหล่านี้ มันจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การตีความทางกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอน อาจนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ไม่เสมอภาค มีความเสี่ยงจะนำไปสู่การใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ และการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง อันนี้คือปัญหาที่เรามอง

ยกเคสเปรียบเทียบ ปมจริยธรรมฯ  กับการตั้งรมต.ยุคบิ๊กตู่-แพทองธาร

“พริษฐ์-ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน“กล่าวโดยยกตัวอย่างขึ้นมาอธิบายว่า หากเราดูตัวอย่างการตั้งคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่ากลไกเรื่องจริยธรรม มีปัญหาอย่างไร

…. ผมยกตัวอย่างการตั้งอดีตรมต.คนหนึ่ง เราจะเห็นปัญหาสองระดับ ปัญหาที่หนึ่ง เราจะเห็นได้ว่า สังคมมองว่ามาตรฐานจริยธรรมในปัจจุบัน อาจมีการบังคับใช้อย่างไม่เสมอภาค หรือไม่ได้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน เพราะเราจะเห็นได้ว่ามีอดีตรมต.คนหนึ่งที่มาถึงวันนี้ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ไม่กล้าตั้งเพราะกลัวจะขัดมาตรฐานจริยธรรม แต่ว่าอดีตรมต.คนดังกล่าว หากย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นายกฯพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับตั้งให้เป็นรมต. ได้โดยไม่มีความลังเลใจ และไม่มีปัญหาใดๆตามมา ก็จะเห็นได้ว่า คนเดียวกัน นายกฯวันนี้ไม่กล้าตั้ง แต่นายกฯในอดีตตั้งเป็นรัฐมนตรีได้โดยไม่ลังเลและไม่มีปัญหาใดๆ

ปัญหาที่หนึ่ง เราเห็นชัดว่า สังคมมองเข้ามาจริงๆ ว่ามาตรฐานจริยธรรม มันอาจมีการบังคับใช้อย่างไม่เท่าเทียมกัน ส่วนปัญหาระดับที่สอง ต้องบอกว่า มาตรฐานจริยธรรม ที่ใช้ปัจจุบัน อาจไม่ได้ทำให้การเมืองโปร่งใสขึ้นอย่างแท้จริง เพราะแม้มาตรฐานจริยธรรมปัจจุบัน อาจทำให้นักการเมืองบางคน ที่สังคมตั้งคำถามไม่สามารถเข้าไปดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีได้ แต่นักการเมืองดังกล่าว ก็ได้ตั้งตัวแทนจากครอบครัวหรือเครือข่ายตนเองเข้าไปทำหน้าที่แทนได้อยู่ดี

…ดังนั้น แม้ประชาชนบางส่วนอาจตั้งคำถามกับนักการเมืองบางคนที่ไม่ได้อยู่ในครม. แต่คนเหล่านั้นท้ายสุดก็ตั้งตัวแทนเข้าไปอยู่ในครม.ได้อยู่ดี ก็จะเห็นได้ว่ามาตรฐานจริยธรรมปัจจุบัน นอกจากถูกมองว่าไม่ได้บังคับใช้อย่างเป็นธรรม อย่างเสมอภาค ก็ยังไม่ได้มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเรื่องจริยธรรม ตามที่สังคมบางฝ่ายต้องการอยู่ดี อันนี้คือตัวอย่างรูปธรรมของปัญหา

สำหรับการแก้ไข  แยกเป็นสี่ส่วน โดยส่วนที่หนึ่ง คือ เราต้องการแยกกลไกการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมกับกลไกการตรวจสอบเรื่องทุจริตออกจากกัน อันนี้ต้องขอย้ำ เพราะบางคนอาจมองว่าที่จะแก้ไขเรื่องจริยธรรม แล้วจะมีการไปลบเรื่องมาตรการในการตรวจสอบการทุจริตหรือไม่ ก็ขอยืนยันว่าไม่ใช่ อันนี้ยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเราแยกเรื่องจริยธรรมออกมาจากเรื่องทุจริต เพราะเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างตีความไม่เหมือนกัน มันจึงควรเป็นความรับผิด-รับชอบทางการเมืองเป็นหลัก แต่หากเป็นเรื่องทุจริต เรามองว่ามีนิยามทางกฎหมายที่ชัดเจน ดังนั้น การมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น และให้มีความรับผิด-รับชอบทางกฎหมาย เป็นสิ่งที่จึงควรคงไว้อยู่

“ดังนั้น ขอย้ำว่าเราไม่ได้ไปลดทอน กลไกการตรวจสอบเรื่องการทุจริตแต่อย่างใด เราแค่แยกเรื่องจริยธรรมออกจากเรื่องทุจริต และวางกลไกที่ไม่เหมือนกัน”

ประการที่สอง คือเรื่องจริยธรรม เราจะยกเลิกเรื่องการให้ศาลรธน.และองค์กรอิสระมีอำนาจผูกขาดในการนิยามมาตรฐานจริยธรรมที่บังคับใช้กับทุกองค์กร คือเราจะให้กำหนดให้แต่ละองค์กรนิยามมาตรฐานจริยธรรมของตัวเองที่สอดคล้องและเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กร

ประการที่สาม พอแต่ละองค์กรมีมาตรฐานจริยธรรมของตัวเองแล้ว เราจะยกเลิกการให้ศาลรธน.และองค์กรอิสระ มีบทบาทหลักในการวินิจฉัยไต่สวน ว่าใครฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม โดยให้แต่ละองค์กรออกแบบกลไกการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมขององค์กรตัวเอง ที่แน่นอนเราสามารถยกระดับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในกฎหมายลำดับรองตามมา

ปรับปรุงกลไกตรวจสอบทุจริต ป้องกันการฮั้ว รัฐบาลกับป.ป.ช

พริษฐ์”กล่าวต่อไปว่า ส่วนประการที่สี่ ที่สำคัญมาก ที่คนอยากเห็นให้มีการปรับปรุงกลไกการตรวจสอบการทุจริต คือเราเสนอให้มีการปรับกลไกบางส่วนเพื่อป้องกันการฮั้วกันระหว่างรัฐบาลกับป.ป.ช. โดยจากที่กฎหมายปัจจุบันเขียนไว้ว่าหากสมาชิกรัฐสภาหรือประชาชนเข้าชื่อกันสองหมื่นคนเพื่อร้องเรียนว่า คณะกรรมการป.ป.ช.ได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ต้องยื่นไปที่ประธานรัฐสภา แล้วประธานรัฐสภา มีสิทธิ์ที่จะใช้ดุลยพินิจว่าควรมีการดำเนินการไต่สวนต่อไปหรือไม่

…ดังนั้น เราจึงมีความกังวลว่าหากรัฐบาลและป.ป.ช. หากมีการฮั้วกันไม่ให้ป.ป.ช.มาตรวจสอบทุจริตของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล นั่นหมายความว่า ประธานรัฐสภา ซึ่งอย่างที่เรารู้กันว่าก็จะเป็นนักการเมืองจากฝ่ายรัฐบาล ก็สามารถใช้อำนาจและดุลยพินิจที่ตัวเองมีในการปัดตกทุกข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของป.ป.ช.ได้เลย

แนวทางการแก้ไขในเรื่องนี้ เราจึงเสนอให้มีการยกระดับประสิทธิภาพของกลไกในการร้องเรียนการทำงานของป.ป.ช.โดยตัดอำนาจและดุลยพินิจของประธานรัฐสภา ในการตัดสินใจว่าจะให้มีการไต่สวนหรือไม่ ออกไป พูดง่ายๆ ประธานรัฐสภาจะเป็นแค่ทางผ่าน ถ้าประชาชนยื่นเรื่องเข้าไป ประธานรัฐสภาต้องส่งทุกเรื่องไปที่ประธานศาลฎีกา เพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจในการปัดตกข้อร้องเรียนของประชาชนได้ ทั้งหมดคือหลักการหลักของร่างแก้ไขรธน.รายมาตราในร่างที่หนึ่งของแพ็กเกจที่สอง

-ร่างแก้ไขรธน.รายมาตรา ของพรรคประชาชน ในเรื่องมาตรฐานจริยธรรมของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรมต.ตามรธน.มาตรา 160 (4) และ (5) ไปแตะหรือไม่ ยังมีอยู่หรือไม่?

ถ้าพูดในภาพรวม สาระสำคัญคือการยกเลิกการผูกขาดเรื่องจริยธรรมไว้กับศาลรธน.และองค์กรอิสระ

ดังนั้น แต่ว่าเราจะเสนอแบบคู่ขนานกับการยกเลิกการผูกขาดเรื่องจริยธรรมไว้กับศาลรธน.และองค์กรอิสระ เราจะมีการเสนอแพ็กเกจเพื่อยกเลิกระดับกลไกการตรวจสอบการทุจริตให้เข้มข้นขึ้น 

เป็นการเสนอร่างแก้ไขรธน.ที่พยายามจะตีกรอบอำนาจของศาลรธน.และองค์กรอิสระที่มีการขยายอำนาจขึ้นมาในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และมีที่มาซึ่งประชาชนยังไม่เชื่อมั่น -รับประกันได้ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลางจริง ดังนั้นเราต้องการตีกรอบอำนาจของศาลรธน.และองค์กรอิสระบางประการเพื่อป้องกันการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง

-มีเสียงวิจารณ์ว่า การแก้ไขรธน.รายมาตราที่จะมีการพิจารณากันในที่ประชุมรัฐสภาเดือนตุลาคม ดูเหมือนว่านักการเมือง พรรคการเมือง จะแก้ไขเพื่อตัวเอง แก้แล้วตัวเองได้ประโยชน์ เข้าสู่อำนาจรัฐง่ายขึ้นแต่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งยากขึ้น เกรงหรือไม่ว่ากระแสคนจะไม่เห็นด้วย?

ผมเข้าใจข้อกังวลของประชาชน ผมพูดแทนพรรคการเมืองอื่นไม่ได้ พรรคเดียวที่ผมพูดแทนได้คือพรรคประชาชน ผมยืนยันได้ว่า พรรคประชาชนและย้อนไปถึงสมัยพรรคก้าวไกล เราเข้าใจดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานจริยธรรมก็ดี หรือเรื่องอื่น เช่นเรื่องระบบรัฐสภา ระบบการเลือกตั้ง มันย่อมส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมืองอยู่แล้ว เราเข้าใจตรงนี้ดี

ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นนักการเมือง เราเข้าใจดีและตระหนักมาโดยตลอดว่าหากเราจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องอะไร เราต้องดำเนินการอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงหลักการในการออกแบบระบบการเมืองในภาพรวมที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศ ไม่ใช่คำนึงถึงแต่ผลกระทบที่จะเกิดกับตัวเอง และผมยืนยันว่าอันนี้เป็นแนวทางการทำงานที่พรรคก้าวไกล และพรรคประชาชนยึดถือมาตลอด คือเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างรอบคอบ คำนึงถึงหลักการในภาพรวมไม่ใช่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง

ดังนั้น ถ้าพูดอย่างเป็นรูปธรรมเลย สำหรับประเด็นเรื่องจริยธรรม เราก็ต้องยืนยันว่าที่เราเสนอ เพราะสอดคล้องกับหลักการในภาพรวมที่เราได้แสดงจุดยืนมาโดยตลอด

ผมขอตัวอย่างยกมาอธิบายสามตัวอย่าง  ซึ่งต้องบอกว่าผมพูดแทนพรรคการเมืองอื่นไม่ได้ แต่พรรคก้าวไกลจนมาถึงพรรคประชาชน เราเสนอประเด็นเรื่องจริยธรรม พร้อมกับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกหลายประเด็นที่มีความเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ การเพิ่มกลไกการป้องกันการทุจริต การลบล้างผลพวงรัฐประหาร ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราพูดมาโดยตลอด ไม่ใช่เพิ่งมาพูดเวลานี้   ผมจึงยืนยันว่า เราเสนอแก้ไขเรื่องจริยธรรมพร้อมกับอีกหลายเรื่องที่เราเสนอเข้าไปเพื่อออกแบบระบบการเมืองในภาพรวม ที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติที่สุด

ตัวอย่างที่สอง หากพูดถึงเรื่องจริยธรรมแบบเจาะจง ก็ต้องบอกว่าเรื่องนี้ เราเคยมีการเสนอเข้าไปแล้วรอบหนึ่ง ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ตอนนั้นเราใช้ชื่อว่า”รื้อระบอบประยุทธ์”โดยเป็นการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับภาคประชาชนหนึ่งแสนกว่ารายชื่อ ในช่วงปีพ.ศ. 2563-2564

โดยตอนนั้นมีการเสนอไว้หลายประเด็นเช่นการปรับระบบรัฐสภาจากสภาคู่มาเป็นสภาเดี่ยว -การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมไปถึง การเสนอให้ทบทวนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่คาบเกี่ยวกับเรื่องปัญหาจริยธรรมด้วย ดังนั้น เราเสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่ 3-4 ปีที่แล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ที่เราเพิ่งเสนอเข้ามา

ประการที่สาม ที่ผมเห็นว่าสำคัญและหลายคนยังไม่ได้พูดถึง คือเราเสนอเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ด้วยความเข้าใจดีว่าท้ายที่สุดแล้วแม้สมาชิกรัฐสภาจะเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจนผ่านสามวาระจากรัฐสภามา แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 256(8) ก็กำหนดไว้อยู่ดีว่าเรื่องนี้ยังไงต้องไปจบที่การทำประชามติกับประชาชน

ดังนั้นจึงเป็นอำนาจของประชาชนโดยตรงที่จะประเมินว่า เรื่องที่เราเสนอเป็นหลักการที่สมเหตุสมผลหรือไม่ ถ้าประชาชนหลังจากฟังคำอภิปรายในที่ประชุมร่วมรัฐสภาแล้ว เห็นว่าเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควร ประชาชนก็สามารถไปออกเสียงลงคะแนนตอนทำประชามติว่าไม่เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ แล้วร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็จะไม่กลายมาเป็นบทบัญญัติทางกฎหมาย ดังนั้น เราเสนอเรื่องนี้ด้วยความเข้าใจอันดีว่า ยังไง ก็จะไปจบที่การทำประชามติ และประชาชนจะมีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตัวเอง และเราก็พร้อมจะเคารพเสียงของประชาชนที่ลงคะแนนตอนทำประชามติ

-การที่พรรคประชาชนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ คนก็ต้องมองว่า จะมีผลต่อรูปคดีที่ 44 อดีตส.ส.พรรคก้าวไกล ที่เคยร่วมกันลงชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ที่ตอนนี้ป.ป.ช.กำลังดำเนินการไต่สวนอยู่หรือไม่ คนอาจมีข้อสงสัยเรื่องนี้อยู่?

เรื่องนี้ผมเข้าใจ และขอแยกเป็นสองประเด็น โดยประเด็นแรก ผมคิดว่า คดีอดีตส.ส.ก้าวไกล 44 คน ก็ดำเนินการไปตามขั้นตอนตามกรอบเวลาที่เป็นไปตามกฎหมายปัจจุบัน ก็เดินต่อไปตามขั้นตอน และในฐานะพรรค เราพร้อมจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเราในทุกขั้นตอนที่เราได้รับโอกาส

ส่วนประการที่สอง หากใครสงสัยว่าเราเสนอเรื่องนี้ เพื่อประเด็นเรื่อง 44 ส.ส.ดังกล่าว หรือไม่ ต้องบอกอย่างที่ย้ำข้างต้นว่าความจริงเรื่องนี้ พรรคเราได้พูดมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในสังคมปัจจุบัน เราเคยมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องนี้เข้ารัฐสภาไปแล้วด้วยซ้ำ ตั้งแต่ปี 2563-2564 ดังนั้น มันเป็นการเสนอประเด็นตามหลักการที่เราได้ยืนยันมาตลอด ไม่ได้เสนอประเด็นเพื่อเป็นปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งหรือคดีใดคดีหนึ่ง

ยืนยันได้ว่า ไม่เคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยคิดว่าจะไปแก้แค้นใดๆ แต่เสนอบนพื้นฐานหลักการที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อระบบการเมืองในภาพรวม …ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแพ็กเกจที่สอง สาระสำคัญคือการตีกรอบอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในกลั่นแกล้งกันทางการเมือง และไม่ให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหากเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ ระบบการเมืองจะมีเสถียรภาพ มีความเป็นธรรมมากขึ้น

ยันไม่ได้แก้แค้น-เอาคืน ศาลรธน.-องค์กรอิสระ

-แต่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแพ็กเกจที่สองที่บอกว่าตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญฯ ก็ย่อมมีการมองกันว่า พรรคประชาชนเคยมีปัญหากับศาลรัฐธรรมนูญมาก่อนหน้านี้เพราะเคยถูกยุบพรรคมาตั้งแต่อนาคตใหม่ มาพรรคก้าวไกล ก็ย่อมถูกมองว่าเป็นการเอาคืนมาริบอำนาจศาลรธน.?

ยืนยันได้ว่า ไม่เคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยคิดว่าจะไปแก้แค้นใดๆ ผมเสนอบนพื้นฐานหลักการที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อระบบการเมืองในภาพรวม

ถ้าพูดถึงเรื่องศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระ ตั้งแต่ที่เราเห็นที่มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนจะมีพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกลด้วยซ้ำ ผมคิดว่าหลายฝ่ายก็เล็งเห็นถึงปัญหา 3 ประการด้วยกัน

ปัญหาที่หนึ่ง คือเราเห็นว่า ถ้าดูจากวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ฉบับปีพ.ศ. 2540 มาปี 2550 และ รัฐธรรมนูญปี 2560 เราเห็นว่ามีการขยายขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระจริงๆ เราอาจจะพูดกันมากเรื่องมาตรฐานจริยธรรมในเวลานี้ แต่อำนาจอื่นๆ ก็ถูกขยายเช่นกัน อาทิเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เห็นชัดเจนและเคยเกิดปัญหาขึ้นมาในอดีตก็คือเรื่องของ”ใบส้ม”ดังนั้น เราเห็นถึงการขยายขอบเขตอำนาจ

ปัญหาที่สอง คือเราเห็นว่ากระบวนการได้มาซึ่งบุคลากรในองค์กรดังกล่าว อาจไม่สามารถรับประกันได้ว่า จะได้คนที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลางจริง หากพูดแบบลงลึก กระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ควรจะยึดสามหลักคือ ต้องเป็นกระบวนการที่ได้คนมาทำหน้าที่อย่างหลากหลาย คือหลากหลายความคิด หลากหลายความเชี่ยวชาญ สอง คือควรจะมีกระบวนการที่มีความยึดโยงกับประชาชน แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่ก็ควรผ่านกลไกที่มีความยึดโยงกับประชาชน และสาม คือควรได้คนซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายว่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้

ผมเห็นว่ากระบวนการปัจจุบันที่ทำให้ได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ไม่ได้ผ่านสามหลักเกณฑ์ข้างต้นเลย อย่างในเรื่องความหลากหลาย จะเห็นได้ว่ามีความหลากหลายค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ที่พบว่าในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีการกำหนดให้องค์กรอิสระ มีบทบาทในการคัดเลือกบุคคลหรือสรรหาคนในองค์กรอิสระด้วยกันเอง ก็คือ ผลัดกันเกาหลัง อย่างสรรหา กกต.ก็ให้องค์กรอิสระอื่นสรรหา หรือสรรหา ป.ป.ช. ก็ให้องค์กรอิสระอื่นสรรหา เป็นต้น

… อีกทั้งไม่ยึดโยงกับประชาชน เพราะอย่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ก็ผ่านการรับรองจากสว. แต่สว.ยุคดังกล่าวมาจากการเลือกตั้ง แต่มารอบนี้ สว.ชุดปัจจุบัน แม้จะผ่านบทเฉพาะกาลมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน รวมถึง เรื่องการรับประกันคนที่มาปฏิบัติหน้าที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้ ก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะอย่างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ปัจจุบัน ก็ผ่านการรับรองจากสว. 250 คน (สว.ชุดที่ผ่านมา) ที่เราก็รู้ว่า ถูกแต่งตั้งทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผู้เล่นทางการเมืองฝ่ายเดียว ที่สมัยนั้นเรียกว่า คสช. อย่างนี้ เป็นต้น

และประการสุดท้าย คือกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล-ถอดถอน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ คือเราเข้าใจว่า องค์กรเหล่านี้มีหน้าที่หลักในการตรวจสอบฝ่ายอื่น แต่เรามองว่าองค์กรเหล่านี้ก็ควรถูกตรวจสอบได้เช่นกัน ที่จะเห็นว่า จากรัฐธรรมนูญปี 2540 มา รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 กลไกการเข้าชื่อถอดถอน ไม่ว่าจะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือกรรมการองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ไม่ใช่ป.ป.ช. ก็ตาม ได้หายไปในรัฐธรรมนูญปี 2560

ผมจึงคิดว่า ปัญหาทั้งสามประการดังกล่าว เป็นปัญหาที่มีมาตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีผลบังคับใช้ ก่อนจะมีเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ กับพรรคก้าวไกลด้วยซ้ำ ทั้งเรื่องขอบเขตอำนาจ-เรื่องที่มา ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ และกลไกตรวจสอบ ถ่วงดุล ถอดถอนที่หายไป

“ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแพ็กเกจที่สอง สาระสำคัญคือการตีกรอบอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในกลั่นแกล้งกันทางการเมือง และไม่ให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหากเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ ระบบการเมืองก็จะมีเสถียรภาพ มีความเป็นธรรมมากขึ้น” 

-คาดหวังกับการโหวตของสว.มากน้อยแค่ไหน หลังมีการมองกันว่าสว.ส่วนใหญ่เป็นสว.สีน้ำเงิน ซึ่งหัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรคในรัฐบาลบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรธน. ตรงนี้หากมีการส่งสัญญาณไป คิดว่าสว.จะโหวตให้หรือไม่?

พรรคประชาชนมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น ดังนั้นผมคิดว่า ก็มีความเป็นไปได้ที่แต่ละฝ่ายทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองในส่วนของส.ส.หรือจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา ก็อาจเห็นชอบกับบางร่างแก้ไขรธน. หรือไม่เห็นชอบกับบางร่างแก้ไขรธน.ที่พรรคเสนอ ในฐานะที่เราเป็นผู้เสนอหลายร่างแก้ไขรธน. ก็คงต้องนำเสนอหลักการและเหตุผลของทุกร่างฯ ให้รอบด้าน ตอบทุกข้อสงสัยให้ได้ และหวังว่า สมาชิกรัฐสภา ทั้งส.ส.และสว. จะเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของเรา ให้ได้มากที่สุด ตอนนี้ยังไม่อยากด่วนสรุปว่าใครจะลงมติเช่นใด กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างไหน เพราะมีเสนอหลายร่าง แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เราโฟกัสตอนนี้ คือทำอย่างไรให้เราอธิบายหลักการและเหตุผลของทุกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ทุกภาคส่วนทางการเมือง รวมถึงประชาชนนอกรัฐสภา เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของเรา

พักการผลักดันร่างแก้ไขรธน. เรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา “พริษฐ์-ส.ส.พรรคประชาชน”ได้แถลงข่าวรายละเอียดการเสอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา รวม 7 แพ็กเกจ ต่อสื่อมวลชนที่รัฐสภา

ซึ่งในส่วนของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแพ็กเกจที่สอง เรื่อง “ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ”นั้น “พริษฐ์”แถลงไว้ว่า ถึงแม้เรื่องมาตรฐานจริยธรรมจะเป็นประเด็นที่หลายพรรคเคยยอมรับว่าเป็นปัญหา รวมถึงเคยมีการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ แต่ในวันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้ว ว่าทุกพรรคตัดสินใจว่าจะยังไม่เดินหน้าหาทางออกต่อปัญหาดังกล่าว ณ เวลานี้ ดังนั้น พรรคประชาชน ยังมีความจำเป็นต้องอธิบายและยืนยันต่อสังคมว่าทำไมจึงควรจะยุติการผูกขาดอำนาจเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราไม่อยากให้ร่างดังกล่าวกลายเป็นเงื่อนไขหรือข้ออ้างที่ทำให้พรรคการเมืองอื่นไม่เดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราฉบับอื่นๆ

“หากพรรคร่วมรัฐบาลยืนยันดังกล่าว เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราได้เดินหน้าต่อ พรรคประชาชนพร้อมจะพักการผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้ก่อน จนกว่าจะสามารถทำงานเชิงความคิดกับพรรคร่วมรัฐบาลและสังคมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่พรรค ประชาชนยืนยันจะเดินหน้าเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอีก 6 แพ็กเกจ โดยหวังว่าพรรคการเมืองจะไม่ได้มองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจำกัดอยู่แค่ประเด็นเรื่องมาตรฐานจริยธรรม และจะเห็นตรงกับเราในการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราคู่ขนานกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”(26 ก.ย.)

โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *