ไทยจัดเวทีประชุม 6 ชาติ ถกสถานการณ์ในเมียนมา 19-20 ธ.ค.นี้
เตรียมถก ปัญหาเมียนมาที่ไทย ในวันที่ 19-20 ธ.ค. นี้ บังกลาเทศ จีน อินเดีย สปป.ลาว ร่วมด้วย กต. มั่นใจทุกประเทศที่เข้าร่วมจะได้สะท้อนแนวทางแก้ไข เชื่อเป็นผลดี ได้ตกผลึกประเด็น เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านประธานอาเซียน และการประชุมระดับผู้นำอาเซียนในปีหน้า
16 ธ.ค.2567 – นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยถึงรายละเอียดที่จะเกิดขึ้นในการหารือร่วม ระหว่าง 6 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ จีน อินเดีย สปป.ลาว เมียนมา และไทย ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 19 ธ.ค. นี้ว่า เป็นการหารือครั้งแรกที่ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมหน้า ซึ่งจะมีประเด็นการหารือหลัก 2 เรื่อง คือการส่งเสริมความมั่นคงชายแดน และการปราบปรามอาชญากรรมข้ามแดน โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด และออนไลน์สแกม ซึ่งที่ผ่านมา แม้จะมีการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาในระดับทวิภาคี แต่การจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ครอบคลุม และรอบด้าน จำเป็นจะต้องหารือผ่านการประชุมพหุภาคีเช่นนี้
ซึ่งการประชุมนี้ จะแยกจากการประชุมในวันที่ 20 ธ.ค. 2567 ซึ่งเป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในกรอบอาเซียน (Informal Consultation และ Extened Informal Consultation) ซึ่งมาจากแนวคิดของไทยในการประชุม AMM ครั้งที่ 57 ที่ สปป.ลาว และการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 45 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ว่าควรเปิดโอกาสให้ประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับเมียนมา ได้ร่วมกันหารือถึงผลกระทบที่ได้รับ โดยขณะนี้ มีประเทศที่ยืนยันเข้าร่วมการประชุมในระดับรัฐมนตรีแล้ว จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม โดยมีวาระการประชุมหลัก 2 วาระ คือ สถานการณ์ในเมียนมา และการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน (Five-Point Consensus) มีผลเป็นรูปธรรม
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวด้วยว่า การประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 และ 20 ธ.ค. นี้ ไทยมีความยินดีที่จะสนับสนุน สปป.ลาว ด้วยการให้สถานที่ในการจัดประชุมฯ และทั้ง 2 การประชุม จะส่งเสริมสนับสนุนความพยายามซึ่งกันและกัน เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมา อย่างไรก็ตาม ด้วยกลไกการประชุมที่จัดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการนี้ ผลการประชุมจึงไม่มีผลในเชิงการตัดสินใจดำเนินการใด ๆ แต่เชื่อว่า สาระจากการหารือจะเกิดประโยชน์ ส่งผลดีต่อทุกฝ่าย และมีความสำคัญต่อการวางแนวทางของสมาชิกอาเซียนเพื่อช่วยเหลือเมียนมา ทั้งยังทำให้การส่งต่อประธานหมุนเวียนอาเซียนจาก สปป.ลาว สู่ประเทศมาเลเซีย เป็นไปอย่างราบรื่น ไร้รอยต่อ ทั้งยังจะทำให้การประชุม AMM ครั้งถัดไปในเดือน ม.ค. ปีหน้าที่มาเลเซีย จะได้ต่อยอดจากผลการประชุมครั้งนี้
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวด้วยว่า ในการประชุมวันที่ 19 ธ.ค. นี้ ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าผู้แทนจากฝ่ายเมียนมาที่เข้าร่วมประชุมคือใคร แต่คาดว่าเป็นระดับรัฐมนตรี ส่วนวันที่ 20 ธ.ค. นั้น ไม่มีผู้แทนจากฝ่ายเมียนมาเข้าร่วม ซึ่งในแง่ความกังวลว่า ในการหารือเรื่องเมียนมา แต่ไม่มีฝ่ายเมียนมาเข้าร่วม จะสามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ อย่างไรนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ คาดว่า เนื้อหาการประชุมในวันที่ 19 ธ.ค. ซึ่งฝ่ายเมียนมาเข้าร่วม น่าจะมีประเด็นที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งหากมีประเด็นใดเพิ่มเติม จะเป็นความรับผิดชอบของประธานอาเซียนทั้งประเทศปัจจุบัน และประเทศที่รับช่วงต่อ จะต้องนำสาระสำคัญในการประชุมวันที่ 20 ธ.ค. ไปถ่ายทอดให้เมียนมาได้รับทราบ