กฎหมายอากาศสะอาด ความหวังคนไทย สู้ฝุ่นพิษ ผ่านไปหนึ่งปี อยู่ขั้นตอนไหน?
หากกฎหมายอากาศสะอาดประกาศใช้ออกมา จะเป็นความหวัง ที่จะทำให้ลดปริมาณฝุ่น แต่ถามว่าจะทำให้มันหายไปเลยหรือไม่ ก็คงไม่ใช่ และหากถามว่าปริมาณฝุ่นจะลดลงหรือไม่ เราก็หวังว่าปริมาณฝุ่น จะลดลง ซึ่งหากลดลงปีละยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ก็เป็นสิ่งที่คนไทยก็แฮปปี้แล้ว เช่นเปลี่ยนจากพื้นที่สีม่วง กลายเป็นสีแดง สีแดงกลายเป็นสีส้ม สีส้มกลายเป็นสีเหลือง สีเหลืองกลายเป็นสีเขียว แค่นี้ประชาชนก็แฮปปี้แล้ว และหากเราทำแบบนี้ทุกปี เพราะสำนักงานบริหารจัดการอากาศสะอาด ทำงานทั้งปี ไม่ใช่ฝุ่นมาที ก็ทำงานกันที เป็นอีเวนต์ หากเราทำแบบนี้ทุกวันตลอดทั้งปี ลดปริมาณฝุ่นได้ปีละยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ไม่เกินห้าปี ปริมาณฝุ่นก็จะเหลือน้อยมาก
ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและอีกหลายจังหวัด ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน จนถึงตอนนี้ พบว่าได้ส่งผลกระทบไปถึงหลายภาคส่วน เช่นในเชิงเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจในมิติของค่าเสียโอกาสโดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพของคนกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท เพราะปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน PM 2.5 ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ทั้งในมิติของการรักษาอาการเจ็บป่วย รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในมิติของการดูแลป้องกันสุขภาพ เช่น หน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ ซึ่งแม้ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะถูกส่งผ่านไปยังภาคธุรกิจ แต่ก็ถือเป็นค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้น เพราะผู้บริโภคไม่สามารถนำเงินนี้ไปใช้จ่ายเพื่อการอื่น
ซึ่งอีกหนึ่งความหวังในการสู้กับกับปัญหาฝุ่นพิษในประเทศไทย ก็คือ “ร่างพรบ.อากาศสะอาด”ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.อากาศสะอาดฯ หลังก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2567 ที่ประชุมสภาฯ ลงมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 434 เสียงรับหลักการร่างพรบ.อากาศสะอาดที่เสนอเข้าสภาฯ 7 ร่าง และมีการตั้งคณะกมธ.ฯ มาพิจารณาร่างพรบ.ดังกล่าว ที่ใช้เวลามาร่วมปี จนหลายคนตั้งคำถามว่าเหตุใด กระบวนการพิจารณาถึงใช้เวลานาน และตอนนี้มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ?
“ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช หรือผู้กองมาร์ค -รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด สภาผู้แทนราษฎร”เปิดเผยความคืบหน้าการทำงานของกมธ.ฯโดยลำดับแรก ได้ปูพื้นถึงที่มาที่ไปของการเสนอร่างกฎหมายอากาศสะอาดเข้าสภาฯว่า ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 และสภาพอากาศที่เป็นพิษในประเทศไทยมีมานานแล้ว แต่เริ่มหนักจริงๆ ตอนปี 2558 กับ 2559 ทำให้ตอนปี 2562 ทำให้ในสภาฯ สมัยที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้งปี 2562 หลายพรรคการเมือง มีการเสนอร่างกฎหมายอากาศสะอาดเข้าสภาฯ ที่ตอนนั้นผมก็เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนในการยกร่างพรบ.อากาศสะอาดฯ เข้าสภาฯ แต่เกิดปัญหาถูกตีตก เพราะมีการให้ความเห็นว่าเป็นกฎหมายการเงิน จึงเกิดการตั้งคำถามว่าจะนำงบประมาณรายจ่ายในส่วนใดมาบริหารจัดการ เพราะหากกฎหมายประกาศใช้จะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานภาครัฐขึ้นมากำกับดูแลปัญหาฝุ่นพิษ
ต่อมามีการเสนอร่างพรบ.อากาศสะอาดฯ เข้าสภาฯอีกครั้ง รวมทั้งสิ้น 7 ร่างพรบ.ฯ แยกเป็นร่างของคณะรัฐมนตรี -ร่างของภาคประชาชนที่เข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมาย และร่างพรบ.ของพรรคการเมืองอีกห้าพรรครวมเป็นเจ็ดฉบับ เมื่อสภาฯลงมติรับหลักการร่างพรบ.อากาศสะอาด ฯ ในวาระแรก และมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.อากาศสะอาดจึงทำให้ต้องมีการทั้งเจ็ดร่างมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อทำเป็นร่างพรบ.อากาศสะอาดของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งการแปลงทั้งเจ็ดร่างให้เป็นร่างพรบ.อากาศสะอาด กมธ.จะยึดหลักสี่เสาสำคัญคือ หนึ่ง การกระจายอำนาจ สอง สิทธิและหน้าที่ สาม คือแรงจูงใจและบทลงโทษ สี่ การจัดการทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน
..ในส่วนของร่างพรบ.อากาศสะอาด ที่เป็นกฎหมายการเงิน ก็จะมีการตั้งสำนักงานบริหารจัดการอากาศสะอาด ซึ่งในส่วนของสำนักงาน หากเปรียบเทียบเหมือนเป็นบ้านพัก ก็จะมีสี่ห้อง คือ หนึ่ง ระบบบริหารจัดการอากาศสะอาด สอง เครื่องมือและกลไกการบริหารจัดการ สาม เครื่องมือและมาตราการทางเศรษฐศาสตร์ สี่ เครื่องมือทางกฎหมาย
“ร.ต.อ.วัฒนรักษ์”บอกเล่าการทำงานของคณะกมธ.ฯต่อไปว่า สำหรับการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.อากาศสะอาด ฯ กรรมาธิการตั้งเป้าหมายว่าจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นก็ส่งให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาในวาระสองและวาระสาม จากนั้นก็ส่งต่อให้วุฒิสภา ซึ่งร่างพรบ.อากาศสะอาด เป็นกฎหมายการเงิน ทำให้วุฒิสภา ก็จะมีเวลาพิจารณา30 วัน จากนั้น เมื่อวุฒิสภา ให้ความเห็นชอบร่างพรบ.อากาศสะอาด ก็จะต้องนำร่างกฎหมายไปรับฟังความคิดเห็น ใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 เดือน ทั้งหมด ข้างต้นคือไทม์ไลน์การพิจารณาร่างกฎหมายอากาศสะอาดในกรณีที่กระบวนการพิจารณาดำเนินไปโดยไม่มีอะไรติดขัด ก็ทำให้ คาดวากลางปีหน้า ก็จะได้ใช้พรบ.อากาศสะอาด
..วัตถุประสงค์ในการออกกฎหมายอากาศสะอาด ก็คือเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ ซึ่งคำว่าฝุ่นพิษ มันไม่ได้มีแต่ PM2.5 แต่ยังมีฝุ่นพิษอื่นๆ อีก เช่น PM10 PM30 แต่ฝุ่นพิษ PM2.5 มีขนาดเล็ก ที่อันตรายที่สุดเพราะเข้าไปสู่ระบบเลือด ระบบปอดได้อย่างรวดเร็ว แต่จริงๆ ก็มีค่าฝุ่นพิษ PM10 และ PM30 ที่ก็มาจากการก่อสร้าง การเผาต่างๆ ต้องดู ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI)ที่เกิดขึ้นแล้วมีผลกระทบกับมนุษย์อย่างหลากหลาย ซึ่งหกต้นตอฝุ่นพิษที่เราคิดมาได้ก็คือ หนึ่ง ปัญหาฝุ่นมาจากไหน ก็มีที่มาเช่น หนึ่ง การเกษตร สอง การเผาต่างๆ เช่นการเผาในป่า , สาม จากการคมนาคม ,สี่ ฝุ่นจากอุตสาหกรรม ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรม ในตัวร่างกฎหมายมีการเขียนไว้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นบทลงโทษเช่นการปรับ ในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรม หากเป็นโรงงานขนาดใหญ่จะมีการติดเครื่องวัดแต่ในอนาคต โรงงานอุตสาหกรรมจะต้องมีการติดเครื่องวัดทั้งหมด โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ที่พบว่าในกทม.มีโรงงานเกือบหนึ่งพันโรงงาน ห้า เกี่ยวกับเรื่องของ เมือง เช่นการใช้รถยนต์ต่างๆ ที่ปล่อยควันพิษ ที่ส่วนใหญ่มาจากรถที่ใช้น้ำมันดีเซลที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ต่อไปก็จะมีกฎระเบียบที่ชัดเจน ในการบริหารจัดการมากขึ้น หก มลพิษข้ามแดน ที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ แต่จริงๆ ส่วนใหญ่แล้วก็อาจจะมาจากภาคอุตสาหกรรม หรือภาคการเกษตร ซึ่งในบางพื้นที่ มีคนไทยไปลงทุน และไปทำการเกษตรที่ติดกับแนวชายแดน จนทำให้ฝุ่นพัดเข้ามาในไทย
สิ่งที่คิดว่าเราทำได้เลย เพราะในเรื่องการเกษตร บางพื้นที่ก็มีปัญหาเรื่องการเผาตลอดเวลา ที่มีการปลูกอ้อย ข้าวโพด ก็ทำให้เกิดความลำบาก เพราะอย่างตัวคนเผา ก็เจอปัญหาผลกระทบ ผมว่าจริงๆ คนเผาก็ไม่ได้อยากเผา แต่เป็นเรื่องของค่าใช้จ่าย ที่สามารถเปลี่ยนได้เช่น ปลูกอ้อย ข้าวโพด ก็เปลี่ยนเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้ผลเช่นกาแฟ ที่มีบางพื้นที่ทำมาแล้ว เป็นพื้นที่ตัวอย่างและพบว่าได้รายได้มากกว่าปลูกอ้อย ข้าวโพดด้วยซ้ำไป โดยการเปลี่ยนดังกล่าว หน่วยงานรัฐก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ เพราะการไปตัดอ้อยสด มีค่าใช้จ่ายที่แพงมากกว่า ทำให้คนไม่อยากไปลงทุนตัดอ้อยสด โดยในต่างประเทศ ก็มีวิธีการแก้ไขคือให้ใช้เครื่องมือรถตัดอ้อย เครื่องมือจัดเก็บ
ข้อดีของร่างพรบ.อากาศสะอาด คือมีการเขียนให้มีกองทุนฯ และมีการจัดสรรงบประมาณให้ไปช่วยเหลือ และอีกสิ่งหนึ่งเลยที่เห็นว่าทำได้คือการออกมาตราการไม่ซื้อสินค้าการเกษตรที่เกิดจากการเผา ซึ่งทุกวันนี้นี้มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ไม่มี แต่มาตราการออกมาค่อนข้างช้า คือมีการเผาไปแล้ว แล้วถึงค่อยมาออกมาตราการคือไม่เผาแล้วจะจ่ายให้ แต่มันไม่ทัน เพราะเขาเผาแล้วหรือกำลังเผา เลยไม่ทันการ โดยที่จริงๆ ก็จะมีไทม์ไลน์ที่เราจะรู้ได้อยู่แล้วว่า ฝุ่นจะเกิดมากในช่วงไหน เช่นหากกรุงเทพฯ ก็จะมีมากช่วง ธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ ส่วนต่างจังหวัดก็ช่วง มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม ซึ่งเมื่อรู้ช่วงเวลา ภาครัฐ ก็ควรเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนเช่น การเข้าไปคุยกับเกษตรกรว่าหากไม่เผา จะให้เงินช่วยเหลือ ก็น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งเพราะเขาก็ไม่อยากเผาอยู่แล้ว
สิ่งที่เกี่ยวข้องของพรบ.อากาศสะอาดคือ จะให้มีการเก็บค่าธรรมเนียม ตั้งกองทุนเพื่อไปอุดช่องโหว่ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพราะหลายครั้งเวลาเรามานั่งดู พบว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีแต่ละปี ที่เป็นงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม พบว่าอัตราส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปีด้านสิ่งแวดล้อม มีไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด ที่ถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยที่ไทยตอนนี้เป็นประเทศกำลังพัฒนา เมื่อยังไม่สามารถเพิ่มงบประมาณรายจ่ายด้านสิ่งแวดล้อมได้ ก็ให้มีการจัดตั้งกองทุนอากาศสะอาด และเราจะให้ ผู้ที่ก่อมลพิษต้องเป็นผู้ที่ต้องจ่าย โดยเงินที่่จ่ายก็จะถูกส่งไปไว้ที่กองทุนอากาศสะอาดเพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชน
ส่วนบทลงโทษ หากเป็นการเผาในที่โล่ง หรือการปล่อยควันพิษ ก็ต้องมีระเบียบที่ชัดเจน ที่ปัจจุบันจริงๆ ก็มี แต่ยังไม่ชัดเจนในการจับ อย่างในกรุงเทพมหานคร เมื่อสักสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ตรวจพบการเผาในพื้นที่หนองจอก ลาดกระบัง และบริเวณรอบนอกกรุงเทพฯเช่น ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครนายก ที่เมื่อเผาแล้ว ลมพัดเข้ากทม. ก็ทำให้กรุงเทพมหานครประสบปัญหาฝุ่นเยอะ โดยทุกวันนี้ ตัวของผู้ว่าราชการจังหวัด อำนาจของผู้ว่าฯ ในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ จะอยู่ในกฎหมายสองฉบับ คือ พรบ.สาธารณสุข และพรบ.ควบคุมอาคาร เช่น หากฝุ่นเยอะในจังหวัด ตัวผู้ว่าฯสามารถสั่งให้ระงับการก่อสร้างได้ในทันทีภายในเจ็ดวัน เป็นต้น แต่อำนาจจริงๆ ของผู้ว่าฯทั่วประเทศรวมถึงผู้ว่าฯกทม. จะมีกฎหมาย พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ที่ให้อำนาจในการห้ามรถ เข้าในบางพื้นที่ ซึ่งในกทม.ก็มีการประกาศห้ามในบางพื้นที่ สอง คือการสั่งห้ามการเผาในที่แจ้ง ที่พบว่าตอนนี้ยังไม่เห็นการใช้อำนาจดังกล่าว เพราะการเผากลางแจ้ง ทำให้ปริมาณฝุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สอง คือการควบคุมเหตุรำคาญ ที่ให้อำนาจผู้ว่าฯ ในการสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรม อำนาจในการจับกุม ไม่ว่าจะเป็นรถเล็กหรือรถใหญ่ ซึ่งหากผู้ว่าฯ ออกมาตราการฉุกเฉินในจังหวัดของตัวเอง ก็มีอำนาจในการจับได้เลย
สิ่งเหล่านี้ต้องช่วยกันทำ จะไปโทษจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งไม่ได้ เพราะบางจังหวัด พอเกิดปัญหาแล้วทำให้จังหวัดอื่นได้รับผลกระทบ แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำทุกจังหวัด
“ร.ต.อ.วัฒนรักษ์-รองปธ.กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพรบ.อากาศสะอาดฯ “เปิดเผยว่า สำหรับข้อเสนอเรื่องการให้ตั้ง “กองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ“เป็นข้อเสนอที่อยู่ในร่างพรบ.อากาศสะอาดฉบับประชาชนฯ (นางสาวคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 22,251 คน)ซึ่งเมื่อสภาฯลงมติเห็นชอบร่างพรบ.อากาศสะอาดด้วยเสียงท่วมท้นเมื่อเดือนมกราคม 2567ทำให้ ข้อเสนอการตั้งกองทุนอากาศสะอาดเป็นเรื่องที่ทุกพรรคการเมืองที่เสนอร่างพรบ.อากาศสะอาดเข้า ก็ไม่มีใครคัดค้าน เพราะหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ แล้วหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ไม่มีงบประมาณ ทำให้การขับเคลื่อนงานต่างๆ ก็ลำบาก โดยตัวเงินที่อยู่ในกองทุนอากาศสะอาด ก็จะมาจากเช่น ผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษ ต้องเป็นผู้จ่ายเงินที่เรียกว่า เบี้ยปรับ โดยมีบางฝ่ายให้ความเห็นว่า ควรต้องบอกเขาก่อน แต่จริงๆ มีการบอกนานแล้วเช่น โรงงานค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน แต่ก็มีการผ่อนผัน รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ก็เกิดความไม่ชัดเจนว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด แต่หากมีหน่วยงานที่เรียกว่า สำนักงานบริหารจัดการอากาศสะอาด ที่เบื้องต้น จะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อำนาจหลักจะอยู่ที่สำนักงานบริหารจัดการอากาศสะอาดที่สำนักงานสามารถจะเข้าไปบังคับใช้กฎหมายเพื่อบริหารจัดการให้อากาศสะอาด
โครงสร้างการทำงานในรูปแบบของคณะกรรมการฯที่อยู่ในตัวร่างกฎหมาย จะมีคณะกรรมการหลักๆ ก็คือ “คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด“ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งเรื่องของการทำให้อากาศสะอาด ไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานหรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ซึ่งหน้าที่ของนายกฯก็มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารสั่งการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ โดยในส่วนของกระทรวงทรัพย์ฯ แน่นอนว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเผา ไม่ว่าจะเป็นการเผาป่าสงวน การเผาป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ต่างๆ ก็เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพย์ฯโดยตรง เป็นหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ ที่คอยไปตรวจสอบแต่ละพื้นที่ และสิ่งสำคัญคือประเทศไทยทุกวันนี้ยังไม่มีเครื่องมือในการคัดแยกฝุ่นพิษเลยว่าฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นมาจากไหน ทางกมธ.ฯ ก็มีการใส่ไว้ในร่างกฎหมายอากาศสะอาด อย่างในต่างประเทศ จะมีการแยกไว้เลย จะมีเสาตามสถานที่สำคัญต่างๆ อย่างในกรุงเทพมหานคร ก็จะมีประมาณ 29 จุดที่เป็นพื้นที่แอ่งกระทะ และทุกปีก็จะเกิดปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวตลอด ทำให้ต่อไปเมื่อกฎหมายประกาศใช้ มีการนำเครื่องตรวจแยกฝุ่นพิษไปติดตั้งไว้ก็จะทำให้แยกได้เลยว่าฝุ่นจากพื้นที่แต่ละจุดเกิดจากอะไรเช่น เกิดจากการเผา ,ท่อไอเสียรถยนต์หรือการก่อสร้าง หน้าที่ของนายกฯ อย่างที่บอกข้างต้น เช่นพวกโรงงานอุตสาหกรรม ที่ทั้งปล่อยฝุ่นหรือรับซื้อสินค้าเกษตรจากการเผา ที่เป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการนำเข้า แม้จะมีการบอกว่า ห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากการเผา แต่ทุกวันนี้พบว่าก็ยังมีอยู่ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นหน้าที่ของนายกฯและสำนักงานบริหารจัดการอากาศสะอาด เมื่อกฎหมายประกาศใช้ ก็เป็นหน้าที่ของสำนักงานในการกำกับดูแล และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ก็จะกำหนดให้มี”คณะกรรมการอากาศสะอาดระดับจังหวัด”ซึ่งเดิม เรื่องนี้จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจ แต่ในร่างพรบ.อากาศสะอาด จะให้อำนาจกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการ ซึ่งหลักการดังกล่าวผ่านในชั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.อากาศสะอาดแล้ว แต่สุดท้าย จะออกมาตามนี้หรือไม่ ต้องรอให้ที่ประชุมสภาฯ พิจารณาว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่(วาระสอง) โดยสาเหตุที่กมธ.ให้นายกอบจ.เป็นประธานคณะกรรมการอากาศระดับจังหวัดเพราะกมธ.ฯมีความเชื่อในเรื่อง”การกระจายอำนาจ” เชื่อในเรื่องว่า นายกอบจ.เป็นตำแหน่งที่ประชาชนในจังหวัดเลือกให้มาเป็นนายกอบจ. และน่าจะเป็นบุคคลที่รู้ปัญหาในจังหวัดของตัวเอง และปัญหาฝุ่นในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละภูมิภาคจะมีความแตกต่างกัน เช่นในกรุงเทพฯ ปัญหาฝุ่นพิษ หกสิบกว่าเปอร์เซ็นต์มาจากรถยนต์ ส่วน ปริมณฑล ก็อาจจะมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนภาคเหนือ ภาคอีสาน ปัญหาฝุ่นจะมาจากอีกแบบหนึ่ง แตกต่างกันไป เลยมีความเชื่อว่าหากให้นายกอบจ.เป็นผู้บริหารจัดการเรื่องอากาศสะอาดในจังหวัด จะแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า
บทลงโทษ ผู้ปล่อยควันพิษ
เมื่อถามถึงเรื่อง บทลงโทษและความรับผิด ตอนนี้พิจารณาออกมาอย่างไร เพราะเห็นในร่างพรบ.อากาศสะอาด เช่นในร่างของครม.ก็กำหนดโทษให้ผู้ก่อมลพิษ ต้องจ่ายค่าปรับ แค่หนึ่งแสนบาท จะน้อยเกินไปหรือไม่ “ร.ต.อ.วัฒนรักษ์-รองประธานคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพรบ.อากาศสะอาด ฯ “เปิดเผยไว้ว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.อากาศสะอาด กำลังพิจารณาในส่วนดังกล่าว ทั้งเรื่องบทลงโทษ ทางแพ่งและอาญา รวมถึงการปรับทางพินัย จะมีด้วยกันสามระดับ ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่ในส่วนของโทษปรับ จะมีการกำหนดให้ต้องจ่ายเงินมากกว่าที่ถามไว้แน่นอน แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่เบื้องต้น ก็มีการเสนอให้เอาผิดทางแพ่ง โดยให้จ่ายเงินแบบขั้นบันไดในอัตราที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากเป็นไปตามนี้คิดว่าจะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมพร้อมจะปรับปรุงตัวโรงงาน ในตัวร่างพรบ.อากาศสะอาด จะมีบทลงโทษทั้งจำและปรับ หรือปรับอย่างเดียว ที่ก็เป็นเรื่องดุลยพินิจของศาลที่อาจพิจารณาว่าได้มีการเตือนไปแล้วให้มีการปรับปรุง ซึ่งหากมีการปรับปรุงภายในเวลาที่กำหนด แต่ทำแล้วยังไม่ได้ปรับปรุงครบหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ศาลก็อาจพิจารณาโทษแค่ปรับ แต่หากยังทำผิดซ้ำซาก ไม่มีการพัฒนาหรือพัฒนาได้น้อย ก็อาจโดนโทษทางอาญา ที่มีโทษ 1-3 ปี
..หากเป็นเรื่องการปล่อยควันพิษ ก็มีการเขียนปริมาณควันพิษที่ชัดเจนในแต่ละพื้นที่ แต่ละโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะมีระเบียบเขียนไว้อยู่ว่าโรงงานอุตสาหกรรมขนาดนี้ปล่อยได้เท่าใด แต่ละพื้นที่ปล่อยได้ไม่เกินเท่าใด ซึ่งหากปล่อยควันพิษเกินมาตรฐาน ก็ถูกลงโทษทั้งจำและปรับ ซึ่งต่อไปในอนาคต จะมีร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับร่างพรบ.อากาศสะอาดคือ ร่างพ.ร.บ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่กำลังจ่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาร่างพรบ.อากาศสะอาด ที่จะมีการคำนวณที่ละเอียดเกี่ยวกับปริมาณการปล่อยคาร์บอนฯที่จะเกี่ยวข้องกับชาวไร่ชาวนาด้วย เรื่องของ Carbon Footprint ( ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การใช้งาน ไปจนถึงการกำจัดซากผลิตภัณฑ์หลังหมดอายุการใช้งาน โดยจะถูกคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) รวมถึงโรงงานต่างๆ ว่ามีการปล่อยคาร์บอนเท่าใด
ให้เวลาโรงงานอุตสาหกรรม เตรียมตัวหนึ่งปี หลังประกาศใช้กฎหมาย
เมื่อถามว่า จะมีการเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลหรือไม่ว่า หลังมีการประกาศใช้กฎหมายแล้ว จะให้มีผลบังคับใช้โดยทันทีหรือมีการเว้นช่วงไว้เพื่อให้ทุกฝ่ายเช่นโรงงานอุตสาหกรรมได้มีเวลาเตรียมตัว “ร.ต.อ.วัฒนรักษ์” กล่าวตอบว่า เรื่องนี้เป็นคำถามที่กมธ.ฯถูกถามปล่อยมาก ซึ่งกมธ.ฯ ก็เคยตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมมาให้ข้อคิดเห็น ที่แน่นอนว่า จะมีการเขียนไทม์ไลน์ให้สำหรับการเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลง เท่าที่ดูเราก็อยากให้มีการบังคับใช้ภายในหนึ่งปี
ต่อข้อถามที่ว่า จะมีการล็อบบี้กรรมาธิการหรือสมาชิกรัฐสภา เพื่อให้ร่างกฎหมายที่จะออกมา เป็นประโยชน์กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่เช่นล็อบบี้ว่าเรื่องบทลงโทษต่างๆ ขอให้เขียนออกมาเบาลง “ร.ต.อ.วัฒนรักษ์“ยืนยันว่า ในส่วนของคณะกรรมาธิการผมยังไม่เห็น แต่ถามว่าในส่วนของอุตสาหกรรมพวกโรงงานต่างๆ มีเข้ามาพูดบ้างหรือไม่ ก็มีอยู่แล้ว แต่ว่าการล็อบบี้ไม่มี และผมเชื่อมั่นเพราะอย่างผมเคยทำเรื่อง สารเคมีฆ่าหญ้า เคยเสนอไปในชั้นของส.ส. ก็ไม่มีใครไม่เห็นด้วย เห็นด้วยทุกคน เพราะเป็นปัญหาโดยตรงกับประชาชน ผมเชื่อมั่นว่าร่างพรบ.อากาศสะอาด ส.ส.และสว. เป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยเกินครึ่งประเทศ(เห็นด้วย) เพราะอย่าง ณ ปัจจุบัน มีข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ว่าในช่วงหลังปีใหม่ 2568 ผ่านมาสามสัปดาห์ มีผู้ป่วยเนื่องจากฝุ่นพิษ PM ประมาณหนึ่งแสนสี่หมื่นสี่พันคน โดยเป็นผู้ป่วยทั้งผิวหนังอักเสบ ตาอักเสบ ปอดอักเสบ หอบหืด และโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน นี้เป็นตัวเลขแค่สามสัปดาห์ ส่วนยอดผู้ป่วยตลอดทั้งปี 2567 ก็ประมาณหนึ่งล้านคน ซึ่งส.ส.และสว.ก็เลือกมาจากประชาชน ที่ต้องเห็นผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง
“ร.ต.อ.วัฒนรักษ์“ยังกล่าวถึงความพร้อมของหน่วยงานรัฐ หากมีการประกาศใช้พรบ.อากาศสะอาดว่า เรื่องฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่ปัญหาใหม่ และเป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2562 ไม่ใช่จะมาเพิ่งประกาศไม่กี่วันว่า ให้เป็นวาระแห่งชาติ เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาก็มี บุคลากรภาครัฐก็มีอยู่มาก ผมอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นเรื่องหลัก เพราะเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพของคนไทยทุกคน ทั้งเด็ก สตรี คนชราและผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เช่นการตั้ง”ศูนย์บริหารจัดการปัญหา PM2.5″ซึ่งสมัยเกิดโควิดระบาด ก็มีการตั้งศูนย์ศบค. จนประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งยวด หากเราใช้แพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้วโดยให้นายกฯเป็นผู้ประกาศจัดตั้งศูนย์แล้วดึงอำนาจบางส่วนเข้ามาโดยให้นายกฯ เป็นผู้บริหารจัดการ ผมคิดว่าปัญหาฝุ่น ใช้เวลาไม่นานก็แก้ไขปัญหาได้ ประเทศไทย เป็นประเทศในอันดับต้นๆ ที่แก้ไขปัญหาโควิดได้ ผมเชื่อว่าการที่มีแพลตฟอร์ม-รูปแบบมีอยู่ หากเราทำคล้าย ๆกัน ก็สามารถimplement ได้เลย
ถามย้ำว่า ร่างพรบ.อากาศสะอาดคือความหวังของคนไทยได้หรือไม่ ในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ และหากให้ การบังคับใช้กฎหมาย มีผลหลังประกาศใช้หนึ่งปี หมายถึงคนไทยก็ต้องรอเวลาไปอีกสักระยะหลังกฎหมายประกาศใช้ ถึงจะเริ่มเห็นผล “ร.ต.อ. วัฒนรักษ์“กล่าวว่า จะมีความยืดหยุ่นในแต่ละส่วนเช่นรถที่ปล่อยควันพิษ การเผาที่ผิดกฎหมาย ถ้าลักษณะนี้บังคับใช้ทันทีหลังประกาศใช้กฎหมาย จะไม่เหมือนกรณีของโรงงานอุตสาหกรรมเพราะหากบังคับใช้เลย ผมว่าเขาจะปิดโรงงาน น่าเกินครึ่งประเทศ เศรษฐกิจไม่น่าจะเดินได้
“ปัญหาฝุ่นพิษ อย่างที่ประเทศจีน ที่เป็นประเทศสังคมนิยม ที่สั่งการได้เลยทุกอย่าง ยังใช้เวลา 5-6 ปี ถึงจะแก้ไขปัญหาฝุ่นได้ สำหรับประเทศเรา หากกฎหมายอากาศสะอาดประกาศใช้ออกมา ผมว่าจะเป็นความหวัง ที่จะทำให้ลดปริมาณฝุ่น แต่ถามว่าจะทำให้มันหายไปเลยหรือไม่ ก็คงไม่ใช่ และหากถามว่าปริมาณฝุ่นจะลดลงหรือไม่ เราหวังว่าปริมาณฝุ่น จะลดลง ซึ่งหากลดลงปีละยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ก็เป็นสิ่งที่คนไทยก็แฮปปี้แล้ว เช่นเปลี่ยนจากพื้นที่สีม่วง กลายเป็นสีแดง สีแดงกลายเป็นสีส้ม สีส้มกลายเป็นสีเหลือง สีเหลืองกลายเป็นสีเขียว แค่นี้ประชาชนแฮปปี้แล้ว และหากเราทำแบบนี้ทุกปี เพราะตัวสำนักงานบริหารจัดการอากาศสะอาด ทำงานทั้งปี ไม่ใช่ฝุ่นมาที ก็ทำงานกันที เป็นอีเวนต์ หากเราทำแบบนี้ทุกวันตลอดทั้งปี ลดปริมาณฝุ่นได้ปีละยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ผมว่าไม่เกินห้าปี ปริมาณฝุ่นก็จะเหลือน้อยมาก”
“ร.ต.อ. วัฒนรักษ์“ย้ำถึงการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.อากาศสะอาดฯ ว่า เนื่องจากร่างพรบ.อากาศสะอาด เสนอมาโดยหลายภาคส่วน ที่ตอนนี้ เนื้อหาในร่างพรบ.ฯ ก็มีร่วมหนึ่งร้อยกว่ามาตรา จึงใช้เวลาค่อนข้างนาน และเป็นพรบ.ใหม่ที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน จึงต้องยกร่างกฎหมายด้วยความรอบคอบให้มากที่สุด กมธ.ก็เร่งอยากให้มันเสร็จ ที่ตอนนี้ก็ใช้เวลาเกือบหนึ่งปีแล้วในการพิจารณา ก็อยากทำให้สมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งคำว่าสมบูรณ์ก็คงไม่ได้ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากทำให้สมบูรณ์ได้สักเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทย ก็น่าจะคุ้มค่ากับการรอ
โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร
เปิดโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ ซุปเปอร์บอร์ด อากาศสะอาด
แม้ กระบวนการพิจารณาร่างพรบ.อากาศสะอาดฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.อากาศสะอาดฯ ของสภาฯ ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ แต่หากไปดูร่างพรบ.อากาศสะอาดที่เสนอเข้าสภาฯ 7 ร่าง ก็มีเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจเช่น ในร่างของคณะรัฐมนตรี ที่เสนอในยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มีการให้เขียนเรื่อง คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาดที่ถือเป็นบอรด์ที่ใหญ่ที่สุดตามร่างกฎหมายอากาศสะอาด ไว้โดยให้มีโครงสร้างกรรมการและอำนาจหน้าที่ดังนี้
มาตรา ๑๐ ให้มีคณะกรรมการหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด”ประกอบด้วย
(๑) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
(๒) รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ
(๓) คณะกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสี่คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบัญชีรายชื่อ ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีผลงาน และประสบการณ์ในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์และด้านสุขภาพ
(๕) กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนภาคประชาสังคมไม่เกินสี่คน
(๖) กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนภาคเอกชนไม่เกินสองคน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ
มาตรา ๑๔ คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาดมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบายและแผนแม่บทการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดที่ปลอดภัยต่อระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน
(๒) พิจารณาผลการประเมินการปฏิบัติตามนโยบายและแผนแม่บทการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ปัญหาอุปสรรคและแนวทางในการแก้ไขตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกสิ้นปีงบประมาณ
(๓) กำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด
(๔) เสนอแนะมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ด้านการเงิน การคลัง ภาษีอากร ด้านการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงมาตรการอื่นต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติตามนโยบายและแผนแม่บท
(๕) การพิจารณาประกาศกำหนดเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติมเพื่อการบริหารจัดการอากาศสะอาด ตามข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด
(๖) เสนอแนะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการอากาศสะอาด กฎหมายต่างๆ ที่มีผลต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษในอากาศ ต่อคณะรัฐมนตรี
(๗) ประสานการทำงานกับคณะกรรมการตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษในอากาศ เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการลดสาเหตุปัญหามลพิษที่แหล่งกำเนิด การจัดทำนโยบายและแผนแม่บทการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และกรอบแนวทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด
(๘) เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการในกรณีที่ปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดอันอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
(๙) กำหนดมาตรการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษในอากาศและการพัฒนาคุณภาพอากาศ
(๑๐) เสนอรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพอากาศ และผลการปฏิบัติงานระบบจัดการ
มาตรฐาน คุณภาพอากาศสะอาดที่ปลอดภัยต่อระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงปัญหาอุปสรรคและแนวทางในการแก้ไขต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
(๑๒) เสนอแนะให้หน่วยงานของรัฐกำหนดกลไกและมาตรการสนับสนุนอำนวยความสะดวกแก่การดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบการจัดการมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดที่ปลอดภัยต่อระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบูรณาการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษในอากาศและการพัฒนาคุณภาพอากาศ เป็นต้น
The post กฎหมายอากาศสะอาด ความหวังคนไทย สู้ฝุ่นพิษ ผ่านไปหนึ่งปี อยู่ขั้นตอนไหน? appeared first on .