‘จิรายุ’ เผยจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมเชียงรายแล้ว 5,733 ครัวเรือน รวม 28 ล้านบาท
ศปช. ย้ำการระบายน้ำคำนึงถึงทุกมิติ เน้นลดผลกระทบต่อประชาชนเป็นสำคัญ ด้าน จังหวัดเชียงราย จ่ายเงินเยียวยาแล้วกว่า 28 ล้านบาท
1 ต.ค.2567 – นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และ ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผย ว่าที่ประชุม ศปช. วันเดียวกันนี้ได้เน้นย้ำการระบายน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในช่วงวันที่ 1-3 ตุลาคมนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่โดยเฉพาะตอนบนของประเทศ ส่งผลให้ระดับน้ำอาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว จึงได้เน้นย้ำกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด
นายจิรายุ กล่าวว่า ตอนนี้มีความกังวลใจจากประชาชนท้ายเขื่อนว่าเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งยังมีการปล่อยน้ำในช่วงที่ฝนตกหนักจะทำให้น้ำท่วมสูงกว่าเดิม ขอเรียนชี้แจงว่าปัจจุบันการระบายน้ำของเขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา ซึ่งช่วยกักเก็บและชะลอน้ำจากแม่น้ำวัง มีการระบายน้ำอยู่ที่ 136 ลบ.ม./วินาที และ 210 ลบ.ม./วินาที ตามลำดับ ซึ่งการระบายน้ำดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบของพื้นที่เหนือเขื่อน โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนมากนัก นอกจากนี้เมื่อมวลน้ำไหลมารวมกันที่เขื่อนเจ้าพระยา ได้มีการผันน้ำออกทั้งฝั่งซ้าย และฝั่งขวา ทำให้น้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่สถานี C13 (จ.ชัยนาท) ระบายน้ำอยู่ที่ 1,899 ลบ.ม./วินาที
นายจิรายุ กล่าวว่า อีกประเด็นที่ก่อนหน้านี้มีการเสนอขอปรับเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาเป็น 2,000-2,500 ลบ.ม./วินาที ขอยืนยันว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำในทุกมิติ พบว่าไม่มีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำดังกล่าว และเห็นตรงกันว่าจะยังคงระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในระดับ 1,900-2,100 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา
“ฝนที่ตกลงมาเติมในช่วงนี้เป็นฝนท้ายฤดู จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำให้ดี หากปล่อยน้ำมากไปนอกจากกระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนแล้ว เดี๋ยวหลังจากนี้ฝนจะเริ่มลดลง ต้องคำนึงถึงการกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับหน้าแล้ง และการบริหารจัดการน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และภาคการเกษตรในระยะยาว จึงขอเรียนย้ำอีกครั้งว่าเขื่อนเจ้าพระยาไม่มีการปรับเพิ่มการระบายน้ำมาซ้ำเติมความทุกข์ของประชาชนอย่างแน่นอน” นายจิรายุ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่ ศปช. ส่วนหน้า จ.เชียงราย นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ในฐานะประธานศูนย์ ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย ยังลงพื้นที่พร้อมคณะเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมขอบคุณอาสาสมัครรักษาดินแดนจากทั่วประเทศ ที่มาเป็นจิตอาสาช่วยเหลือและฟื้นฟูจังหวัดเชียงราย ในการทำความสะอาดดินโคลนตามบ้านเรือนและที่สาธารณประโยชน์ และหากมีความต้องการอะไรให้สนับสนุนสามารถแจ้งมาที่ ศูนย์ ศปช. ส่วนหน้า จ.เชียงราย ได้ทันที
ส่วนความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 เป็นกรณีพิเศษในพื้นที่ 57 จังหวัด ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ขณะนี้มีผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเข้ามาจาก 45 จังหวัด รวมจำนวน 38,758 ครัวเรือน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ต.ค.67 เวลา 09.00 น.) ธนาคารออมสินได้โอนจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ผ่านบัญชีพร้อมเพย์สำเร็จแล้วรวม 2 ครั้ง จำนวน 5,733 ครัวเรือน เป็นเงิน 28,707,000 บาท เมื่อวันที่ 30 ก.ย.67 ปภ.ได้ตรวจสอบและส่งบัญชีรายชื่อครัวเรือนผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 ครั้งที่ 3 เป็นข้อมูลพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 668 ครัวเรือน เป็นเงิน 3,340,000 บาท ส่งให้ธนาคารออมสินเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีผู้ประสบอุทกภัยได้ในวันที่ 2 ตุลาคม 2567
“ขอเน้นย้ำให้ผู้ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 57 จังหวัด ลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินเยียวยา โดยยื่นคำร้องด้วยตนเองที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย และลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.flood67.disaster.go.th รวมทั้งสามารถติดตามสถานะการยื่นคำร้องได้ที่เว็บไซต์ดังกล่าว” นายจิรายุ กล่าว