ชะตากรรม ‘นายกฯ ชินวัตร’
วันนี้ (๑๒ ธันวาคม) นายกฯ อิ๊งค์ แถลงผลงาน
อยากรู้ว่าผลงานมีอะไรบ้าง เชิญเฝ้าหน้าจอสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง ๑๑ นั่นแหละครับ
จะเป็นการอ่านจากไอแพด หรือท่องจำมาจากบ้าน มีค่าเท่ากัน คือว่าไปตามโพย
เดี๋ยวจะหาว่าดูถูกนายกฯ เอะอะก็ตำหนิไปเสียทุกเรื่อง ไม่ใช่หรอกครับ เพราะนายกฯ อิ๊งค์ ก็เก่งในบางเรื่องเหมือนกัน
อย่างน้อยๆ ก็แต่งตัวพอได้ แม้จะมีการวิจารณ์ก่อนนี้ว่า เหมือนทัวร์จีนไปเที่ยววัดพระแก้ว แต่ภาพรวม ก็พยายามดึงพลัง “ซอฟต์พาวเวอร์” ให้เจิดจ้าอยู่เช่นกัน
ครับ…วานนี้ (๑๑ ธันวาคม) เหมือนซ้อมแถลงผลงาน นายกฯ อิ๊งค์ ยืนปักหลักให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล หลายเรื่อง
แต่อย่าถามได้เนื้อได้น้ำหรือไม่
เรื่องแรกคือ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่ “หัวเขียง” เจอใบสั่ง “หน้าเหลี่ยม” ให้ถอยไปแล้ว
เธอตอบแบบคลุมๆ และชวนให้งงงวย
เช่นบอกว่า “…เรื่องนี้มีความคิดเห็นต่างกันอยู่แล้วก็ต้องรับฟังทุกฝ่าย และในรัฐธรรมนูญจริงๆ ก็มีเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่เราต้องแสดงจุดยืนนิดหนึ่งว่า จุดยืนในวันนี้ พ.ศ.นี้ เราต้องคุยกันว่ารัฐบาลไม่มีเจตนาแทรกแซงงานของกองทัพ
อันนี้คือเรื่องหนึ่งก่อน แต่ว่าอะไรที่ทำแล้วเกิดประโยชน์กับประเทศก็ต้องร่วมมือกันคิดร่วมมือกันทำ นั่นคือสิ่งที่ในวันนี้ ในปีนี้ ในรัฐบาลนี้ ต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน…”
ก็ไม่ทราบครับว่ามีอะไรในรัฐธรรมนูญ
พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ไปเกี่ยวอะไรกับรัฐธรรมนูญ
อำนาจใน พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่รัฐบาลอยากได้คือ การแต่งตั้งแม่ทัพนายกอง ในส่วนนี้ไม่มีการพูดถึงในรัฐธรรมนูญเลย
ก็เลยงงครับว่า นายกฯ อิ๊งค์ จะสื่อถึงอะไร หรือพูดไปเรื่อยเปื่อย
แม้จะชัดเจนในประเด็น รัฐบาลไม่มีเจตนาแทรกแซงกองทัพ ซึ่ง ณ พ.ศ.นี้ ใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องตอบแบบนี้อยู่แล้ว เพราะความเปราะบางมันมีอยู่ แต่มิได้เกิดจากกองทัพ
มันเกิดจากรัฐบาลต่างหาก
ความกลัวเรื่องรัฐประหารนั้นมีอยู่ แต่รัฐบาลบริหารความกลัวด้วยการไม่รุกล้ำกองทัพมากเกินไป แทนที่จะบริหารความกลัวด้วยความกล้าที่จะทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในทุกเรื่อง
อย่างน้อยๆ รัฐบาลต้องมีจิตสำนึกเรื่องการปราบคอร์รัปชัน
นายกฯ อิ๊งค์ ต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่า รัฐบาลนี้สามารถไว้วางใจได้ จะไม่ปล่อยให้มีการคอร์รัปชันเด็ดขาด
แต่นี่คือสิ่งที่เราแทบมองไม่เห็น
รัฐบาลแพทองธารบริหารประเทศมา ๓ เดือน สิ่งที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือ จะมีจุดจบแบบรัฐบาล “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” หรือไม่
โกงจนเกิดรัฐประหาร!
ในวงสัมภาษณ์นักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลถามประเด็นนี้อยู่เหมือนกัน
จะเป็นนายกฯ คนแรกในตระกูลชินวัตร ที่ไม่ถูกรัฐประหารหรือไม่?
คำตอบจากนายกฯ มันแปลความได้หลายทาง
เพราะแทนที่จะตอบคำถามเลย กลับทวนคำถามของนักข่าว
“…เมื่อกี้นักข่าวถามว่านายกฯ อุ๊งอิ๊งจะเป็นคนแรกในตระกูลชินวัตรหรือเปล่าที่ไม่ถูกปฏิวัติ ทวนคำถามให้เผื่อไม่ได้ยิน ก็ไม่ทราบค่ะ อันนี้สื่อช่วยตอบด้วยแล้วกัน…”
ก็อาจจะเป็นนิสัยที่แท้จริงของ นายกฯ อิ๊งค์
อาจคล้ายวันที่มีปฏิกิริยาในศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ “อุ๊งอิ๊ง” นั่งเบะปากต่อหน้าบัลลังก์ศาลอาญา เมื่อปี ๒๕๕๑ ขณะศาลอ่านคำพิพากษาคดีวงศาคณาญาติตระกูลชินวัตร ร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ ก็เป็นได้
เพราะปกติไม่ค่อยจะมีการเจตนาทวนคำถามกัน
เว้นเสียแต่ว่าฟังไม่ชัด เกรงตอบไม่ตรงคำถาม
แต่กรณีนี้ นายกฯ อิ๊งค์ ฟังคำถามชัดเจนทุกถ้อยคำ
ฉะนั้นน่าจะมีเจตนาแฝงอยู่
เอาเถอะครับ…ในภาพรวม รัฐบาลนี้ไม่เปิดศึกกับกองทัพแน่นอน แม้จะตั้ง “สหายอ้วน” ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรออยู่แล้วก็ตาม
และ “สหายอ้วน” คงทำอะไรได้ไม่มากนัก ก็เพราะมี พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ปี ๒๕๕๑ บังคับใช้อยู่
ก็เห็นด้วยกับนายกฯ อิ๊งค์ว่า มุ่งไปที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจดีกว่า
“…แต่คิดว่าจริงๆ ในตอนนี้ทางออกของประเทศคือการช่วยกันทำให้เศรษฐกิจดี ให้ประชาชนมีกินมีใช้ ถูกไหมคะ
อันนี้คือสิ่งที่รัฐบาลเน้นย้ำในการประชุม ทุกอย่างเป็นเรื่องของเศรษฐกิจแทบจะ ๑๐๐%
เพราะฉะนั้นอันนี้แหละมันไม่มีเวลาของความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นของระดับประชาชน ข้าราชการ รัฐมนตรี มันไม่ควรจะเกิดความขัดแย้ง
เพราะมันจะหยุดประเทศไว้ไปต่อไม่ได้
ในวันนี้ที่ตัวดิฉันอยู่ตรงนี้ก็พยายามทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุด เรามีรัฐมนตรีและทีมงานเก่งๆ อีกมากมายที่จะช่วยกันผลักดันประเทศไปข้างหน้า
ก็ขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายรักษาความสงบเอาไว้เพื่อให้ประเทศไปต่อ ทุกคนอยากมาลงทุน เรายังแก้ปัญหาจากโควิดไม่หมดเลย
เพราะฉะนั้นเรื่องความขัดแย้งบางเรื่องต้องมองข้ามไปเพื่อประเทศและประโยชน์ของประชาชน…”
ฟังแล้วดูดีครับ
แต่…รัฐบาลจะนำพาประเทศไปสู่จุดนั้นจริงหรือเปล่า
ระหว่างทางไม่มีการหาเศษหาเลยจริงหรือไม่
เป็นความจริงที่ว่าปัญหาเศรษฐกิจคือปัญหาหลักที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข
แล้วรัฐบาลกำลังแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หรือเพิ่มปัญหาให้งบประมาณแผ่นดิน
๔.๕ แสนล้าน เอาไปลงทุนภาครัฐ เกิดพายุหมุน ๓ รอบ ๔ รอบ แต่รัฐบาลเลือกที่จะใช้วิธีง่ายๆ แต่ได้คะแนนเสียงเร็วคือ “แจก”
หลายสิบปีมานี้ สิ่งที่หยุดประเทศไว้คือรัฐบาลคอร์รัปชัน แล้วตามด้วยรัฐประหาร
และฝ่ายที่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง ก็มักจะเป็นรัฐบาลที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน
สิ่งที่ นายกฯ อิ๊งค์ พูดมาถูกเกือบหมด แต่สิ่งที่ยังไม่มีการส่งสัญญาณชัดเจนคือ รัฐบาลจะปราบคอร์รัปชันอย่างไร
มิหนำซ้ำรัฐบาลเองยังเป็นฝ่ายถูกจับตามองเรื่องคอร์รัปชัน
การที่รัฐบาลไม่ปะทะกองทัพย่อมมีเป้าหมาย
เป็นเป้าหมายเพื่อรักษาอำนาจเอาไว้
เพราะการมีอำนาจในมือหมายถึง ผลประโยชน์ที่จะตามมามากมาย
หากรัฐบาลทำให้ผลประโยชน์นั้นตกอยู่กับประชาชน ก็ควรสรรเสริญ
แต่หากซ้ำรอยรัฐบาล “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” นายกฯตระกูลชินวัตรก็อาจตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน
ไม่มีอะไรน่าจดจำ.
The post ชะตากรรม ‘นายกฯ ชินวัตร’ appeared first on .