ดร.ณัฏฐ์-นักกม.มหาชน ชี้ ‘กฎอัยการศึก’ สส.ไทยไม่สามารถยกเลิกได้ แตกต่างจากเกาหลีใต้
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน เผยกฎอัยการศึกสถานะเป็นพระราชบัญญัติ การยกเลิกในประเทศเกาหลีใต้กระทำโดยมติสภา แตกต่างจากประเทศไทย สส.ตัวแทนประชาชน ไม่สามารถยกเลิกได้ 6 ธ.ค.2567 – สืบเนื่องจากกรณี ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยุน ซอกยอล ประกาศกฎอัยการศึก จนเกิดเหตุการณ์ชุลมุนหน้ารัฐสภาของเกาหลีใต้ ที่มีประชาชนออกมาต่อต้านทหาร เปิดทางให้ สส.ฝ่ายค้านเข้าสภาไปโหวตคว่ำกฎอัยการศึก ซึ่งเหตุการณ์จบภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ต่อมามีกระแสต่อต้านการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยให้ใช้กรณีศึกษาของประเทศเกาหลีใต้มาเป็นโมเดล และล่าสุดประชาชนออกมาแสดงความเห็นด้วยกับร่างกฎหมาย “จัดระเบียบกลาโหม” ฉบับเพื่อไทย ตัดท่ออำนาจเหล่าทัพสกัดการยึดอำนาจ ล่าสุด ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า แม้ประเทศไทยกับประเทศเกาหลีใต้ จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นทั้งในรูปแบบและเนื้อหาระบอบประชาธิปไตย แต่มีความแตกต่างกันในแง่ของกระบวนการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ประกาศใช้และยกเลิกแตกต่างกัน จะเห็นได้จากล่าสุด การยุติการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล เกาหลีใต้ โดยระบบตัวแทนผ่านกลไกลรัฐสภา โดยใช้เสียงข้างมากในรัฐสภา ทำให้การประกาศกฎอัยการศึกถูกยกเลิกโดยปริยาย ส่งผลให้ทหารกลับที่ตั้ง ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า แต่ประเทศไทยกลับมีความแตกต่างกัน เพราะกฎอัยการศึกของไทยมีสถานะเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ ตราขึ้นใช้ครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2450 เรียกว่า “กฎอัยการศึก ร.ศ. 126” มีทั้งสิ้น 9 มาตรา โดยถอดแบบมาจากกฎอัยการศึกของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส ต่อมาในปี 2457 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า อำนาจของทหารตามกฎอัยการศึก ร.ศ. 126 นั้นยึดตามแบบฝรั่งเศส แต่ไทยใช้ตำราพิชัยสงครามตามแบบอินเดีย ซึ่งไม่สอดคล้องกัน ทรงยกเลิกกฎอัยการศึก ร.ศ.126 และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ขึ้นใช้แทน มีทั้งสิ้น 17 มาตรา มีการแก้ไขเพิ่มเติมรวม 5 ครั้ง นักกฎหมายมหาชน กล่าวต่อว่า ผู้มีอำนาจในการประกาศใช้กฎอัยการศึก 1. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ การประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยทรงประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกในส่วนหนึ่งส่วนใดของพระราชอาณาจักร หรือ ตลอดทั่วทั้งพระราชอาณาจักร ภายใต้เงื่อนไข คือ เมื่อมีเหตุอันจำเป็นเพื่อที่จะได้รักษาความเรียบร้อยปราศจากภัยซึ่งจะมีมาจากภายนอก หรือภายในพระราชอาณาจักร (มาตรา 2) 2.ผู้บังคับบัญชาทหาร ผู้บังคับบัญชาทหารมีอำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกเฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของทหารได้ภายใต้เงื่อนไข คือ 1) เมื่อมีสงคราม หรือ จลาจลเกิดขึ้น ณ แห่งใด 2) มีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ 3) จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด (มาตรา 4) ในเวลาสงครามหรือจลาจล แม่ทัพใหญ่หรือแม่ทัพรองมีอำนาจออกข้อบังคับบรรยายความเพิ่มเติมให้การดำเนินการตามความประสงค์ของกฎอัยการศึกได้ และเมื่อได้ประกาศกฎเสนาบดี หรือข้อบังคับของแม่ทัพในทางราชการแล้วให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 17) ส่วน ผู้มีอำนาจในการประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก การที่จะเลิกใช้กฎอัยการศึกแห่งใด หมายถึง การยกเลิกกฎอัยการศึกในบางพื้นที่ หรือทั่วราชอาณาจักรจะต้องมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการสั่ง (มาตรา 6) ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าจะเห็นล่าสุด การประกาศใช้กฎอัยการศึก ครั้งที่ 14 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 2/2557 เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ดำเนินการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ระยะเวลาที่ใช้ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ถึง วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2558 ส่วนที่ถามว่า ตามที่หลายฝ่ายต้องการให้ สส.ออกมาต่อสู้ในการรัฐประหารของกองทัพเหมือนในประเทศเกาหลีใต้ ในประเทศไทยสามารถกระทำได้หรือไม่ ดร.รัฐวุฒิ อธิบายว่า ที่ผ่านมาในประเทศไทย ประกาศใช้กฎอัยการศึก จะกระทำโดยผู้บังคับบัญชาทหาร โดยสถานะกฎอัยการศึก มีสถานะพระราชบัญญัติ จะยกเลิกโดยสภาเสียงข้างมากไม่ได้ จะต้องกระทำยกเลิกโดยประกาศยกเลิกเป็นพระบรมราชโองการฯโดยบัญญัติไว้ในมาตรา 6 หากจะใช้รูปแบบของการยกเลิกกฎอัยการศึกแบบประเทศเกาหลีใต้ ให้อำนาจตัวแทนประชาชนเข้าไปคัดค้านกฎอัยการศึก จะทำให้รัฐประหารยากขึ้น สามารถกระทำได้ โดยวิธีการแก้ไข จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 6 โดยแก้ไขเพิ่มเติมให้อำนาจในการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ให้เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยเสียงข้างมากในสภาก็ได้
The post ดร.ณัฏฐ์-นักกม.มหาชน ชี้ ‘กฎอัยการศึก’ สส.ไทยไม่สามารถยกเลิกได้ แตกต่างจากเกาหลีใต้ appeared first on .