‘ดีเอสไอ’ ประชุมคดีฟอกเงิน ฮั้วเลือกสว. มีพยานกลับใจแฉเห็นเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น
เริ่มแล้ว ! “ดีเอสไอ- อัยการ” ประชุมคดีฟอกเงิน ปมฮั้ว สว.67 เตรียมร่อนหมายเรียกพยานกว่า 1,000 ราย สอบปากคำ ไขปมรู้เห็นเหตุการณ์จัดฮั้ว โดยเฉพาะ “พยานกลับใจแฉ“ ดีเอสไอต้องคุ้มครองความปลอดภัย
21 มีนาคม 2568 – เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 1 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมเปิดคดีครั้งที่ 1 ของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 24/2568 กรณี การสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกรณีฮั้วเลือกสว.
โดยมี พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 4 ราย ในฐานะคณะพนักงานสอบสวน ได้แก่ ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ พ.ต.ต.จตุพล บงกชมาศ และ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ และมี นายระวี อักษรศิริ ผอ.กองคดีการฟอกเงินทางอาญา นายเอกรินทร์ ดอนดง ผอ.ส่วนวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์พิเศษ เป็นเลขานุการคณะพนักงานสอบสวน
นอกจากนั้น ยังมีบรรดาผู้อำนวยการกองคดีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกองคดีการฟอกเงินทางอาญา กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กองคดีภาษีอากร กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองคดีความมั่นคง กองคดีทรัพย์สินทางปัญญา กองคดีค้ามนุษย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการ รวมบุคลากรของกรมสอบสวนคดีพิเศษทั้งสิ้น 41 ราย
ขณะที่ทางด้านของพนักงานอัยการที่เข้าร่วมประชุมมีจำนวน 3 ราย โดยเป็นพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 1 ราย และอัยการผู้เชี่ยวชาญ 2 ราย
รายงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยก่อนการประชุมว่า สำหรับการประชุมเปิดคดีในวันนี้จะมีวาระการประชุมที่สำคัญคือ ฝ่ายเลขานุการคณะพนักงานสอบสวนจะได้มีการนำเสนอข้อเท็จจริงของคดี เพื่อชี้แจงต่อที่ประชุมว่าคดีดังกล่าวมีข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง เป็นความผิดฐานใด เพื่อที่จะได้หารือถึงแนวทางการสอบสวนว่าดีเอสไอจะทำงานอย่างไร แล้วในส่วนของพนักงานอัยการจะทำงานอย่างไรบ้าง รวมถึงจะต้องมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการสอบสวนปากคำกลุ่มพยานว่าคณะพนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนปากคำเพื่อให้ได้มาซึ่งประเด็นอะไรบ้าง และในการสอบสวนจะมีกรอบระยะเวลาในการทำสำนวนนานเท่าใดก่อนสรุปสำนวน
รายงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ เผยอีกว่า การที่มีอัยการมาร่วมสอบสวน คือ การทำสำนวนคดีไปพร้อมกัน ไม่ว่าดีเอสไอจะดำเนินการอะไร อัยการก็จะต้องมาร่วมสอบสวนด้วย ทั้งร่วมประชุมและการมีมติความเห็นทางคดี นอกจากนี้ วันนี้เราจะได้มีการพูดถึงกลุ่มพยานที่ต้องไปสอบสวนปากคำเข้าสู่สำนวน ซึ่งตัวเลขเบื้องต้นพบว่ามีจำนวนพยานกว่า 1,000 รายที่พนักงานสอบสวนจะต้องไปสอบปากคำ มีทั้งกลุ่มคนที่เข้ามาสมัคร สว. ในฐานะโหวตเตอร์หรือผู้พลีชีพก็ตาม แต่ก็ต้องมีการแบ่งว่าดีเอสไอจะไปสอบสวนกี่ปาก แล้วอัยการจะไปสอบสวนกี่ปาก ทั้งต้องกำหนดประเด็นการสอบสวนด้วย
ทั้งนี้ กลุ่มพยานทั้งหมดจะเป็นใครบ้าง พนักงานสอบสวนคงไม่อาจเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นเรื่องสอบสวนทางลับและเราต้องให้ความปลอดภัยในการคุ้มครองพยานที่เขาให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการทำสำนวนของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากพยานค่อนข้างหวาดกลัวในการใช้ชีวิต กลัวเรื่องความปลอดภัย จึงทำให้ต้องมีการสงวนไว้ซึ่งรายชื่อของกลุ่มพยาน
แต่ลักษณะของพยาน คือ กลุ่มคนที่รู้เห็นเหตุการณ์ขบวนการฮั้วตั้งแต่ต้นแน่นอน เนื่องจากในชั้นการสืบสวนของดีเอสไอเอง (เลขสืบสวนที่ 151/2567) ก็มีพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าบุคคลเหล่านี้รู้เห็นเหตุการณ์ จึงต้องกันมาไว้เป็นพยาน ซึ่งการให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ก็ถือเป็นประโยชน์ต่อตัวพยานเองด้วย เพราะในมาตรา 65 ตามกฎหมายของ กกต. ได้กำหนดไว้ว่า “หากผู้กระทำความผิดที่มาให้การกับ กกต. แล้วชี้ว่าใครเป็นคนทำอะไร อันนี้กันไว้เป็นพยานได้” ดังนั้น สิ่งนี้มันคือการเดิมพันกันสูง เพราะเขาเป็นพยานที่ชี้ตัวได้ เหมือนกลับใจมาแฉ
ขณะที่เวลา 13.45 น. พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เดินทางมาเป็นประธานในที่ประชุม และได้กล่าวเริ่มต้นการประชุมคดีพิเศษดังกล่าว ว่าเป็นการประชุมครั้งแรก เป็นการเปิดประชุมคดีพิเศษที่ 24/2568 เพื่อจะได้มอบหมายการดำเนินการระหว่างดีเอสไอและอัยการต่อไป.