นายกฯ ชม ศปช. ทำงานเร็วเป็นโมเดลบูรณาการแก้ปัญหา ฟื้นฟูพื้นที่อุทกภัย

14 ต.ค.2567 – เวลา 18.00 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชื่นชมการทำงานของ ศปช.ในการแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง บูรณาการร่วมแก้ปัญหา โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศปช. มอบหมายให้คณะทำงาน ศปช.ติดตามสถานการณ์น้ำและหาแนวทางแก้ไขให้ประชาชนทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ทั้งการแจ้งเตือน ฟื้นฟู ช่วยเหลือเยียวยาทั้งการดำเนินชีวิตและเยียวยาสภาพจิตใจ ขณะเดียวกันยังมี ศปช.ส่วนหน้า ดูแลและประสานหน้างาน หารือส่วนราชการ ทำให้การทำงานในพื้นที่มีความคืบหน้าทุกวันเวลา นำโดย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ในฐานะประธาน และพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ในฐานะที่ปรึกษา ที่ปักหลักเร่งรัดการทำงานของเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานให้เต็มศักยภาพและรวดเร็ว จนถึงขณะนี้เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนกลับเข้าบ้านดำเนินชีวิตได้ตามปกติใกล้ความจริงแล้ว

“ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆระดมสรรพกำลังช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างเต็มที่ ทั้งที่เชียงราย เชียงใหม่ จนถึงขณะนี้เส้นทางสัญจรทางถนน-รถไฟที่เคยถูกน้ำท่วมใช้ได้ตามปกติแล้ว ส่วนการดำเนินชีวิตของประชาชนภาพรวม เริ่มทยอยกลับเข้าบ้าน สามารถใช้น้ำประปา-ไฟฟ้าได้แล้ว บ้านประชาชนที่เสียหายทั้งหลัง ก็ได้สร้างบ้านน๊อกดาวน์ให้โดยกรมราชทัณฑ์ จะเหลือที่อ.แม่สาย ที่ต้องใช้เวลากู้คืนพื้นที่ โดยเฉพาะการดูดดินโคลนในท่อระบายน้ำและอาคารบ้านเรือนที่ยังมีดินโคลนอยู่ ขณะเดียวกันต้องเร่งกำจัดขยะที่ตกค้างด้วย คาดว่าภาพรวมจะฟื้นฟูแล้วเสร็จ ภายในวันที่ 21 ตุลาคมนี้ ตามแผน Quick Win และบางจุดจะเป็นไปตามกรอบที่จะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ส่วนที่จ.ลำพูน บางแห่งที่ยังมีน้ำท่วมขัง ก็ได้เพิ่มเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออก แนวโน้มระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง และ ศปช. ยังเฝ้าติดตามสถานการณ์ฝนภาคใต้อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที” นายจิรายุ กล่าว

นายจิรายุ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อัตราเดียวครัวเรือนละ 9,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุทกภัย และมีค่าช่วยล้างดินโคลนบ้านน้ำท่วม หลังละ 10,000 บาท ทั้งนี้ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 กันยายนและวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา มีประชาชนยื่นคำร้องในระบบ 57 จังหวัด 200,330 ครัวเรือน ปภ.ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินแล้ว 7 ครั้งในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่และสุโขทัย ล่าสุดธนาคารออมสินโอนเงินสำเร็จผ่าน promptpay แล้ว 6 ครั้ง ให้ 17,352 ครัวเรือน จำนวนเงินกว่า 86,888,000 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ต.ค.67)

“การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเป็นอีกเรื่องสำคัญ ขณะนี้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการในทุกขั้นตอน เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับเงินช่วยเหลือเร็วที่สุด หากประชาชนติดขัดปัญหาในขั้นตอนใด สามารถติดต่อสอบถามได้ที่เทศบาล อปท.ในพื้นที่ เน้นย้ำให้ตรวจสอบข้อมูลครัวเรือนว่าอยู่ในการสำรวจของเทศบาลหรือไม่ เพื่อป้องกันรายชื่อที่่อาจตกหล่น” นายจิรายุ กล่าว

นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยให้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว รัฐบาลก็จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจทันที โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี รับทราบมาตรการ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” เป็นโครงการนำร่อง กระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ หลังจากผู้ประกอบการเริ่มทยอยฟื้นฟูกิจการหลังน้ำท่วมใหญ่ คาดดีเดย์วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ยังเตรียมปรับเงื่อนไขมาตรการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบตรงจุดมากที่สุด หากเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้ประชาชน ก็จะพิจารณาขยายหรือต่อยอดโครงการต่อไป

ล่าสุด จ.เชียงใหม่ขานรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงไฮท์ซีซั่น นายจิรายุ กล่าวว่า วันนี้ (14 ต.ค.) ทุกภาคส่วนของจ.เชียงใหม่ ร่วมปฏิบัติการตามแผนฟื้นฟูทำความสะอาดบ้านเมืองทั่วทุกพื้นที่ โดยนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ปล่อยขบวนคาราวานรถน้ำ 200 คัน พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่จาก อบจ.เชียงใหม่ อปท. ตำรวจ ทหารบกและภาคีเครือข่ายรวมกว่า 700 คน ร่วมกันเก็บขยะที่ตกค้าง ทำความสะอาด ฉีดล้างดินโคลนตามท้องถนนสายหลัก ตรอก ซอยต่างๆ ป้องกัน ฝุ่นฟุ้งกระจาย ในพื้นที่ถนนเจริญเมือง ตั้งแต่แยกหนองประทีปจนถึงสะพานนวรัฐให้แล้วเสร็จ ก่อนดำเนินการในเส้นทางอื่นต่อไป เพื่อเร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สะอาด สวยงาม พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮท์ซีซั่นปลายปีนี้

You may also like...