ผลาญเงินแผ่นดิน
รอวันฉิบหายครับ…
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบสิ้นคิดของรัฐบาล นึกอะไรไม่ออกก็แจกเงิน ผลาญงบประมาณแผ่นดินหมดไปกับความมักง่ายของนักการเมือง
รัฐบาลเตรียมแจกเงินหมื่นล็อตสอง
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจวานนี้ (๑๙ พฤศจิกายน) “มาดามแพ” นั่งหัวโต๊ะ เคาะโครงการแจกเงินสดๆ หมื่นบาท ให้ผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป
ตัวเลขกลมๆ ๔ ล้านคน ๔ หมื่นล้านบาท
แจกเป็นอั่งเปาต้อนรับตรุษจีน
นโยบายประชานิยมชัดๆ
ก่อนนี้หน้าไหนที่บอกว่า การแจกเงินหมื่นของรัฐบาล จะเกิดพายุหมุน ๔ ลูก เศรษฐกิจจะเปรี้ยงติดลมบน
แจกล็อตแรกกลุ่มเปราะบาง ๑๔.๕๕ ล้านคน พายุหมุนลูกแรกหมุนหรือยัง
เงียบกริบ!
สวนทางกับที่ “มาดามแพ” พูดไว้เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายนที่ผ่านมา
“วันนี้ที่ประเทศไทยจะถูกกระตุ้นครั้งใหญ่ โดยเงินสดจะถึงมือคนไทย ระบบเศรษฐกิจจะถูกเติมเงินหมุนเวียนกว่า ๑๔๕,๕๕๒ ล้านบาท เป็นการสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจลูกใหญ่ลูกแรก ที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง”
ไหนล่ะครับ
มีหลักฐานยืนยันพายุหมุนลูกแรกหรือเปล่า
ลูกไม่เล็กนะครับ เพราะ “มาดาม” บอกเองว่าลูกใหญ่ มันต้องทิ้งร่องรอยไว้บ้างสิครับ
รอบแรกใช้เงินร่วมๆ ๑.๕ แสนล้านบาท รอบสองใช้แค่ ๔ หมื่นล้านบาท น้อยกว่ากันเยอะ
รอบแรกยังหมุนไม่ไหว แล้วรอบสองจะไปกระตุ้นอะไรได้
พัดมดยังไม่ปลิวเลยครับ
พายุหมุน ๔ ลูกมีจริงครับ…โน้นที่ฟิลิปปินส์
ตลอดเดือนนี้ พายุไต้ฝุ่น ๔ ลูกมีชื่อว่า หยินซิ่ง (Yinxing), โทราจี (Toraji), อุซางิ (Usagi) และหม่านหยี่ (Man-Yi) ซัดฟิลิปปินส์กลิ้งไปแล้ว
เจอแบบนี้สมควรแจกเงินหมื่นให้ประชาชน
แต่ที่ไทย มีเหตุอะไรต้องแจก
ต่อให้รัฐบาลอ้างว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วมันกระตุ้นได้จริงหรือเปล่า
หรือแค่กระตุ้นสันดานแจกของนักการเมือง
ทำแบบนี้รัฐบาลพังเอาง่ายๆ นะครับ
ก่อนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ที่นักการเมืองกำลังรวมหัวกันแก้ไขอยู่นี้ มีการพูดถึงการแข่งกันทำนโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองกันเยอะ
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มีเจตนารมณ์ป้องกันการทำนโยบายประชานิยมอย่างชัดเจน
ความปรากฏในมาตรา ๓๕ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทําร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมเรื่องดังต่อไปนี้ด้วย
(๗) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว
(๘) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนโดยสอดคล้องกับสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ และกลไกการตรวจสอบและเปิดเผยการใช้จ่ายเงินของรัฐที่มีประสิทธิภาพ
ที่ต้องระบุไว้เช่นนี้ เพราะนโยบายประชานิยมมักนำมาซึ่งภาระด้านงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาล
มิใช่มาตรการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนแต่อย่างใด
มีการขาดดุลงบประมาณภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยการที่รัฐต้องกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการประชานิยมอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น
งบประมาณปี ๒๕๖๘ การขาดดุลงบประมาณถึงได้มากเป็นประวัติการณ์
ฉะนั้นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ คือการตรวจสอบการทำนโยบายของฝ่ายบริหารอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะนโยบายประชานิยม
แต่ดูเหมือนว่าถูกละเลยกันอย่างเป็นระบบ
กกต.ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบนโยบายพรรคการเมือง ไม่ได้ใส่ใจนัก
มิหนำซ้ำประชาชนเองก็นิยมชมชอบพรรคการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยมอีกต่างหาก
การซื้อขายนโยบายประชานิยมในการเลือกตั้งจึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
เราผ่านการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง และก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาวมาแล้ว แต่น้อยคนที่จะตระหนักถึง
มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ อย่างน้อย ๒ มาตรา ห้ามทำนโยบายประชานิยม
มาตรา ๖๒ บัญญัติไว้ว่า
“รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และจัดระบบภาษีให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม”
มาตรา ๒๔๕ บัญญัติว่า
“เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอผลการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง ต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณา
ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นพ้องด้วยกับผลการตรวจสอบดังกล่าว ให้ปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หากที่ประชุมร่วมเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบนั้น ให้ร่วมกันมีหนังสือแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชนเพื่อทราบด้วย”
นอกจากนี้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๙ บัญญัติว่า
“คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัดในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”
กฎหมายมันมีอยู่ แต่ไม่มีใครสนใจ
นักร้องว่าไงครับ.
The post ผลาญเงินแผ่นดิน appeared first on .