สส.แห่หารือผลกระทบและการรับมือธรณีพิโรธ
สส.หารือรับมือแผ่นดินไหว ด้าน ‘ครูจวง’ แนะสร้างหลักสูตรวิชาการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติให้ นักเรียน-คนไทยทุกคน ทั้งภาคปฎิบัติ-ทฤษฎี
02 เม.ย. 2568 – ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 28 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ซึ่งมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมได้เปิดให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือนร้อนในพื้นที่ ซึ่งวันนี้สมาชิกต่างหยิบยกเหตุการณ์แผ่นดินไหวมาหารือด้วย
อาทิ นายภัทรพงษ์ ภัทรประสิทธิ์ สส.พิจิตร พรรคภูมิใจไทยหารือว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลจะจริงจังกับเรื่อสินค้า มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพราะไม่ใช่แค่เหล็กและอุปกรณ์ก่อสร้าง ยังรวมไปถึงของเล่นเด็ก อุปกรณ์ไฟฟ้า เพราะ จ.พิจิตร เกิดปัญหาไฟไหม้หลายครั้ง ซึ่งหลายครั้งที่เกิดเหตุเกิดจากสินค้าไม่ได้มาตราฐาน จากเบรกเกอร์ ปลั๊กพ่วง ที่ซื้อมาจากตลาด และรถเร่ จึงขอฝากไปยัง มอก.และกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าไปตรวจสอบด้วย
ขณะที่นายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน หารือว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวนี้ เห็นว่าปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างยิ่งที่นักเรียน และผู้ใหญ่คนไทยทุกคน จำเป็นจะต้องได้เรียนและฝึกทักษะอย่างจริงจังในวิชาการเอาตัวรอด ในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกรูปแบบ และในรอบปีที่ผ่านมา เกิดไฟดูดที่ จ.ตรัง ,รถบัสทัศนศึกษาไฟใหม้ และล่าสุดแผ่นดินไหน ดังนั้นคิดว่าภัยธรรมชาติ รวมถึงอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอด จึงเห็นว่านักเรียน และคนไทยทุกคน ต้องเรียนกับทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฎิบัติ โดยเน้นต้องได้ลงมือปฏิบัติซ้ำๆ จนเกิดทักษะ และสมรรถนะเอาตัวรอดให้ได้
“ดิฉันเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องออกแบบวิชานี้ในโรงเรียน รวมถึงหลักสูตรอบรมระยะสั้น ระยะยาว สำหรับประชาชนทั่วไป โดยต้องเป็นความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรเอ็นจีโอ ภาคประชาสังคมต่างๆ ให้เร่งสร้างวิชานี้ขึ้นมา” นายปารมี กล่าว
ด้านนายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง สส.ขอนแก่น พรรคประชาชน หารือว่า จากเหตุแผ่นดินไหวมีพี่น้องประชาชน จ.ขอนแก่นยังติดอยู่ในซากปรักหักพังของตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถึง 3 คน คือนายสาทิตย์ เหล่าทา น.ส.อนุสรา พรมมา และนายขวัญชัย เหล่าเพ็ง ที่ยังไม่ทราบชะตากรรม และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขอเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี ในการตรวจสอบ และประเมินความเสียหาย สาเหตุของการถล่ม พร้อมทั้งการวางแผนฟื้นฟูการป้องกันเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต รวมไปถึงการทบทวนมาตรฐานในการก่อสร้าง ความปลอดภัยในการทำสัญญาว่าจ้างระหว่างหน่วยงานภาครัฐและบริษัทผู้รับเหมา ซึ่งอาจจะไม่มีมาตรฐานในการดำเนินงาน รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่อาจจะไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งการเตรียมระบบเตือนภัยให้กับพี่น้องประชาชนไว้ด้วย รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาที่รัฐบาลต้องพิจารณา เพราะไม่เฉพาะต้องสูญเสียชีวิต แต่เป็นการสูญเสียรายได้หลักของครอบครัว
ส่วน นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย หารือว่า ที่ จ.แพร่ มีศูนย์ราชการที่กำลังก่อสร้าง แต่ประสบความล่าช้า ทราบว่าผู้รับเหมาอยู่ในกลุ่มบริษัทเดียวกันกับที่สร้างตึก สตง. จึงขอให้ จ.แพรเร่งตรวจสอบด้วย เพราะหากผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการ เข้าไปทำงานในตึกใหม่ที่จะเสร็จในอนาคตอาจจะต้องทำงานด้วยความวิตกกังวล
The post สส.แห่หารือผลกระทบและการรับมือธรณีพิโรธ appeared first on .