สหรัฐฯ ใช้สิทธิยับยัังต่อที่ประชุมยูเอ็น กรณีหยุดยิงในฉนวนกาซา
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2567 กล่าวว่า ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเปิดลงมติเรียกร้องให้ “หยุดยิงทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และถาวร” ในสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสปาเลสไตน์ พร้อมกับ “การปล่อยตัวตัวประกันทั้งหมดทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข”
แต่หนึ่งในมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาได้ใช้สิทธิยับยั้ง (วีโต้) ต่อมติดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่ากลุ่มฮามาสอาจได้ใจ เพราะมติดังกล่าวจะหยุดความเคลื่อนไหวของอิสราเอลและเปิดโอกาสให้ฝั่งตนสามารถสะสมกำลังหรือเคลื่อนย้ายตัวประกันได้ โดยรายละเอียดคล้ายกันนี้ถูกนำเสนอในการเจรจากับคนกลางแล้ว แต่ไม่มีฝ่ายใดยอมรับเงื่อนไข
แดนนี ดานอน ทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติกล่าวว่า มติดังกล่าวไม่ใช่หนทางสู่สันติภาพ แต่เป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความหวาดกลัว, ความทุกข์ทรมาน และการนองเลือดมากขึ้น
“หลายคนพยายามที่จะผ่านพ้นความอยุติธรรมนี้ เราขอขอบคุณสหรัฐอเมริกาที่ใช้สิทธิยับยั้ง” ดานอนกล่าว
โรเบิร์ต วูด ตัวแทนทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติกล่าวว่าจุดยืนของสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ซึ่งก็คือการเชื่อมโยงระหว่างการหยุดยิงและการปล่อยตัวตัวประกัน
สงครามที่เริ่มต้นขึ้นจากการโจมตีอิสราเอลโดยกองกำลังติดอาวุธฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,206 ราย และการตอบโต้ของอิสราเอลในพื้นที่ฉนวนกาซา ทำให้ชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่เสียชีวิต 43,985 ราย
จากตัวประกัน 251 คนที่ถูกจับระหว่างการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ยังคงเหลืออีก 97 คนที่ถูกคุมขังในฉนวนกาซา รวมถึง 34 รายที่กองทัพอิสราเอลระบุว่าเสียชีวิตแล้ว
ชาวกาซาเกือบทั้งหมด 2.4 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐานเนื่องจากสงครามครั้งนี้ ซึ่งได้ก่อให้เกิดหายนะด้านมนุษยธรรม
กลุ่มฮามาสออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลวอชิงตันว่าเป็น “ผู้สมรู้ร่วมคิดในการรุกรานประชาชนของเรา พวกเขาเป็นอาชญากร,ฆ่าเด็กและสตรี และทำลายชีวิตพลเรือนในฉนวนกาซา”
ตั้งแต่เริ่มเกิดความขัดแย้ง คณะมนตรีความมั่นคงพยายามอย่างหนักที่จะกดดันด้วยการแบ่งฝั่งอย่างชัดเจน เนื่องจากมีแต่สหรัฐฯ ที่ใช้สิทธิยับยั้งหลายต่อหลายครั้ง แม้ว่าบางครั้งรัสเซียและจีนก็ใช้เช่นกัน
“จีนยังคงเรียกร้องให้ใช้คำพูดที่แข็งกร้าวกว่านี้” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าว และยังอ้างว่ารัสเซียได้ใช้เส้นสายกับประเทศที่รับผิดชอบในการผลักดันมติล่าสุด
ทั้งนี้ มีมติไม่กี่ฉบับที่สหรัฐฯ อนุญาตให้ผ่านไปได้โดยการงดออกเสียง ซึ่งแน่นอนว่ามติเหล่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องให้หยุดยิงอย่างไม่มีเงื่อนไขและถาวร
ในเดือนมีนาคม คณะมนตรีฯเรียกร้องให้หยุดยิงชั่วคราวในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม แต่ฝ่ายที่ทำสงครามกันกลับเพิกเฉยต่อคำอุทธรณ์นี้
และในเดือนมิถุนายน คณะกรรมาธิการ 15 ประเทศได้ให้คำมั่นสนับสนุนมติของสหรัฐฯ ที่วางแผนการหยุดยิงหลายขั้นตอนและปล่อยตัวตัวประกัน ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่ได้ผล
“เราเสียใจที่คณะมนตรีไม่เลือกใช้ภาษาประนีประนอมที่สหราชอาณาจักรเสนอมาเพื่อเชื่อมช่องว่างที่มีอยู่ หากมีการใช้ถ้อยความดังกล่าว มติฉบับนี้คงได้รับการรับรองไปแล้ว” ทูตสหรัฐฯ กล่าวหลังจากการลงคะแนนเสียง
ออนดินา โบลการ์ โดรบิช ตัวแทนทูตสโลวีเนียประจำสหประชาชาติกล่าวว่า “เราเสียใจที่ถูกใช้สิทธิยับยั้งต่อกรณีสงครามซึ่งส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรม และผลกระทบที่ตามมาถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ”
นักการทูตบางคนแสดงความหวังว่าหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีโจ ไบเดนอาจมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่เหลือของการดำรงตำแหน่ง
พวกเขาหวังว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับเดือนธันวาคม 2559 เมื่อวาระที่สองของประธานาธิบดีบารัค โอบามากำลังจะสิ้นสุดลง และสภาได้ผ่านมติเรียกร้องให้หยุดการสร้างนิคมอิสราเอลในดินแดนที่ถูกยึดครอง ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2522
สหรัฐฯ งดใช้สิทธิยับยั้งในครั้งนั้น ซึ่งเป็นการหยุดการสนับสนุนอิสราเอลตามแบบแผนที่สหรัฐฯ เคยทำในประเด็นละเอียดอ่อนเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐาน
ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า “สหรัฐฯ ใช้สิทธิยับยั้งอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าอิสราเอลไม่ต้องรับโทษใดๆ ในขณะที่กองกำลังของพวกเขายังคงก่ออาชญากรรมต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา”
มติที่ถูกยับยั้งในวันพุธเรียกร้องให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่ดินแดนกาซาอย่างปลอดภัยและไม่มีอุปสรรคในทุกระดับ และประณามความพยายามใดๆ ที่จะทำให้ชาวปาเลสไตน์อดอยาก
มาเจด บามยา ทูตปาเลสไตน์ประจำสหประชาชาติกล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะใช้สิทธิยับยั้งมติที่พยายามยุติการกระทำอันโหดร้ายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์.