หรืออยากฟังเพลงมาร์ช

เขาว่าเป็นร่างกฎหมายป้องกันรัฐประหาร

ข่าววานนี้ (๖ ธันวาคม) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่การรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ. … เป็นการแก้ไขฉบับปี ๒๕๕๑ ที่ “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะได้เสนอ ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็น

เบื้องต้นได้รับคำวินิจฉัยจากประธานสภาฯ ว่าไม่เป็นร่างการเงิน และได้เปิดรับฟังความเห็น ตั้งแต่วันที่ ๒ ธันวาคม ไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม ๒๕๖๘       

จากการเปิดรับฟังความเห็นมาแล้ว ๔ วัน มีผู้ให้สนใจเรือนหมื่น เห็นด้วยมากกว่าไม่เห็นด้วย สัดส่วนประมาณ ๗๐/๓๐

ไปดูรายละเอียดกันหน่อยครับว่าร่างกฎหมายป้องกันรัฐประหาร มีหน้าที่เป็นอย่างไร หล่อเหลาประมาณไหน

หลักการและเหตุผลของร่างกฎหมาย ให้อำนาจคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลที่ผ่านการพิจารณาจาก คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น

ให้เหตุผลว่า การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ แม้จะมีการแต่งตั้งกรรมการ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นกรรมการ แต่การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลมีการวางตัวบุคคลที่เป็นพวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้สืบสายเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่อไป

ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับนายทหารที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่ใช่พวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ

คนที่ไม่ใช่พวกพ้องเสียโอกาสได้ก้าวหน้าในชีวิตราชการทหารและทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลขาดความโปร่งใส

ดังนั้นจึงควรให้อำนาจ ครม.เป็นผู้พิจารณา

อีกทั้งควรปรับองค์ประกอบของกรรมการให้เหมาะสม รวมถึงองค์ประกอบของสภากลาโหม ให้หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นสมาชิกสภากลาโหม

ให้นายกฯ เป็นประธานสภากลาโหม แทน รมว.กลาโหม

และตัดกองทัพออกจากสภากลาโหมบางส่วน ให้เหลือเพียง ๑-๒ คนก็เพียงพอ

ร่างแก้ไขยังเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายทหารชั้นนายพล

๑.ไม่เคยมีพฤติกรรม เป็นผู้อิทธิพลหรือพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

๒.ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือประกอบธุรกิจหรือกิจการอันเกี่ยวข้องกับราชการกระทรวงกลาโหม

๓.ไม่อยู่ระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยหรือถูกดำเนินคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หมิ่นประมาท หรือลหุโทษ

สิ่งที่เพิ่มเติมมาอีกประเด็น อยู่ในมาตรา ๓๕ เดิม กำหนดหน้าที่ทหารเพื่อปราบปรามจลาจล แต่ว่าร่างแก้ไขได้เพิ่มข้อห้ามใช้กำลังทหารหรือข้าราชการทหาร ในกรณีของการยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล

หรือเพื่อก่อการกบฏ

รวมถึงขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการส่วนราชการต่างๆ

ห้ามใช้กำลังพลเพื่อธุรกิจหรือกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา และกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายอื่นๆ

ข้าราชการทหารที่ได้รับคำสั่งให้ทำ ย่อมมีสิทธิไม่ปฏิบัติตาม และไม่ถือว่าผิดวินัยทหารหรือกฎหมายอาญาทหาร

มีการเพิ่มบทลงโทษนายทหารที่ฝ่าฝืนหรือพบการเตรียมการผิดดังกล่าว ด้วยการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ชั่วคราวตามคำสั่งของนายกฯ เพื่อให้เกิดการสอบสวนโดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการพักราชการตามที่กฎหมายกำหนด

มาตรา ๓๕ นี้มีเจตนารมณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารได้ใช้อำนาจในทางที่ผิดและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ครับ…นั่นคือสาระสำคัญของร่างกฎหมายป้องกันรัฐประหาร

ทีนี้มาดูความจริงที่ปรากฏ

พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ กำเนิดขึ้นเพราะมีการแทรกแซงการแต่งตั้งนายพลโดยฝ่ายการเมือง จนทำให้ระบบภายในของกองทัพรวน

ยกตัวอย่างชัดๆ “พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร” ญาติผู้พี่ของ “ทักษิณ ชินวัตร” โผล่พรวด ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกในเดือนกันยายน ๒๕๔๖ ท่ามกลางข้อครหา “ทักษิณ” สร้างฐานอำนาจอย่างครบวงจร

จึงไม่แปลกที่เพื่อนทักษิณจาก “ตท.๑๐” ร่วมๆ ๓๕ คน  คุมกำลังหลักทั้งในกองทัพบก เรือ อากาศ  

บางคนคุมนโยบายและงบประมาณในกองบัญชาการทหารสูงสุด

ในสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมก็ไม่รอด

ล้วนเป็นคนของ “ทักษิณ” ทั้งหมด

ใครที่ไม่ใช่พวก “ทักษิณ” ได้แต่มองตาปริบๆ

อีกกรณีซึ่งเป็นข่าวอื้อฉาวจากปาก “ทักษิณ” นั่นก็คือ การลำเลิกบุญคุณกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ทบ. ที่ “ทักษิณ” ตั้งเองกับมือ

“ทักษิณ” ถึงได้ด้อยค่า “ลุงป้อม” ว่ามาเกาะโต๊ะขอตำแหน่ง

 “…ท่าทีและน้ำเสียงขึงขังน่ากลัวจัง ไม่นุ่มนวลอ่อนหวานเหมือนตอนมาเกาะโต๊ะขอเป็น ผบ.ทบ.เลย…”

นั่นคือข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์!

ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าก่อนมี พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ การแต่งตั้งนายทหารระดับสูงที่มีความสำคัญทางการเมือง เช่นตำแหน่ง ผบ.ทบ.นั้น มีการแทรกแซงทางการเมืองตลอดเวลา

มาถึงคำถามสำคัญ หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาฯ และมีผลบังคับใช้ จะสามารถป้องกันการรัฐประหารได้จริงหรือไม่

ตอบแบบไม่ต้องคิด ฝันเฟื่องครับ ปัญญาอ่อน

ก็รู้อยู่แล้วว่า การทำรัฐประหารไม่มีใครแจ้งล่วงหน้า

พร้อมเมื่อไหร่คือยึด!

เสร็จแล้วฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งทันที

กะอีแค่พระราชบัญญัติธรรมดาๆ ทำไมคณะรัฐประหารจะฉีกทิ้งแล้วเขียนใหม่ไม่ได้

ในทางกลับกัน ร่างกฎหมายฉบับนี้อาจเป็นตัวเร่งให้มีการทำรัฐประหารก็ได้ เพราะการเมืองต้องการเข้าไปแทรกแซงเขา

ฉะนั้นหูตาสว่างกันเสียทีเถอะครับ วิธีการป้องกันรัฐประหารที่ได้ผลที่สุดคือ ฝ่ายการเมืองอย่าสร้างเงื่อนไข

โดยเฉพาะการคอร์รัปชัน

ถ้ายังไม่หยุดโกงบ้านกินเมือง ใช้อำนาจเพื่อตัวเองและพวกพ้อง เดี๋ยวก็ได้ฟังเพลงมาร์ชกันอีก.

The post หรืออยากฟังเพลงมาร์ช appeared first on .

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *