อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง ‘จุดเสี่ยง’ รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก
ประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนอยู่แล้วและยังค้างคาอยู่ เช่น เรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมายนิรโทษกรรม ประชามติ ตอนนี้ก็มีเรื่อง MOU การเปิดกาสิโน…แต่ละเรื่องดูแล้วมันประมาทไม่ได้ ถ้าไม่สามารถทำให้สังคมยอมรับ หรือมีเหตุมีผลที่ให้กับสังคมแล้วสังคมมั่นใจ มันสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอะไรหลายอย่าง…ตอนนี้มันล้อมตัวอยู่ เขาวางไว้เองหลายลูก ผมว่าปัญหาหลายเรื่องมันเกิดจากท่าทีในอดีต จากนโยบายหาเสียง จากผลประโยชน์ที่แกะไม่ออก…มันก็เลยอยู่รอบๆ ตัว
แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ ต้องถือว่ายังเป็นนักการเมืองที่สังคมให้น้ำหนักและรับฟังอยู่เสมอ
“ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด” สัมภาษณ์พิเศษ “อภิสิทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี” ในหลายประเด็น ทั้งมุมมองต่อการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ, ข้อเสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ยังคงเป็นประเด็นการเมืองที่ต้องจับตากันต่อไปว่าจะเดินไปอย่างไร หลังสภาฯ เปิดสมัยประชุมรอบนี้ไปแล้วเมื่อ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา หรือเรื่องปมปัญหา MOU 2544 ที่ครั้งหนึ่งสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็เคยนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุม ครม. รวมถึงอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ
เริ่มด้วยการที่ “อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์” พูดถึงบริบทต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์โลกที่เชื่อมโยงกับประเทศไทย เช่น ระบบเศรษฐกิจ โดยมองว่ามีปัจจัยที่สำคัญที่จะยังอยู่กับเราไปอีกนาน ประกอบด้วยเรื่องของ 1.เทคโนโลยี ที่สิ่งต่างๆ ต้องถูกขับเคลื่อนด้วยความรวดเร็ว ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อย่างช่วงหลังจะเห็นได้ว่าหลายคนตื่นเต้นเรื่องความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ และตอนนี้ก็มี Quantum Computing เข้ามา ที่จะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการประมวลข้อมูล ที่จะส่งผลกระทบค่อนข้างกว้างขวางต่อการใช้ชีวิตของแต่ละคน ทั้งในแง่โครงสร้างเศรษฐกิจและการเมือง
2.เรื่องของ “โลกาภิวัตน์” ที่ผมใช้คำว่า “ติดหล่ม” คราวนี้ก็น่าจะหนักหน่วงขึ้น เพราะว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาก็จะใช้เรื่องของ “ภาษีทางการค้า” มาเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ถึงตอนนี้พบว่าท่าทีไม่มีถอยมีแต่จะลุยอย่างเดียว
ส่วนคำว่าติดหล่ม หมายถึงหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง เราก็มองว่าโลกจะเชื่อมโยงเข้าหากัน จะทำให้การค้าการลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่พบว่าช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลง สัดส่วนของการค้าระหว่างประเทศเทียบกับเศรษฐกิจโลก สัดส่วนของการลงทุนข้ามชาติเทียบกับเศรษฐกิจโลก ภาคการค้าไม่เพิ่ม การลงทุนค่อนข้างจะลดลง
เรื่องนี้สำคัญกับไทย เพราะประเทศเราเป็นระบบเศรษฐกิจที่เปิดมาก คือต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวเยอะมาก ซึ่งโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ประกาศแล้วว่าจะทำเร็วด้วย เริ่มจากเม็กซิโก, แคนาดา ประเทศไหนได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่รวมถึงไทยซึ่งอยู่ลำดับ 12 ที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ก็จะใช้เรื่องพวกนี้ และไม่ใช่แค่ใช้กับเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต่อไปนี้ถ้าไม่พอใจใครเรื่องอะไร เช่น เรื่องปัญหายาเสพติด ก็จะใช้เรื่องนี้ (ภาษีการค้า) เป็นเครื่องมือ ที่พอไปทำกับจีนและอีกหลายประเทศ มันก็เหมือน “สงครามการค้า” จะเกิดอีกรอบ
การค้าระหว่างประเทศก็จะถดถอย โลภาภิวัตน์อาจจะไม่ติดหล่มแล้ว แต่อาจจะถอย ก็ทำให้เราจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ผมคิดว่าเราอย่าเพิ่งไปวางใจ บางคนบอกว่า หากจีนโดนเรื่องภาษีการค้าหนัก จะมาที่นี่ (ประเทศไทย) เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ทันเข้ามา สหรัฐฯ เพิ่งเพิ่มภาษีแผงโซลาร์เซลล์ที่เราส่งออกไป แต่ไปตรวจสอบจริงๆ พบว่าเป็นบริษัทจีน ผมเชื่อว่าสหรัฐฯ ก็ต้องเริ่มมองแล้วว่าป้องกันไม่ให้สินค้าจีนเข้าไป ไม่ได้หมายความว่าจะมาจากจีนอย่างเดียว คือหากไปผลิตที่ประเทศอื่นก็อาจโดนไปด้วย
3.ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเรื่องของสงครามการค้าสงครามเศรษฐกิจก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่าความขัดแย้งทางความคิด การพยายามช่วงชิง สหรัฐฯ ก็ยังประกาศยืนยันว่า ตัวเองต้องเป็นเบอร์หนึ่งของโลก จีนก็ยืนยันว่าจะไม่ยอมให้โลกตะวันตกเข้ามาครอบงำ มันก็เกิดความตึงเครียด ก็ส่งผลต่อทุกประเทศทั่วโลก ประเทศไทยก็ต้องระมัดระวังมากว่า เราจะรักษาความสัมพันธ์กับทั้งสองฝ่ายอย่างสมดุลได้อย่างไร
4.ความขัดแย้งระหว่างประชาชน ความหมายทางการเมืองคือประชาชนที่แบ่งขั้ว ซึ่งความจริงเราแทบจะเป็นต้นตำรับ ถึงแม้ว่าตอนนี้อาจจะมีการสลับขยับขั้วกันบ้าง แต่ความหมายของผมคือการที่คนไม่ค่อยยอมรับการพูดคุย ใช้เหตุผลกับผู้เห็นต่าง แต่มองว่าคนที่เห็นต่างคือศัตรู อารมณ์เป็นแบบนี้อยู่ ก็ยังอยู่กับเรา แต่ของเราที่เติมเข้าไปก็คือความต่างระหว่างรุ่น และโดนซ้ำเติมด้วยเรื่องของ “ความเหลื่อมล้ำ” และผลกระทบกับคนจำนวนมากทางด้านเศรษฐกิจ ที่รูู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่เข้ามาอีก เป็นต้น
-คิดว่าเรื่องไหนอ่อนไหวมากที่สุด?
สำหรับประเทศเรา ผมก็มองว่าความขัดแย้งและความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำ มันเป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวังตลอดเวลา เพราะมันสามารถที่จะเปลี่ยนมาเป็นความขัดแย้ง ความรุนแรง หรือเกิดปฏิกิริยาอะไรต่างๆ ได้ ซึ่งความเหลื่อมล้ำดังกล่าว คนทั่วๆ ไปก็จะมองเรื่องเศรษฐกิจก่อน แต่ความจริงเรื่องที่มันละเอียดอ่อนกว่า
คือเราอยู่ภายใต้กฎหมายที่เท่าเทียมกันหรือไม่ เพราะความร่ำรวย ความยากจน บางคนก็มองว่ามีเหตุปัจจัยต่างๆ แต่มันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้คนไม่เท่ากันทางกฎหมาย และของเราที่เพิ่งผ่านมา เรื่อง “ชั้น 14” เรื่องอะไรต่างๆ การพักโทษ เรื่องเหล่านี้ก็ค่อนข้างเข้ามาซ้ำเติม ซึ่งมันไม่ควรจะเป็น
หากบอกว่าทุกอย่างมีกระบวนการ มีกฎระเบียบ ซึ่งหากใช้อย่างเสมอภาคกันก็ไม่มีปัญหา แต่ทุกอย่างที่ออกมาตอนนี้ จากข่าวที่ปรากฏออกมา และความรู้สึกของผู้คน มันกลายเป็นว่าเฉพาะคนบางกลุ่มได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้
-มองปรากฏการณ์การตั้งรัฐบาลที่มีการสลับขั้ว การหลอมรวมขั้วการเมืองใหม่อย่างไร?
มันก็เป็นเรื่องแปลก หากสมมุติว่าเราหลับไปเมื่อสัก 5-6 ปีที่แล้ว และวันนี้เราคงตกใจ พรรคการเมืองที่อยู่ร่วมกับพรรคการเมืองของคุณทักษิณ ชินวัตร มีพรรคประชาธิปัตย์ มีพรรครวมไทยสร้างชาติ เอ่อ แปลกประหลาดไหม เปิดโทรทัศน์ อ้าวคุณจตุพร พรหมพันธุ์ ออกมาเล่นงานคุณทักษิณ มันก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ แต่ที่มันเหลือเชื่อกว่านั้น ก็คือขณะที่หลายสิ่งหลายอย่างเหมือนมีการเปลี่ยนแปลงแบบไม่น่าเชื่อ แต่ภาพรวมการเมืองไทยมันเหมือนติดหล่มอยู่ที่เดิม
อย่างเรื่องรัฐธรรมนูญก็ยังเป็นปม ผ่านมา 7 ปีแล้วก็ยังขยับอะไรแทบไม่ได้ รัฐบาลก็ยังเป็นรัฐบาลผสม และไม่ได้มีความชัดเจนในเรื่องความคิดร่วม แนวทาง แต่ว่าเป็นการเรียกว่าแบ่งปันกันไป ใครจะดูแลกระทรวงไหนอย่างไร แล้วก็เหมือนกับเป็นการรวมตัวกันเพื่อสู้หรือป้องกัน ไม่ให้พรรคฝ่ายค้านมีโอกาสที่จะมาเป็นรัฐบาล โดยอาจจะอ้างประเด็นบางประเด็นที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเราก็ยังวนเวียนอยู่กับความหวาดระแวงของทั้งสองฝ่าย ภาคประชาชนก็วิตกกังวลในเรื่องที่เป็นเรื่องเดิมๆ เช่นการทุจริตคอร์รัปชัน กระบวนการยุติธรรม การเสียดินแดน อีกฝ่ายหนึ่งก็หวาดระแวงว่าคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เตรียมที่จะหาทางจ้องจะล้มรัฐบาล หรือหาทางที่จะนำไปสู่การรัฐประหารหรือไม่ ก็เลยกลายเป็นว่าการเมืองโดยภาพรวมมันขยับน้อยมาก
-เมื่อตอนต้นบอกว่าโลกาภิวัตน์ติดหล่ม แล้วแบบนี้อะไรติดหล่ม?
อันนี้ก็ติดหล่ม และปัจจัยทั้งหมด มันน่ากลัวก็คือทำให้เศรษฐกิจไทยติดหล่ม เพราะเราก็บ่นกันเยอะ ตอนนี้แค่ลุ้นกันว่าให้เศรษฐกิจโต 3 เปอร์เซ็นต์ก็ดีใจแล้ว จากเมื่อก่อน เลขสองหลัก ตัวเลข 7 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องปกติ ต่ำกว่า 5 ถือว่าแย่แล้ว ปัญหาคือโลกาภิวัตน์ติดหล่ม ก็ทำลายโอกาสเรา เพราะเราเศรษฐกิจเปิด เทคโนโลยีวิ่งไปเร็ว เรามีอาการหลายอย่างที่บอกว่าตามไม่ทัน เรื่องโลกร้อนก็มาบั่นทอน ทั้งเรื่องภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ก็ทำให้ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ก็เหมือนกัน ก็มาทำให้เราต้องมาติดร่างแหหรือโดนลูกหลง เวลามีการตอบโต้กันไปมา ที่สำคัญเลยทำให้เศรษฐกิจไทยรอคอยการปรับโครงสร้างหลายอย่าง แต่การปรับโครงสร้างหลายอย่าง หากการเมืองไม่เข้มแข็งก็ทำไม่ได้
อย่างที่เราคุยกันวันนี้ เพิ่งผ่านเหตุการณ์ข้อเสนอ สูตร 15-15-15 (การปรับการจัดเก็บภาษี) ที่น่าสนใจก็คือ การปฏิรูประบบภาษีเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเท่าที่เป็นอยู่รัฐบาลไทยขาดดุลเรื้อรัง หนี้สะสม คนไม่พอใจอยู่แล้ว และ 2.ทุกคนอยากได้สวัสดิการ ที่คือต้องเพิ่มรายจ่ายขึ้นไป แต่ก็ยังไม่ได้มีการพูดให้ชัดจะหารายได้จากไหน 3.ภาษีเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ในการปรับลดเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ จึงเป็นเรื่องที่หากทำให้เป็นระบบ ทำให้มีความตื่นตัว โดยฝ่ายการเมือง แสดงออกให้สังคมรับรู้ถึงปัญหานี้ แล้วมาถกกันว่าจะมีทางที่จะขยับตรงไหนอย่างไร โดยมีเป้าหมายชัดเจน เช่นไม่อยากขาดดุลแล้ว อยากมีระบบสวัสดิการและอยากลดความเหลื่อมล้ำ แล้วมาคุยกันว่าภาษีตัวไหนต้องลด ภาษีตัวไหนต้องเพิ่ม จะดีมากเลย แต่อันนี้ไม่รู้อะไรไปดลบันดาลใจจะให้ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วไปลดภาษีนิติบุคคล จนต้องถอยกลับไป ที่ต่อไปก็ไม่รู้ว่าจะมีอะไรคืบหน้าหรือไม่ในเรื่องการปรับภาษี
คือต้องมีทิศทางที่ชัด และหยิบเอาประเด็นที่พรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้แต่พรรคฝ่ายค้านเองก็ไม่ได้มีปัญหา อย่างปฏิกิริยาของฝ่ายค้านต่อเรื่องภาษี เขาก็ติงเรื่อง VAT แต่เขาก็เหมือนยอมรับกลายๆ ว่าภาษีต้องมีการปรับ หรือหากพูดเรื่องการปรับโครงสร้างการศึกษา การสร้างทักษะ ผมก็มองไม่เห็นว่าใครจะค้าน แต่ไม่รู้ว่าทำไมถึงยังมาวนเวียนกับเรื่องอย่างกาสิโน ซึ่งนโยบายหาเสียงหรือนโยบายเร่งด่วน ที่ตอนนี้ผ่านเกือบจะสองปี ก็รู้อยู่แล้วว่ามีปัญหาอะไร แต่เหมือนกับไม่ยอมให้มันจบ ก็ปล่อยให้คาราคาซังอยู่แบบนี้
-การหลอมรวมขั้วการเมือง มันตอบโจทย์ประเทศหรือไม่หากมองเชิงบวก?
ถ้ารวมกันแล้ว มันมีความชัดเจนว่าจะพาประเทศไปทางไหน ผมว่ามันก็ยังพอเข้าใจได้ แต่ขณะนี้ถูกมองว่ารวมเพื่อกันอีกฝ่ายหนึ่ง และเรื่องใหญ่ๆ ของประเทศก็ไม่ได้มีความพยายาม ในการแสดงออกถึงความเห็นพ้องต้องกันและการหยิบเรื่องขึ้นมา ก็กลายเป็นว่าอย่างเรื่องเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ที่หัวหน้าพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งก็ออกมาบอกว่าไม่เอา ก็เลยกลายเป็นว่าไม่ได้มาเพื่อสลายขั้วเพื่อจะพาไปข้างหน้า แต่เป็นการสลายขั้วเพื่อให้สมประโยชน์
-การหลอมรวมขั้วแบบนี้อายุจะยาวนานหรือไม่ หลังเลือกตั้งสมัยหน้า จะทอดเวลาไปได้อีกสักหนึ่งสมัยหรือไม่?
มันมีความเป็นไปได้ที่จะทอดไปอีกหนึ่งสมัย เพราะวัตถุประสงค์ก็คือตรงนั้น แต่ถามว่าเพื่ออะไรต่อไป ตอบไม่ได้ ก็มีการมาถามให้ผมวิเคราะห์เช่น พวกต่างประเทศ มาให้ผมวิเคราะห์ อยากรู้เรื่องการเมืองไทย ผมก็พูดเสมอว่าหากไม่มีอะไรที่รุนแรงมาก ยังไงสภาฯ คงอยู่ครบเทอม เขาก็แปลกใจทำไมอยู่ครบ ผมก็บอกว่าอยู่ครบ เพราะทุกพรรคที่เป็นรัฐบาลไม่มีใครอยากเลือกตั้งเร็ว และต้องหาทางว่าทำอย่างไรเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง ก็อยากเป็นพันธมิตรกันอยู่
-คิดว่านายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จะอยู่ครบสมัยหรือไม่?
ตัวนายกฯ ผมไม่เคยพูด ไม่เคยกล้าที่จะไปรับประกันว่าจะอยู่ครบ ด้วยเหตุที่ว่าเราไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุแบบไหนอย่างไร และประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนอยู่แล้ว และยังค้างคาอยู่เช่นเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมายนิรโทษกรรม หรือเรื่องประชามติ ตอนนี้ก็มีเรื่อง MOU หรือเรื่อง VAT ที่ฉายหนังออกมา เรื่องการเปิดกาสิโน แต่ละเรื่องดูแล้วมันประมาทไม่ได้ ถ้าไม่สามารถทำให้สังคมยอมรับ หรือมีเหตุมีผลที่ให้กับสังคมแล้วสังคมมั่นใจ มันสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอะไรหลายอย่าง และเข้าใจว่าคำร้องก็มีอยู่เต็มไปหมดตามหน่วยงานต่างๆ
สำหรับสภาฯ กับการรวมกันของพรรคการเมืองเหล่านี้ ผมว่าน่าจะยังอยู่ เพราะไม่มีใครอยากไปเลือกตั้งเร็ว เพราะอย่างไรก็ตามโอกาสจะชนะพรรคฝ่ายค้านไม่ง่าย แม้ตอนนี้พรรคเพื่อไทยจะแสดงความมั่นอกมั่นใจมากขึ้นก็ตาม
-อายุของสภาฯ จะครบหรือไม่ ไม่ได้ผูกโยงกับตัวนายกฯ แพทองธารหรือ?
ถ้านายกฯ อยู่ไม่ครบ ผมว่าก็จะเป็นอาการเหมือนคล้าย ๆ กับคุณเศรษฐา ทวีสิน และคงมีการสรรหาใหม่ทำนองนี้ มากกว่าการยุบสภาฯ
-สมมุติหากมีอะไร แล้วคุณทักษิณแนะนำนายกฯว่าให้ยุบสภาฯ ล้างไพ่?
ต้องถามว่าแล้วคุณทักษิณจะแนะนำแบบนั้นทำไม เพราะคุณทักษิณก็มีวาระที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง คนใกล้ชิด ที่ยังต้องการให้ลุล่วงอีกหลายเรื่อง ทั้งหมดอยู่ที่การเลือกประเด็นที่จะมาผลักดัน และการคำนึงถึงแรงเสียดทานทั้งหลายในสังคม
-มองการทำงานของสองนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ในช่วงเกือบ 15 เดือนที่ผ่านมาอย่างไร?
ผมมองว่าคุณเศรษฐาเข้ามา สิ่งหนึ่งที่พยายามทำก็คือ พยายามฉายภาพของการที่ประเทศไทยกลับเข้าไปเชื่อมกับโลกมากขึ้น มันเป็นความได้เปรียบจากการที่นายกฯ คนก่อน เคยมีปัญหากับโลกตะวันตก เพราะเคยทำรัฐประหาร เราก็จะเห็นการเดินทางไปเยอะ (ต่างประเทศ) เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการเข้ามาลงทุน เพียงแต่คุณเศรษฐาก็ต้องมาแก้ปมเรื่องแจกเงินหนึ่งหมื่นบาท ค่าแรง 400 บาท และมาเจอปัญหาที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน เช่นข้อกฎหมาย ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เลยยังไม่ค่อยได้ทำอะไร แล้วสุดท้ายมาเจอเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ในการแต่งตั้งบุคคลที่เคยมีปัญหาเรื่องประวัติ และไปเกี่ยวข้องกับเรื่องมาตรฐานจริยธรรม
ส่วนนายกฯ ปัจจุบัน คนก็มองว่ามีความชัดเจนขึ้นเรื่องการกระชับอำนาจ ว่าจริงๆ แล้วเพื่อไทยก็คือพรรคของคุณทักษิณ ปฏิเสธยากมาก บทบาทก็ยังสูงอยู่ ก็มาชี้นำ เดิมก็อาจคิดว่าน่าจะมาทำให้การผลักดันต่างๆ ง่ายขึ้น แต่กลายเป็นว่าปมของคุณทักษิณเองเรื่องชั้น 14 ย้อนกลับมาทำให้เป็นปัญหามากขึ้น ข้อกฎหมายเรื่องการครอบงำทำให้การขยับอะไรก็ยาก และนายกฯ ปัจจุบันความที่อาจขาดประสบการณ์หลายอย่าง แล้วเวลาเผชิญกับประเด็นที่มีความสลับซับซ้อน มีความยากทางเทคนิค ก็ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าจะจัดการกับเรื่องเหล่านี้ ทำให้คำตอบหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี, MOU เลยยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นได้
-ถ้าเป็นการทดลองงาน 3 เดือนถือว่าผ่านหรือไม่?
ความจริงมันไม่ควรเป็นการทดลองงานสำหรับตำแหน่งแบบนี้ แต่อยู่ที่ทำอย่างไร เข้ามาแล้วเข้าใจงานให้เร็วที่สุด ซึ่งผมไม่ได้คาดหวังว่าใครจะเข้าใจงานหมด งานแบบนี้ แต่ต้องเข้าใจให้เร็วที่สุด ต้องเรียนรู้ให้เร็ว แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง ตอนนี้ก็เห็นมีวิวาทะกันอยู่ เช่นไม่ไปสภา จะไปแถลงผลงาน ก็แสดงให้เห็นว่า ความชัดเจนต่อประเด็นของระบบและบทบาทก็ยังเป็นปัญหา ซึ่งความจริงแล้วตัวรัฐบาล โดยเราไม่ได้ไปเจาะจงเรื่องตัวนายกฯ หรือใคร หากว่ารัฐบาลมีทิศทางที่ชัดก็จะช่วยได้เยอะ เพราะทำให้บุคลากรของรัฐบาลทั้งหมด สามารถจะมาช่วยกันได้ เช่นช่วยกันคิด ช่วยกันอธิบาย แต่ตอนนี้มันเหมือนกับแต่ละเรื่อง ก็แล้วแต่ใครจะหยิบขึ้นมา อย่างแนวคิดเรื่องปรับภาษี พรรคการเมืองอื่นคงไม่ได้รับรู้ด้วย หรือที่เสนอเรื่อง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมกันขึ้นมา มันก็เลยบั่นทอนอยู่ตลอดเวลา
-เหมือนกับบอกว่าที่หลอมรวมกันรอบนี้ หากเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศมันก็ดี แต่ที่ดูเหมือนกับเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์หรือไม่?
เป็นการรักษาอำนาจ แต่อำนาจจะเอาไปใช้ทำอะไร
-บางคนบอกว่าการเกิดขึ้นของขั้วนี้ ทำให้ระบอบทักษิณฟื้นคืนชีพ ค่าใช้จ่ายรอบนี้ให้กับระบอบทักษิณ ประเทศชาติต้องใช้จ่ายเยอะ เห็นด้วยหรือไม่?
ต้องระมัดระวังตรงที่ใช้คำว่าระบอบทักษิณ มันไม่ได้แปลว่าถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแล้วต้องเป็นระบอบทักษิณ คำว่าระบอบทักษิณ นิยามที่ดีที่สุดก็คือ คำวินิจฉัยของศาล รธน.ในอดีต ที่บรรยายไว้หมดว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง เช่นการเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระ การไปแทรกแซงสื่อ-ระบบราชการ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ของแบบนี้ผมก็หวังว่าจะมีการพยายามเรียนรู้จากบทเรียนในอดีตบ้าง แต่ถ้าถามวันนี้อารมณ์ความรู้สึกของหลายคน ก็บอกว่าทำท่าจะซ้ำรอยเดิมอยู่เรื่อย ก็ยังหวังอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้มีการเก็บเกี่ยวบทเรียนในอดีต หลีกเลี่ยงอย่าไปเดินซ้ำรอยเลยและทำในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จะเป็นการดีสำหรับพรรครัฐบาลด้วย
-คิดว่าระเบิดลูกไหนน่าจะเป็นพิษภัยมากที่สุดสำหรับรัฐบาล?
ตอนนี้มันล้อมตัวอยู่ เขาวางไว้เองหลายลูก ผมว่าปัญหาหลายเรื่องมันเกิดจากท่าทีในอดีต จากนโยบายหาเสียง จากผลประโยชน์ที่แกะไม่ออกในเรื่องนั้นเรื่องนี้ มันก็เลยอยู่รอบๆ ตัว ผมถึงบอกว่าหากอยากฝ่าวงล้อมออกไป ต้องหาจุดที่เป็นจุดร่วมที่จะพาคนเดินไป แล้วก็เลี่ยงเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ซึ่งก็ไม่ได้แก้ปัญหาของประเทศด้วยที่หยิบขึ้นมาแต่ละเรื่อง
ข้อเสนอผ่าทางตัน แก้ไขรัฐธรรมนูญที่ล่าช้า
-เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นวาระของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่บอกว่าจะต้องทำ รธน.ฉบับใหม่ ที่อย่างน้อยต้องมีสมาชิกสภาร่าง รธน.ก่อนเลือกตั้ง แต่ตอนนี้ดูแล้วอาจไม่ทัน?
เป้าหมายเดิมพูดไว้เยอะว่า อยากให้มีสมาชิกสภาร่างรธน.มายกร่าง รธน.ฉบับใหม่ เวลาผ่านไปกำลังเรื่องนี้มันอ่อนแรงลงอย่างชัดเจน
จากเหตุหลายปัจจัย เช่นพอบทเฉพาะกาลหมดไป ความรู้สึกที่เป็นตัวเร่งที่อยากจะแก้ก็หายไปเยอะ เพราะเมื่อก่อน สว.มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ทุกคนก็บอกว่าต้องแก้ พออำนาจนี้หมดไป พอไปถามว่าแก้ รธน.เพราะอะไร ขนาดผมที่อยู่ในฝ่ายที่อยากเห็นการเขียน ก็ตอบสั้นๆ แทบไม่ได้เลยว่าความจริงแล้วต้องไปทำอะไรอีกเยอะ แต่ว่ามันอธิบายแล้วมันไม่ได้กระตุ้นเหมือนก่อนหน้านี้
ประเด็นที่สอง ยังแก้ปมไม่ออกเรื่องการออกเสียงประชามติว่าต้องทำกี่ครั้ง ต้องทำสองครั้งหรือสามครั้ง ผมก็ยังเห็นส่วนตัวว่าสองครั้งมันพอ แต่รัฐบาลไม่กล้า เพราะประธานสภาฯ เหมือนกับจะบอกว่าต้องสามครั้ง ซึ่งหากทำสามครั้ง บวกกับการเลือกสมาชิกสภาร่าง รธน. เมื่อดูจากเรื่องกรอบเวลาและค่าใช้จ่ายก็หนักหน่วงอยู่ แล้วเมื่อมาดู สว.ชุดใหม่ จะหาเสียง สว. 60-70 เสียงที่จะมาสนับสนุน จะหาได้หรือไม่ ก็ดูยากอีก แล้วก็ยังมาเผชิญหน้าเรื่องประชามติอีก ที่ไปแก้กฎหมายประชามติ เพราะกลัวว่าถ้าไม่แก้แล้วอีกฝ่ายไปรณรงค์ให้คนอยู่บ้าน แต่พอมาสวนกับทางสว.ก็เลยยิ่งยากเข้าไปใหญ่
และปัจจัยที่ผมคิดว่ามีผลค่อนข้างมาก แต่ไม่รู้ว่าคนที่เกี่ยวข้องจะยอมรับหรือไม่ คือวันที่มีการไปขยับเรื่องอยากจะแก้ไข รธน.รายมาตราเรื่องมาตรฐานจริยธรรม มันทำให้สังคมเกิดความรู้สึกว่าที่จะแก้ไขทั้งหมดมันตรงนี้เอง จะเอาเรื่องนี้ออกไป จริงอยู่ผมไม่เถียงหรอกเรื่องหลักสากล ว่าเรื่องจริยธรรมมันควรหรือต้องไปที่ศาลอะไรต่างๆ แต่ปฏิเสธได้ไหมว่าตั้งแต่มีคำวินิจฉัยกรณีคุณเศรษฐา ทวีสิน เราเห็นการตั้ง ครม.ชุดปัจจุบันแล้วไม่กล้าตั้งหลายคน เคยเห็นที่มันชัดแบบนี้หรือไม่ คนก็เริ่มเห็นว่ามันได้ผล เพราะบางคนเข้ามาไม่ได้แล้ว และจะแก้ไขทำไม ทั้งหมดเลยทำให้ผมเห็นว่าอธิบายยากขึ้นเยอะ
ผมเสนอว่าจริงๆ แล้วมีหลายเรื่องสังคมยอมรับได้ เช่น วุฒิสภา ผมยังไม่เห็นมีใครพูดว่ากระบวนการได้มาซึ่ง สว.น่าจะทำกันแบบนี้อีก ก็เริ่มเอาประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาก่อน และหากจะแก้ไขเยอะ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องสิทธิเสรีภาพต่างๆ ก็แก้แบบไม่ต้องมี ส.ส.ร.ก็ได้ ตรงนี้ข้อเสีย ก็คือฝ่ายที่อยากให้มี ส.ส.ร.ก็ยังยึดติดอยู่ บอกว่าไม่อยากได้ รธน.ที่มาจากรัฐประหาร
แต่ในทางปฏิบัติ เท่าที่มองดูยังไงก็ไม่ได้แก้ทั้งฉบับอยู่แล้ว หมวดหนึ่ง-หมวดสองก็ไม่ได้แก้ แล้วจะยอมลดตรงนั้นลงมาได้หรือไม่ ว่าตั้งแต่หมวดสามเป็นต้นมา ที่จะดีขึ้นเป็นประชาธิปไตยขึ้น จะทำอย่างไร
ข้อดีการมาแบบนี้คือ หลีกเลี่ยงกระบวนการที่ยุ่งยาก และโปร่งใสขึ้นในการสร้างความมั่นใจว่า ไม่ได้มาแก้เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองที่กำลังกลัวเรื่องการตรวจสอบ ตรงนี้ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะผมเข้าใจว่าขณะนี้ก็ไม่ชัดเจน คือหากจะเอาแบบ ส.ส.ร. ก็ต้องทะลุทะลวงเอากันให้ชัดไปเลย เช่นประชามติสองครั้งใช่หรือไม่ เพราะหากทำสามครั้งผมดูแล้วปัญหาตามมาอีกเยอะ
MOU 2544 ที่มันกลับมาเป็นประเด็น ก็เพราะคนหวาดระแวงว่ารัฐบาลมีผลประโยชน์อื่นหรือไม่ ที่เหนือกว่าผลประโยชน์ของชาติ ดังนั้นถ้าอยากจะเดินหน้าเรื่องนี้ เราต้องทำอย่างไรให้รัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องจุดยืน ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเขตแดนและการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น
ทางออกปัญหา MOU 2544 ยกเลิก-ไม่ยกเลิก อะไรดีกว่ากัน?
-เรื่องกรณี MOU 2544 สมัยเป็นนายกฯ ตอนนั้นรัฐบาลทำไปถึงขั้นไหน มีมติ ครม.ให้ยกเลิกแล้วใช่หรือไม่?
เรื่องนี้มีประเด็นเยอะ อันแรกเลยตอนผมเข้ามา เรารับรู้เรื่องปมปัญหา MOU 2544 มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเช่นเรื่องเกาะกูด แต่แน่นอนว่าการมี MOU 2544 แล้ววันดีคืนดีจะบอกยกเลิกมันก็แปลกอยู่ เพราะแม้จะเป็นคนละรัฐบาลกัน แต่ก็เป็นรัฐบาลไทย บังเอิญยุครัฐบาลผมมันมีเหตุ คือนายกฯฮุน เซน ตั้งคุณทักษิณเป็นที่ปรึกษา นั่นเป็นจุดที่เราก็มองว่าถ้าเป็นแบบนี้ เป็นเหตุว่าถ้า MOU 2544 แบบนี้ไม่เอาดีกว่า แต่ขณะนั้นก็มีการตีความว่า ถ้าจะยกเลิกต้องเอาเข้าที่ประชุมรัฐสภาถึงจะสมบูรณ์ เราก็มีมติให้กระทรวงการต่างประเทศไปดู
ซึ่งในที่สุดก็ยังไม่ได้มีการเสนอต่อรัฐสภา ที่ตอนนั้นใช้รธน.ปี 2550 ตอนนั้นคุณคำนูณ สิทธิสมาน อดีต สว.เอาเรื่องนี้ไปตั้งกระทู้ถามในที่ประชุมวุฒิสภา คุณกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศก็ไปตอบ ที่ก็ตอบแบบที่ผมพูดแบบนี้ แต่ก็แปลก คือหลังจากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ คุณทักษิณลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ ฮุน เซน นั่นคืออดีต แต่ปัญหาปัจจุบันก็มีคนบอกยกเลิกไปเลย ถามว่ายกเลิกได้หรือไม่ ก็ยกเลิกได้ แต่สำหรับคนที่อยากยกเลิก ผมก็อยากเตือนไว้
ประเด็นแรก การยกเลิกไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลชุดนี้จะไปเจรจาไม่ได้ ตอนที่รัฐบาลไทยทำเรื่องนี้กับมาเลเซียหรือเวียดนามก็ไม่มี MOU เพราะเป็นอำนาจรัฐบาลในการไปเจรจาอยู่แล้ว
ข้อดีของ MOU 2544 ที่ผูกเอาไว้ ที่ผมไปตรวจสอบหลังมีปฏิกิริยากันพอสมควร ว่าไม่น่าจะมีการไปขีดเส้นอะไรต่างๆ ก็คือมีการไปใส่เอาไว้ว่า ห้ามเจรจาเฉพาะเรื่องทรัพยากร โดยที่ยังไม่ได้มีข้อยุติที่ชัดเจนที่เป็นที่ยอมรับได้ในเรื่องเขตแดน ประเด็นก็คือถ้ายกเลิก MOU 2544 ไม่ได้แปลว่าการเจรจาจะหยุด กับสอง-อาจมีการไปเจรจาเรื่องน้ำมัน แล้วส่งผลกระทบทีหลังต่อเขตแดนก็ได้ เพราะไม่มี MOU 2544 ที่บอกว่าต้องทำพร้อมกันและเสร็จกัน ตรงนี้ต้องระมัดระวัง ผมก็เข้าใจเหตุผลคนที่เสนอให้ยกเลิก MOU 2544 เพราะเราก็ไม่พอใจเส้นที่ขีดเข้ามา ว่าไปรับรู้หรือให้เป็นเอกสารทางการทำไม แต่ก็มีข้อระมัดระวังตรงนี้
“ในความเห็นผม ปัญหาทั้งหมดพูดกันตรงๆ เรื่องนี้ MOU 2544 ที่มันกลับมาเป็นประเด็น ก็เพราะคนหวาดระแวงว่ารัฐบาลมีผลประโยชน์อื่นหรือไม่ ที่เหนือกว่าผลประโยชน์ของชาติ ดังนั้นถ้าอยากจะเดินหน้าเรื่องนี้ เราต้องทำอย่างไรให้รัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องจุดยืน ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเขตแดน และการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น อย่างน้อยที่สุดยังมีหลังพิงก็คือ หลักสากลในเรื่องการขีดเส้นไหล่ทวีป ก็เป็นที่น่าแปลกใจที่เรื่องนี้ถกเถียงกันมาเป็นเดือน แต่ผมยังไม่เคยได้ยินรัฐบาลพูดอะไรแบบนี้เลย รัฐบาลพูดอย่างเดียวว่าไม่ได้เป็นปัญหา ยังไม่เสียดินแดน แต่มันไม่ได้ทำให้คนมีความมั่นใจว่า สิ่งที่จะทำต่อไปจะไม่มีผลกระทบในเชิงลบต่อประเทศ”
-ข้อเรียกร้องของกลุ่มนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ไปยื่นต่อนายกฯ เช่น ขอให้นายกรัฐมนตรีเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติให้ส่ง MOU 2544 และ JC 2544 ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่ ก็เป็นข้อเสนอที่ไล่ทีละสเตป ดูแล้วก็ค่อนข้างประนีประนอม?
เป็นเรื่องของช่องทางในการยกเลิกหรือนำไปสู่การยกเลิก แต่ที่ผมเตือนไว้ก็คือ ผมรู้ว่าเรื่องที่ผู้เรียกร้องกลัวที่สุด เสียดินแดน เสียทรัพยากรที่ความจริงเป็นของเราแล้วต้องไปแบ่ง ผมกำลังเตือนว่ายกเลิกไปแล้ว มันไม่ได้มีหลักประกันว่าที่จะป้องกันไม่ให้มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
-แต่ก็ดีกว่าไม่ยกเลิก?
อันนี้ตอบยาก คือดีที่สุด เรามีรัฐบาลที่คนมั่นใจได้ว่ารักษาผลประโยชน์ของประเทศ เพราะมีหรือไม่มี (MOU 2544) ถ้าไม่มี อย่างที่ผมบอก เขาไปตกลงอะไรกันเลยก็ได้ แต่ถ้ามี ก็มีการบังคับให้ทำเรื่องเขตแดนพร้อมกันไปด้วย ซึ่งข้อดีของมันก็คือ หากไปทำอะไรที่มันไม่เข้าท่าเข้าทาง ยังไง ข้อตกลงนั้นเข้าสภาฯ มันต้องโปร่งใส แต่ถ้าหากไม่มีแล้วไปตกลงกันเรื่องทรัพยากรอย่างเดียว อาจจะมีอะไรซ่อนเร้นได้ง่ายกว่า
จริงๆ ถ้าถามผมดีที่สุด มันเหมือนกับต้องไปแก้ MOU มากกว่า คือไปมัดรัฐบาลไว้ว่าห้ามไปตกลงอะไรแล้วมีผลกระทบกับเขตแดน แต่แก้ให้มันเป็นที่ยอมรับได้ ไม่เอาเส้นที่ขีดกันมาลักษณะแบบนี้ คือ MOU 2544 ที่คนกังวลมากก็คือเส้นที่กัมพูชาไปขีด ซึ่งเป็นเส้นที่แปลกประหลาดมาก มีการอ้อมเกาะ ที่ดูแล้วมันไม่ใช่ แต่คนก็อาจบอกว่าเขาก็ไม่ยอมรับเส้นของเราเหมือนกัน ก็ไม่เป็นไร ทำไมไม่มาทำ MOU ในลักษณะที่ว่าเริ่มต้นจากการใช้หลักสากล แม้กัมพูชาจะไม่ได้เป็นภาคีก็ตาม แต่หลักสากลหรือกฎหมายระหว่างประเทศ มันก็ยังเป็นหลักที่ควรนำมาใช้ หรือมาอ้างอิงกันในการตกลงกันเรื่องนี้
ผมฟังดูแล้วตอนนี้สับสน อย่างนายกฯ พูด นายกฯ บอกว่าหากตกลงเรื่องเขตแดนไม่ได้ ก็ตกลงเฉพาะเรื่องน้ำมัน ถ้าแบบนี้ก็ต้องยกเลิก MOU มันก็เลยพันกันไปหมด ผมถึงบอกว่าตั้งหลักกันให้ดี และทำอย่างไรรัฐบาลจะแสดงออกให้คนมั่นใจ ว่าสิ่งที่เขากลัวจะไม่เกิด เพราะรัฐบาลมีจุดยืนแบบนี้ เพราะผ่านมาสองเดือน แปลกใจว่าไม่มีคนในรัฐบาลพูดในอารมณ์แบบนี้เลย มีแต่ออกมาบอกว่าพื้นที่ยังไม่ได้เสีย เขาเว้นเกาะให้ หรือบอกพวกนี้จะหาเรื่องมาล้มรัฐบาลหรือไม่.
…………………………………………………………
อนาคตการเมือง ตั้งพรรคใหม่หรือคัมแบ็ก ปชป.?
“อภิสิทธิ์ อดีต สส.และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย” ซึ่งลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ปชป.มาตั้งแต่ 9 ธ.ค. 2566 อันเป็นการลาออกจากสมาชิกพรรค ระหว่างการประชุมใหญ่พรรค ปชป.เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งเขาได้พูดถึงอนาคตทางการเมืองของตัวเอง โดยบอกว่าขณะนี้ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด ที่ก็ไม่แปลกเพราะขณะนี้หาพรรคการเมืองที่เราคิดว่าเราสนิทใจในการที่จะเป็นสมาชิกพรรคไม่ได้อยู่แล้ว ที่ก็ไม่ได้หา แต่ผมเริ่มต้นง่ายๆ แบบนี้คือไม่มี และถึงมีก็ต้องคิดหนัก เพราะผมพูดมานานแล้วว่า ผมไม่คิด ที่จะไปอยู่พรรคอื่น ไม่คิดตั้งพรรคด้วย
-เป็นการพูดที่ผูกมัดตัวเองหรือไม่?
ก็ไม่เป็นไร ผูกมัดก็ดี ผมไม่ได้มีปัญหาอะไร ที่ผ่านมา ผมลาออกจากตำแหน่งต่อกี่ตำแหน่ง จากสิ่งที่ผูกมัดผม แล้วมันก็ทำให้ผมเป็นคนที่สามารถรักษาหลักการได้
-เป็นการผูกมัดในลักษณะที่ว่าจะไปแสดงความสามารถที่อื่น เช่นจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่?
ผมไม่ได้มีความเชื่อของการที่อยากจะไปตั้งพรรค โดยเฉพาะกับสถานะที่เป็นอยู่แบบนี้ เพราะผมเชื่อในเรื่องของพรรคการเมืองที่มีลักษณะเป็นสถาบัน ถ้าผมอายุสัก 30-40 ปี ไม่เคยเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองมายาวนานแบบนี้ และมีสถานะเป็นอดีตผู้นำรัฐบาล ถ้าแบบนั้นผมก็อาจไปรวมกับคน แล้วมาสร้างพรรคที่เป็นสถาบันได้ แต่วันนี้ลักษณะที่ผมเป็นอยู่ หากผมไปตั้งพรรคการเมือง ทุกคนก็จะชี้มาว่าเป็นพรรคผม ซึ่งผมไม่มีความคิดที่จะทำแบบนั้นเลย
-มีความคิดแวบๆ ขึ้นมาหรือไม่ว่าจะกลับไปฟื้นประชาธิปัตย์ ถ้าถึงเวลาอันเหมาะสม?
ในมุมมองผม ถ้าพรรคประชาธิปัตย์กลับไปเป็นประชาธิปัตย์ที่ยึดมั่นอุดมการณ์ ตามที่ประกาศไว้ตอนก่อตั้งพรรค อย่างนั้นผมก็กลับไปเป็นสมาชิกพรรคได้ ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ในความเห็นผม ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ และคนจำนวนไม่น้อยด้วย ไม่ใช่ เพราะผมก็พบผู้คนอยู่ตลอดเวลาที่เขาพูดจาพาดพิงถึงพรรค
–แสดงว่าที่พรรค ปชป.ไปร่วมรัฐบาลแพทองธาร รอบนี้เสียงขานรับน้อยมาก?
ก็ขานเหมือนกัน แต่ขานอีกแบบ ก็เยอะ คือต้องเข้าใจ เป็นเรื่องที่ ผมเชื่อว่าคนในพรรคก็ต้องเข้าใจได้ เพราะกี่สิบปีที่ผ่านมาประชาธิปัตย์เคยพูดอะไรไว้ แล้ววันดีคืนดีจะมาลบสิ่งเหล่านี้ แล้วมาบอกเพียงแค่ว่าจะต้องเข้าไปเพื่อ ..ซึ่งเพื่ออะไร ความจริงก็ยังตอบไม่ชัดด้วยซ้ำ จะเพื่อผลักดันนโยบาย ก็ไม่ได้มีความชัดเจนว่านโยบาย ที่มันเหมือนกับว่าโดดเด่น ในทางที่ว่าไปหาเสียงไว้กับประชาชน แล้วจะมาทำให้สำเร็จ ก็มองไม่เห็น
-ประชาธิปัตย์ตอนนี้เป็นพรรคเสรีประชาธิปไตย อย่างที่คุณอภิสิทธิ์เคยบอกไว้เมื่อหลายปีที่ผ่านมาหรือไม่ หรือมองว่าเป็นพรรคแบบไหน?
ตอนนี้แม้แต่ฟังคำอธิบายของผู้ที่อยู่ในพรรค ก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องแบบนี้แล้ว พูดถึงแต่ว่า “ให้ลืมเรื่องเก่าๆ ทำไมผมต้องมาแบกรับสิ่งที่คนก่อนหน้านี้ทะเลาะกัน และอยากเข้าไปทำงาน” ผมก็จะบอกว่า ความจริงประชาธิปัตย์ที่ดำรงอยู่มาได้ยาวนานและมีความแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น จะไม่ค่อยอ้างเรื่องแบบนี้ เพราะทุกพรรคการเมืองก็อยากเป็นรัฐบาลทั้งนั้น แต่พรรคที่จะเป็นสถาบัน พรรคที่จะยึดอุดมการณ์ ก็ต้องมีการขีดเส้น ว่าเงื่อนไขของการร่วมรัฐบาลหรือไม่ร่วมรัฐบาลมันคืออะไร
-ชีวิตนี้เลิกการเมืองแล้วหรือ?
ผมก็บอกว่า อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์มั้งครับ จะพลิกกลับมาได้หรือไม่
-แสดงว่ายังเลือดสีฟ้าอยู่ หากกรีดออกมาแล้ว?
ก็พูดแบบนั้นมาตลอด ผมทำงานการเมือง ผมมีความเชื่อพื้นฐานหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงที่บอกเมื่อตอนต้นว่าผมอยากอยู่ในระบบของการเมืองที่มีความเป็นสถาบัน ผมไม่ยึดตัวบุคคล ผมไม่เคยคิดว่าจะคนใดคนหนึ่ง จะตัวผมหรือคนอื่นก็ตาม จะต้องเป็นผู้ที่ทำทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วผมว่าที่การเมืองไทยมันติดหล่มมา ก็เพราะเราไม่ได้พยายามสร้างอะไรที่มันเป็นระบบ เป็นสถาบัน.
The post อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง ‘จุดเสี่ยง’ รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก appeared first on .