อาเซียน ต้องการผู้เชี่ยวชาญ เงินทุน และการตระหนักรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในภูมิภาค ในงาน SX2024

“แนวคิดและการทำงานต่าง ๆ เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนมีอยู่มากมาย แต่อยู่ในระดับท้องถิ่นและแยกตามอุตสาหกรรม ในขณะที่ในระดับภูมิภาค ยังไม่มีแนวทางหรือกรอบที่ชัดเจนสำหรับภาคเอกชน ตอนนี้มีโครงการริเริ่มมากมายที่พยายามจะเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ความรู้ และสร้างความตระหนักรู้มากขึ้น และการสัมมนานี้เป็นแพลตฟอร์มที่จะสร้างแนวทางที่ชัดเจนขึ้นจากกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียนที่กำหนดไว้” นางสาวลติฟาไฮดา ลาตีฟ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ แผนกการวิเคราะห์และติดตามการเงิน เศรษฐกิจและสังคม สำนักเลขาธิการอาเซียนกล่าวระหว่างการสัมมนา ASEAN Circular Economy Forum ที่งาน Sustainability Expo 2024 ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 27 กันยายน – 6 ตุลาคม 2567  

ลติฟาไฮดา พูดถึงยุทธศาสตร์ 5 ข้อที่มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อยในภูมิภาคอาเซียน คือ การปรับมาตรฐานของประเทศต่าง ๆ ให้สอดคล้องกัน การส่งเสริมการเปิดกว้างทางการค้าสำหรับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อเศรษฐกิจหมุนเวียน การเพิ่มบทบาทของนวัตกรรม การเงินที่ยั่งยืนพร้อมการลงทุนที่สร้างสรรค์ และการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้าถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ธุรกิจเหล่านี้ควรเรียนรู้นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เกี่ยวข้องในประเทศเพื่อนบ้าน เธอตอบว่าหากธุรกิจเหล่านี้รู้ว่าระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่อื่นเป็นอย่างไร จะเป็นผลดีเพราะช่วยให้การส่งออกมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

“เราต้องดูเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการเงิน และประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อช่วยภาคเอกชนให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับแผนภูมิภาค…ถ้าผู้ผลิตต้องทำตามมาตรฐานที่แตกต่างกันของแต่ละที่ จะกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เราจึงมองหามาตรฐานที่สอดคล้องกัน เพื่อว่าหากคุณมีผลิตภัณฑ์หนึ่งชนิด ก็สามารถกระจายไปยังสมาชิกอาเซียนทั้งหมดได้ เพราะทุกคนเข้าใจตรงกัน” 

ตระหนักรู้เรื่องการหมุนเวียน 

ลติฟาไฮดา มองว่าความท้าทายที่จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนอาเซียนเป็นจริงเป็นจังและก้าวหน้าขึ้นได้ คือการมีผู้เชี่ยวชาญและเงินทุนที่จำกัด ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการตระหนักรู้ในวงกว้างขึ้น  “ฉันคิดว่าหลายคนอาจเข้าใจว่ามันเป็นเพียงเรื่องการจัดการของเสีย แต่ความจริงแล้วมันมากกว่านั้น มันครอบคลุมไปถึงขั้นตอนต้นน้ำ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ ดังนั้น การสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น” ลติฟาไฮดาพูดถึงชุดความคิดและความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ควรต้องปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกันกับความเห็นของ ดร. วิชุดา เดาด์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ MTEC ที่พูดถึงเรื่องชุดความคิดของคนทั่วไปว่าคุณค่า

 ทรัพยากรของแต่ละคนไม่เหมือนกัน รวมถึงนิยามของคำว่า “Waste” ที่คนไทยมักชอบแปลว่า “ขยะ” ซึ่งความเป็นจริง หมายถึงสิ่งที่ใช้ไม่ได้แล้ว “นี่แหละปัญหา เราเลยต้องปรับ mindset ก่อนว่าเรากําลังพูดถึงเรื่องทุกอย่างที่เป็นทรัพยากร ต้องหาวิธีเปลี่ยนกระบวนการความคิด ถ้าเราไม่ใช้ คนอื่นใช้ได้หรือไม่ ยังมีคุณค่าอยู่หรือไม่” 

งานที่ ดร. วิชุดา ทำคือการออกแบบแนวทางเสริมศักยภาพและออกแบบกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียนของธุรกิจหลากหลายชนิดในประเทศไทย ที่ถึงแม้สุดท้ายแล้ว กลยุทธ์ที่ใช้อาจแตกต่างตามเงื่อนไขของแต่ละกิจการหรือผลิตภัณฑ์ แต่แนวความคิดโดยรวมคือการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

ดร. วิชุดากล่าวว่าความท้าทายตอนนี้ คือ คนส่วนใหญ่จะคิดถึงแต่เรื่องปลายทาง คือ เศษวัสดุที่เหลือจากการผลิต หรือสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว จะนำไปทำอะไรต่อ และมักคิดถึงแต่มุมที่องค์กรของตัวเองทำฝ่ายเดียว  “เราต้องมองไปจนถึงว่า พอเราทําผลิตภัณฑ์นี้ออกไป ผู้ใช้เป็นใคร หลังจากใช้แล้วจะเป็นอะไรต่อ เราต้องรู้ระบบนิเวศของเราว่าในจุดต่อทั้งหลาย มีใครที่เกี่ยวข้องบ้าง และอาจจะมาดูว่าเราจะเข้าไปแก้จุดไหน เพราะเราไม่สามารถแก้ปัญหาคนเดียวได้ทุกอย่าง อีกสิ่งหนึ่ง คือ วิเคราะห์เรื่องการใช้ทรัพยากร และกลยุทธ์ที่อยากใช้ว่าต้องใช้อะไรเพิ่มหรือไม่ การคิดที่จะนำวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาต่อ เป็นเรื่องปลายน้ำแล้ว และบางทีก็ไม่สามารถทำอะไรต่อกับสิ่งเหล่านั้นได้เพราะปนเปื้อนไปแล้ว”

ดร. วิชุดายกกรณีตัวอย่างบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่เข้าโครงการกับ MTEC ด้วยโจทย์ที่ว่ามีเศษวัสดุที่เหลือจะทำเป็นอะไรต่อ  

“เราคุยกับเขาว่าเคยคิดในมุมนี้หรือไม่ ว่าเวลาที่เราออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไปชิ้นหนึ่ง เมื่อลูกค้าเลิกใช้แล้ว เขานำไปทําอะไรต่อ เราเลยกลับมาคิดใหม่ เพราะว่าการที่จะเอาชิ้นเศษวัสดุมาทําอะไรต่อ  คือการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ (waste utilization) แต่ไม่ใช่การออกแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” 

บริษัทดังกล่าว ได้ข้อสรุปออกมาเป็นการออกแบบเก้าอี้สนามและโต๊ะปิกนิกที่โดยทั่วไปจะถูกเชื่อมเป็นชิ้นเดียวกัน เมื่อไม่ได้ใช้งานก็ยากที่จะไปแปรรูปเป็นอย่างอื่นต่อ รวมถึงวัสดุที่ใช้เชื่อม ถ้าเป็นสารเคมี เช่น กาวชนิดต่าง ๆ จะต้องผ่านกระบวนการแยก คว้านเอาเนื้อกาวออก ทำให้นำไปหมุนเวียนยากขึ้น จึงได้ออกแบบใหม่มาเป็นการใช้น็อตแทน และ MTEC ยังช่วยสนับสนุนเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น การคำนวณความแข็งแรง และผลิตภัณฑ์นี้จะถูกนำไปหมุนเวียนเป็นอะไรได้อีก 

ความท้าทายของการเสริมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

นอกจากเรื่องชุดความคิดของคนทั่วไปที่เริ่มแก้ได้จากความหมายของ Waste ที่ไม่ใช่ “ขยะ” แล้ว ดร. วิชุดามองว่าความท้าทายที่เห็นได้ชัดคือการที่ธุรกิจต่าง ๆ ยอมแพ้เร็วเกินไป “ยังไม่ทันเห็นผลแล้วเลิกทําก่อน ยังไม่ทันไปถึงไหน” ความยากคือจะทำอย่างไรให้ธุรกิจเหล่านี้คิดถึงการเดินทางของผลิตภัณฑ์ ถ้าถูกใช้เสร็จแล้วจะไปไหนต่อ ทางผู้ผลิตสามารถที่จะออกแบบเพื่อกระตุ้นได้หรือไม่ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคืออะไร 

“ทุกคนจะคิดว่าตัวเองต้องเปลี่ยนแปลงทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่จริง ๆ แล้วเราไม่ต้องทําคนเดียว สิ่งที่ยาก คือทุกคนอยากทําด้วยตัวเอง เลยกลายเป็นจำกัดความคิดเรื่องกลยุทธ์และวิธีการแก้ปัญหา” ความเป็นจริงคืออาจเอาธุรกิจจากคนละภาคอุตสาหกรรมมาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนก็ยังได้  

อีกหนึ่งปัญหาคือเรื่องการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นชุดข้อมูลที่มีออกมาแล้วจะส่งต่อให้ใคร หรือเมื่อมีแนวทางแก้ปัญหา หรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ออกมาแล้ว มักขาดการสื่อสารให้สาธารณชนรับรู้ว่ามีการคิดค้นสิ่งนี้ขึ้นมา 

“สมมุติว่าบริษัทนี้ผลิตหมึกที่ล้างออกได้ แต่ใครจะรู้ว่ามีหมึกนั้น แล้วต้องไปสื่อสารข้อมูลให้ใคร จะไปบอกใครว่ามีหมึกล้างออกได้ด้วย”

สุดท้ายแล้ว กลไกเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับอาเซียนจะเดินหน้าไปด้วยกันได้จริง ๆ หรือไม่ กับการร่วมมือกันของบริษัทหรือหน่วยงานต่าง ๆ ข้ามพรมแดน ยังเป็นเรื่องที่ต้องคิดต่อว่าชุดข้อมูลแต่ละด้าน จะเชื่อมต่อจากใคร หรืองานไหนจะให้หน่วยงานใด จากประเทศไหนเป็นเจ้าภาพให้เกิดขึ้นกันแน่ ยังต้องหาวิธีสื่อสาร ที่ถึงแม้จะเป้าหมายเดียวกันเพื่อความยั่งยืนของโลก แต่ก็ยังไม่ได้จับมือกันเดินจริง ๆ

“เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน” มาเรียนรู้และสานต่อกับทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเปลี่ยนโลกใบนี้ให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนในงาน Sustainability Expo (SX2024) ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 6 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) 

#goodbalance #betterworld #sx2024 #ASEANCE2024 #ACEF2024 

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมของ SX ได้ทาง Facebook Page : Sustainability Expo, และแอดไลน์ @sxofficial  เตรียมพบกับมุมมองดีๆ และต้นแบบสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างยั่งยืน ตลอดจนร่วมกิจกรรมมากมายเพื่อโลก ด้วยกันที่ Sustainability Expo 2024: Good Balance, Better World #good balancebetter world 

You may also like...