‘เท้ง’ นำ สส.ปชน. เยี่ยมญาติผู้ประสบภัยตึกสตง.ถล่ม แกะรอยหาความจริง 3 เรื่อง
‘หัวหน้าเท้ง’ นำ ‘สส.ปชน.’ ลงพื้นที่เยี่ยมญาติผู้ประสบภัย ‘ตึก สตง.ถล่ม’ ยก 3 องค์ประกอบ แกะรอยสาเหตุ-ตรวจสอบหาความจริงของความเชื่อมโยงกับคนใกล้ชิดผู้ใหญ่ใน สตง. พร้อมขอนายจ้าง ให้ความร่วมมือกระทรวงแรงงาน เปิดเผยตัวเลขจำนวนคนงานที่แท้จริง ยัน พร้อมสนับสนุน ‘ชัชชาติ’ ทุกประเด็นที่เป็นเรื่องความปลอดภัยของ ปชช.
11 เมษายน 2568 – นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ และนายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจญาติผู้สูญหายจากเหตุการณ์ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม
โดยนายณัฐะพงษ์ ระบุว่า จากการลงพื้นที่พูดคุยกับญาติ โดยนายศุภณัฐได้นำข้าวสารอาหารแห้ง และสิ่งของมาช่วยสนับสนุนภารกิจของสำนักงานเขตจตุจักร ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ทำงานได้เป็นอย่างดี ไม่มีอะไรขาดเหลือ และญาติผู้สูญหายก็มีกำลังใจดี ทุกคนยังมีความหวังทุกวินาทีที่เจ้าหน้าที่ทำงาน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน จะมีการติดตามเรื่องนี้อย่างไรบ้าง นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตอนนี้เรื่องได้มีการนำเรื่องเข้ากรรมาธิการติดตามงบประมาณฯ แล้ว และตั้งคณะทำงานขึ้นมาในทุกด้าน เพื่อติดตามภารกิจโดยมี สส.ในพื้นที่ได้ติดตาม และกำกับดูแล
ด้านนายวิโรจน์ กล่าวเสริมว่า ตนคิดว่าในเรื่องของการตรวจสอบเท่าที่ได้หารือกับนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะคณะกรรมาธิการติดตามตรวจสอบงบประมาณ คงต้องแกะรอยจาก 3 องค์ประกอบ ประกอบด้วย การออกแบบ, การควบคุมงาน และการตรวจรับงาน ซึ่งทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ทำงานโดยวิศวกร ที่เป็นผู้มีวิชาชีพทั้งสิ้น โดยส่วนที่สำคัญที่สุดคือการตรวจรับงาน เพราะหากมีการแก้ไขแบบ วิศวกรผู้ควบคุมก็จะเป็นผู้ประสานกับคณะกรรมการตรวจรับงานของ สตง. และวิศวกรผู้ควบคุมงานจะต้องตรวจสอบในรายละเอียดทั้ง 3 ส่วนอย่างละเอียด ส่วนอีกเรื่องที่ไม่สามารถทิ้งประเด็นได้ คือคุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จากการชี้แจงของ สตง. พรรคฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบมีความเห็นว่าอย่างไรบ้าง นายวิโรจน์ ระบุว่า เป็นการชี้แจงในเบื้องต้น การทดสอบปกติแล้วรายละเอียดในการตรวจสอบเพียงแค่ 3-4 ชั่วโมง ไม่พออยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการชี้แจงให้กับคณะกรรมาธิการฯ ได้แกะรอยทำเป็น Bullet Point เพื่อทำการบ้านที่ต้องตรวจสอบต่อไป ว่ามีอะไรบ้าง เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการตรวจสอบ เช่นเรื่องเหล็ก ว่าแต่ละประเภทใช้กับงานชนิดไหนหรือผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ก็จะส่งผลเสียได้เหมือนกัน ซึ่งนายสุรเชษฐ์เป็นวิศวกรโยธาฯ น่าจะเป็นผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า เราพูดถึงวิศวกรควบคุมงานน้อยมาก ว่ามีการเปลี่ยนวัสดุหรือไม่ ซึ่งคนที่ควบคุมสามารถเป็นต้นเรื่องในการเปลี่ยนแบบ และวัสดุได้ และส่วนที่สำคัญที่สุดคือการตรวจสอบความโยงใยถึงคนใกล้ชิดของผู้บริหารระดับสูง และผู้ใหญ่ใน สตง.
“มีเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ว่าวิศวกรผู้ควบคุม มีความสัมพันธ์เรียกว่าเป็นคนตัวใหญ่ใน สตง. เบื้องต้น ต้องให้ความเป็นธรรมกับชื่อที่ถูกพูดถึงอย่างประธาน คตง. และเราต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ว่าบริษัทที่ปรึกษามีความเกี่ยวข้องโยงใยกับเครือข่ายครอบครัวตามที่ถูกตั้งข้อสังเกตุหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็ต้องให้ความเป็นธรรม“ นายวิโรจน์ กล่าว
ส่วนการชี้แจงของ สตง. ยังเหลือประเด็นใดบ้าง นายวิโรจน์ ระบุว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่โยงใยกับบริษัทต่างๆ และการประกวดราคาประมูลถูกต้องหรือไม่ รวมถึงมีการเกี่ยวพันกับผู้บริหารระดับสูงของ สตง.ด้วยหรือไม่ ซึ่งจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียด และในเรื่องนี้เราไม่สามารถปล่อยให้คลุมเครือได้ เพราะหากบริษัทที่ปรึกษามีความเกี่ยวข้องกับประธาน คตง.ก็จะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเราจะต้องตรวจสอบให้สิ้นข้อสงสัยเพื่อความเป็นธรรมให้กับท่าน
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า สำหรับการเยียวยาญาติผู้สูญหายที่ได้รับเงินน้อยมาก หากเทียบเท่ากับเก้าอี้ของ สตง. 1 ตัวนั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ต้องบอกก่อนว่าไม่ว่าเงินจะจำนวนเท่าไหร่ก็ไม่สามารถเทียบชีวิตที่สูญเสีย และได้รับผลกระทบ โดยจากการไปเยี่ยมญาติผู้สูญหายมาก็ได้พูดคุยถึงเรื่องนี้เหมือนกัน ทั้งนี้พรรคฝ่ายค้านได้ใช้กลไกกรรมาธิการฯ รวมถึงการติดตามสอบถามไปถึงรัฐบาลว่า จะเยียวยาได้เร็วที่สุด และเป็นธรรมที่สุด
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า อีกส่วนที่อาจยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งตนได้รับการรายงานจากนายศุภณัฐ ว่า ถ้าเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศเรา และได้รับผลกระทบ และแรงงานต่างชาติก็อาจจะยังไม่ได้รับเงินชดเชยเยียวยา ก็เป็นสิ่งที่เรากำลังหาคำตอบ ซึ่งเรามีคณะกรรมการดูแลเงินชดเชยเยียวยาของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
นายณัฐพงษ์ ย้ำว่า โดยเฉพาะในประเด็นที่นายวิโรจน์ได้บอกไว้ หากพบว่ามีการตรวจสอบข้อมูลแล้ว การก่อสร้างไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เหตุการณ์ที่ไม่สามารถป้องกันได้ และเป็นเรื่องที่สังคมตั้งคำถามอยู่ เหตุการณ์ต่างๆ และความสะเพร่าในการออกแบบก่อสร้าง ทุกคนก็ควรจะได้รับการเยียวยาในรูปแบบที่เหมาะสม
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า เรื่องนี้จะทำให้เปลี่ยนการตัดสินใจในการตัดงบผู้ควบคุมงานหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนนี้เราเล็งเห็นความสำคัญอยู่แล้วในเรื่องของการสร้างความปลอดภัยของตัวอาคารต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ในแผนของคณะทำงาน ทั้ง 6 คณะที่เราตั้งขึ้น เพราะยังมีอาคารเก่าๆ อีกเยอะ ที่สร้างก่อนปี 2550 ซึ่งมีกฎกระทรวงที่สร้างอาคารต้านแรงสั่นสะเทือน และอาคารเหล่านี้ต้องได้รับการยกระดับให้มีความมั่นคงปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และในส่วนของงบประมาณที่เกี่ยวข้อง ที่เกี่ยวกับภัยพิบัติ หรือป้องกันเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งเรามีจุดยืนที่ชัดเจน และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
ส่วนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ของพรรคประชาชน พร้อมที่จะสนับสนุนนายชัชชาติ สิทธพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้วยหรือไม่ นายณัฐพงษ์ ระบุว่า ถ้าเป็นเรื่องความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน เราไม่ได้ขัดข้องหรือคัดค้านอะไรอยู่แล้ว
ขณะที่นายวิโรจน์ กล่าวเสริมอีกว่า ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต และเจ้าหน้าที่กับนายศุภณัฐ ได้ไปพูดคุยกับล่ามอาสา และอยากให้กระทรวงการต่างประเทศ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ประสานกับสถานทูต โดยเฉพาะสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย และประเทศต่างๆ เข้ามาช่วยกระบวนการพิสูจน์อัตลักษณ์ เพื่อดูในเรื่องเอกสารการระบุตัวตน จึงเป็นประโยชน์อย่างมาก ในการรับเงินเยียวยา เพราะตอนนี้หากพิสูจน์ DNA แล้ว แต่หากไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ว่าใครเป็นญาติหรือมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการรับเงินเยียวยา ทางราชการก็ไม่สามารถจ่ายเงินเยียวยาให้ได้ ซึ่งตนก็จะประสานงานเรื่องนี้กับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต
ส่วนตัวเลขคนงานที่ประสบเหตุเป็นผู้สูญหายอาจมีความคลาดเคลื่อน และไม่ตรงกับที่แรงงานออกมาเปิดเผย นายวิโรจน์ ระบุว่า ตนได้พูดคุยกับนายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ซึ่งตอนนี้เรามีข้อสันนิษฐานว่า จำนวนแรงงานต่างชาติที่ตัวเลขระบุอยู่ระหว่างการสูญหายอาจน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะมีนายจ้างจำนวนหนึ่งกลัวถูกดำเนินคดี กลัวว่าใช้แรงงานโดยไม่ขึ้นทะเบียน และไม่มีระบบประกันสังคม ซึ่งตนได้พูดคุยกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ยืนยันว่าการดำเนินการ
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ตามกฎหมายต้องดำเนินการ แต่ตอนนี้ไม่ใช่การไล่บี้เอาผิดกับผู้จ้าง ซึ่งต้องบังคับใช้กฎหมาย โดยเป้าหมายคือการเยียวยาผู้ประสบภัย และกฎหมายต่างๆ นายจ้างกลัวในการดำเนินการจำคุก รัฐมนตรีแรงงานบอกว่าคงไม่เป็นแบบนั้น แต่ต้องมีการปรับไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่จะอยู่ในฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตนจึงอยากให้นายจ้างที่จ่ายค่าแรง และรู้อยู่แล้วว่า ชื่อของลูกจ้างชื่ออะไรบ้างมีกี่คนและตัวเลขที่แท้จริงเป็นเท่าไหร่ ไม่เช่นนั้นกระทรวงก็ทำงานลำบาก