เปิดเวทีชำแหละมติ ครม. บริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ต่อใบอนุญาตทำงานแบบ MOU

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ร่วมกับกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานสีขาว (GEFW) เตรียมจัดเวทีชำแหละมติครม. การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ผลกระทบของแนวทางการต่อใบอนุญาตทำงานแบบ MOU ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ วิเคราะห์ผลกระทบจากการต่ออายุใบอนุญาตทำงานแบบ MOU ซึ่งกำหนดให้แรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตหมดอายุในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 และต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับประเทศต้นทาง ได้แก่ พม่า ลาว,กัมพูชา และเวียดนาม

3 ธ.ค.2567 – นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เปิดเผยว่า เวทีในวันที่ 4 ธันวาคมนี้จะมีการวิพากษ์ตามมติ ครม. โดยเฉพาะในกรณีของการต่ออายุการอนุญาตในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งจะใช้ MOU พิเศษในการดำเนินการ และจะมีการดึงประเทศต้นทางเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยพม่าและกัมพูชา ยอมอนุญาตให้แรงงานเข้ามาทำงานในไทยได้ แต่ปัญหาของพม่าคือมีแรงงานจำนวนมากกว่า 2 ล้านคนที่ต้องดำเนินการในรอบนี้ แต่มีศูนย์ดำเนินการ 30 แห่งทำให้การดำเนินการนี้อาจจะไม่ทัน

นายอดิศรกล่าวต่อว่า เนื่องจากขั้นตอนต่างๆ เช่น การขออนุมัติจากประเทศต้นทาง การยื่นเอกสาร และการขอวีซ่าต้องเสร็จภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 เท่ากับว่าศูนย์พม่าต้องพิจารณาให้ได้ประมาณ 3,000 คนต่อวัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้ากลับไปใช้ระบบปกติ ก็ทำต่อในไทยไปเลย จะตัดขั้นตอนที่ต้องไปประสานข้ามชาติออกก็จะทำให้ขั้นตอนเร็วขึ้น ไม่ต้องรอระบบส่งตรวจโรคแล้ว มายื่นขออนุญาตทำงานและวิซ่าต่อได้เลย ซึ่งใช้เวลาไม่นานก็เสร็จ

การมีแนวทางและนโยบายแบบนี้ จะเร่งทำให้คนหลุดจากระบบหรือไม่ เพราะคนจำนวนเยอะมากกว่า 2 ล้านคน แล้วก็ด้วยเวลาที่จำกัด เหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือน ถ้าตัดวันหยุดราชการออก ก็น่าจะเหลือประมาณ 40 กว่าวัน คงไม่ทัน ถ้าไม่ทันก็จะทำให้คนหลุดจากระบบ กลายเป็นคนผิดกฎหมายหรือคนจะรีบทำโดยการจ่ายเงินให้นายหน้าเร่งในระบบ ทำให้เกิดคอร์รัปชั่นมากขึ้น ก็เลยเป็นที่มาของเวทีนี้ เราอยากเสนอให้รัฐปรับแนวปฏิบัติในเรื่องการดำเนินการตามมติ ครม. โดยต่ออายุการทำงานออกไป” นายอดิศรกล่าว

ด้าน นายสหัตวัต คุ้มคง สส.พรรคประชาชน และโฆษกคณะกรรมธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การต่อใบอนุญาตในรูปแบบ MOU นั้น จริงๆแล้วแนวคิดดูดีมากว่าต้องมีนายจ้างขอคำขอจากประเทศต้นทางส่งมา มีขั้นตอนต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติแล้วมันทำไม่ได้ ปัญหาหลักของประเทศเมียนมาร์คือถ้าเป็นเจ้าของสวนเกษตรที่อยากจะหาแรงงานข้ามชาติสัก 2 คน ไม่รู้จะต้องติดต่อใคร สุดท้ายกระบวนการ MOU ก็จะผ่านบริษัทนายหน้าเสียส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และท้ายสุดกระบวนการ MOU ยังมีข้อเรียกร้องให้แรงงานข้ามชาติต้องกลับไปที่ประเทศต้นทาง

“กระบวนการของไทยที่มันยากและช้า แน่นอนว่ามันทำให้เกิดเงินใต้โต๊ะเป็นจำนวนมาก จ่ายให้เร็วขึ้น จ่ายให้บริษัทจัดหางานที่ต้องมาดำเนินการแทนนายจ้างทั่วไป อันนี้เกิดขึ้นแน่นอน ไม่รู้ว่ารัฐบาลไทยได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้ เพราะจริงๆ พอขั้นตอนมันยาก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือแรงงานจำนวนมากหลุดออกจากระบบ ท้ายที่สุดการขึ้นทะเบียนด้วยมติ ครม.เป็นปัญหาเพราะมันไม่ชัดเจน ต้องรอมติ ครม. ไปเรื่อยๆ เราต้องกลับมาคุยกันเรื่องกระบวนการขึ้นทะเบียนของไทยใหม่ทั้งหมด”นายสหัตวัตกล่าว

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *