เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2
ภาพจำทางการเมืองในปี 2567 เรื่องชั้น 14 รพ.ตำรวจ คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม ระบบราชการ และระบบการเมือง และสิ่งที่เราเคยเห็นในอดีตสมัยนายทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกฯ ก็คือ เป็นรัฐบาลที่ไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่ฟังเสียงคนค้าน เอาแต่ใจตัวเอง นอกจากนี้ ภาพจำอีกสิ่งหนึ่งที่เห็นคือนโยบายประชานิยมแบบสามานย์เริ่มกลับมา ซึ่งในต่างประเทศเคยมีบทเรียนมาแล้ว ที่ใช้นโยบายประชานิยม จนประเทศล่มจม มันกำลังเริ่มกลับมาอีก…
นพ.ระวี มาศฉมาดล
เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน ก็เข้าสู่ช่วงนับถอยหลัง อำลาปี 2567 เตรียมต้อนรับปีใหม่ 2568 กันแล้ว สำหรับการเมืองไทยในปีหน้า ปีมะเส็ง 2568 ยังมีอีกหลายฉากการเมืองไทยต้องติดตามกัน ซึ่งประเมินแล้ว ปีหน้า 2568 การเมืองไทย มีหลายฉากที่น่าจะร้อนแรงพอสมควร
รายการ”ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด”สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา”เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า การเมืองไทยปี 2568“นั่นก็คือ ผศ.ดร.บุญส่ง ชเลธร อาจารย์ประจำ วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยมีบทสนทนาที่เข้มข้น ชวนให้ติดตาม โดยมีรายละเอียดังนี้
เมื่อถามถึงมุมมองภาพรวมการเมืองไทยปี 2567 มีอะไรที่อยากจะกล่าวถึงหรือไม่ คำถามนี้ เปิดออกมาก็ร้อนแรงเลยทีเดียว
ดร.บุญส่ง-ปี 2567 เรื่องที่ติดใจและเจ็บปวดก็คือเรื่องชั้น 14 ร.พ.ตำรวจ เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจที่สุด เป็นการทำร้ายและทำลายระบอบยุติธรรมของประเทศไทย อย่างรุนแรงที่สุดโดยการร่วมมือกันของบุคคลกลุ่มต่างๆ ทั้งนักการเมือง ข้าราชการและประชาชนด้วยส่วนหนึ่ง เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สุดสำหรับประเทศไทย เป็นเรื่องโกหกระดับชาติเลยเรื่องชั้น 14 เป็นการเหยียบย่ำกระบวนการยุติธรรมไทย
ผมคิดว่าทุกคนรู้ดีว่าเรื่องชั้น 14 ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้ที่โกหกก็รู้ว่าคนฟังก็รู้ว่าเขาโกหกแต่ก็ยังกล้าที่จะโกหก ผมว่าเรื่องชั้น 14 ไม่มีอะไรเหลือ สำหรับความเชื่อถือที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม สำหรับข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นพ.ระวี-ปี 2567 ภาพจำทางการเมืองสำหรับผมในปี 2567 เรื่องชั้น 14 คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม ระบบราชการ และระบบการเมือง และสิ่งที่เราเคยเห็นในอดีตสมัยคุณทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกฯ ก็คือ เป็นรัฐบาลที่ไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่ฟังเสียงคนค้าน เอาแต่ใจตัวเอง
นอกจากนี้ ภาพจำอีกสิ่งหนึ่งที่เห็นคือนโยบายประชานิยมแบบสามานย์เริ่มกลับมา ซึ่งในต่างประเทศเคยมีบทเรียนมาแล้ว ตุรกี เวเนซุเอลา ที่ใช้นโยบายประชานิยม จนประเทศล่มจม มันกำลังเริ่มกลับมาอีก จากก่อนหน้านี้ที่จะทำดิจิทัลวอลเล็ตหนึ่งหมื่นบาท ก็มีประชาชน-นักวิชาการต่างพากันออกมาคัดค้าน ที่โชคดี แม้จะมีการแจกเงิน แต่ก็ไม่ได้ตรงกับที่เคยหาเสียงไว้ ภายใต้ข้ออ้างว่าทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็มีการกระทำเช่น ไปบี้ธนาคารแห่งประเทศไทย คือเป็นการคิดแต่จะเอาเงินภาษีประชาชนไปหาเสียง ไม่ได้คิดเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ
-จากที่ทั้งสองคนให้ความเห็นเหมือนกับสะท้อนว่าระบอบทักษิณกลับมาอีกครั้งหนึ่ง พูดแบบนี้ได้หรือไม่?
ดร.บุญส่ง-พูดได้
นพ.ระวี-เป็นความจริง
ดร.บุญส่ง-เหมือนกับเขายึดประเทศไทยไปแล้ว โดยที่คนจำนวนไม่น้อย สยบยอมให้กับการกระทำแบบนี้ อันนี้เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สุด การที่พรรคการเมืองทั้งหลาย ยอมให้ นส.แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายไหนก็ตาม มองว่าคือการสยบยอมและร่วมมือกันในการทำร้าย-ทำลายประเทศไทย
นพ.ระวี-ประเด็นที่ผมเห็นว่าเกิดขึ้นในปี 2567 และเริ่มจะก่อตัวเห็นผลในปีหน้า 2568 ก็คือเรื่อง MOU2544 ภายใต้ข้ออ้างว่าเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน คือทรัพยากรในทะเล ถ้าไม่รีบตกลงกันตอนนี้ปล่อยไปอีก 10-15 ปีข้างหน้า ก็จะหมดสิทธิ์ขุดขึ้นมาแล้ว และตอนนี้เริ่มเกิดปรากฏการณ์ที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ออกมาขับเคลื่อน ที่หากจำกันได้ ก่อนจะเกิดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็เริ่มจากมีการจัดรายการอย่างเมืองไทยรายสัปดาห์ โดยเริ่มจากหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนในที่สุดก็ลงถนน และจบลงด้วย…..และตอนที่จะเกิดกปปส.ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทางประชาธิปัตย์ก็มีการจัดเวทีเดินสายผ่าความจริง ไปออกพบปะประชาชนตามพื้นที่เขตต่างๆ ทุกสัปดาห์ ทำแบบนี้อยู่ครึ่งปี จากนั้นก็ลงถนน เกิดเป็นม็อบกปปส. และจบลงด้วย ….. มาตอนนี้คุณสนธิ ก็เริ่มที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ส่องจุดอันตราย ประชานิยมสามานย์
-ที่ทั้งสองคนบอกตรงกันว่า เหมือนเป็นการกลับมาของระบอบทักษิณอีกครั้งหนึ่ง แล้วครั้งนี้เหมือนหรือแตกต่างจากก่อนหน้านี้เช่นช่วงนายทักษิณเป็นนายกฯ หรือสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชนช่วงปี 2551 อย่างไร?
นพ.ระวี-ผมคิดว่าโครงสร้างทางความคิด ทุกอย่างไม่ได้ต่างจากเดิม กรอบและทิศทางแบบเดียวกัน สุดท้ายคือประชานิยมสามานย์ เช่น เอางบประมาณมาหาเสียงเพื่อให้พรรคตัวเองได้คะแนนเสียง ไม่สนใจว่าเงินของประเทศที่มีอยู่ ควรทำอะไรที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด อย่างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ทุกรัฐบาลเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี เขาเอาตามหมด แต่พอจะทำดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงินหนึ่งหมื่นบาท คนทักท้วงมากมายว่าทำไม ไม่ทำแบบ คนละครึ่ง แล้วรัฐบาลบอกว่าแจกเงินแล้วจะเกิดพายุหมุนเศรษฐกิจสี่รอบ แจกไปแล้วกี่แสนล้านบาท พายุหมุนยังไม่เห็นมี แค่ครึ้มฟ้าครึ้มฝน พายุลูกเดียวยังไม่มีจนถึงวันนี้ ถ้าตอนนั้นเอาตามที่คนเสนอ ทำแบบคนละครึ่ง หากเอาเงินลงไปสามแสนล้านบาท ประชาชนก็ออกเองอีกครึ่งหนึ่งสามแสนล้านบาท ก็เป็นหกแสนล้านบาทแล้ว เห็นสิ่งที่ดีแต่ไม่ทำ
บุญส่ง-ระบอบทักษิณในอดีตกับสมัยปัจจุบัน จะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ กลุ่มเขา(ทักษิณ)มุ่งไปที่ผลประโยชน์ส่วนตัวกับพรรคพวก มากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน อันนี้เหมือนกัน
ส่วนที่แตกต่างกันก็คือ สมัยก่อน เวลาจะทำอะไร จะดูเนียนกว่านี้ ยังมีความละอายบ้าง หลายจุดไม่ได้ทำชัดเจนแบบตอนนี้ แต่ในปัจจุบันเขาไม่มีความละอายแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันในระบอบทักษิณก็คือ อยากทำอะไรก็ทำ
ดูอย่าง”กระบวนการยุติธรรม”สมัยก่อนเขาไม่กล้าทำกันขนาดนี้ แต่สมัยนี้ไม่แคร์เลย ทุกอย่างเคลียร์ได้หมด ทุกอย่างอยู่ใต้อำนาจเขาหมด สมัยก่อนยังมีกลัว แต่ตอนนี้ไม่มีเลย นี้คือความต่างกัน สมัยนี้ผมมองว่าหนักกว่าเดิม เพียงแต่ผมรู้สึกว่า การคัดค้านต่อต้านของฝ่ายประชาชน รู้สึกอ่อนแอกว่าเดิม กว่ายุคสมัยนั้น อาจเพราะว่าโลกมันเปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่ มีความสนใจที่แตกต่างไปจากรุ่นของเราในสมัยอดีต พลังที่ต่อต้านคุณทักษิณมีน้อยลง แต่ความเลวร้ายของระบอบทักษิณมันมีมากขึ้น อันนี้คือจุดที่น่าห่วงสำหรับปีต่อไป (2568)
-แสดงว่าระบอบทักษิณยังมีมนต์ขลัง?
ดร.บุญส่ง-หนักหนาสาหัส อย่างสมัยก่อน เขาจะไม่กล้าพูดว่าระบอบทักษิณมันโกง รวยแล้วโกง สมัยก่อนไม่กล้าพูดกัน แต่สมัยนี้เห็นไหม ชาวบ้านก็บอกว่าแม้จะโกง ก็ไม่เป็นไร คือเดี๋ยวนี้มันยอมรับสภาพการโกงหรือความไม่ถูกต้องแบบหน้าตาเฉย ไม่มีอะไรต้องละอายใจอีกต่อไปแล้ว
-มีการมองกันว่าที่เพื่อไทยกลับมาได้เพราะสังคมกลัวพรรคส้ม หรืออีกฝ่ายหนึ่งที่มีเรื่องของภัยคุกคามกดดันสถาบันฯ เลยต้องมาอาศัยพรรคเพื่อไทย?
นพ.ระวี-ผมคิดว่าเป็นความจริงที่ต้องยอมรับ พูดง่ายๆ ใช้ยุทธศาสตร์ผนึกกำลังแดง เพื่อล้มส้ม เช่นอย่างที่เห็นล้มส้ม ไม่ให้เป็นนายกฯทั้งที่มีเสียงส.ส.มากกว่าพรรคเพื่อไทย จนอุ๊งอิ๊งขึ้นเป็นนายกฯ โดยที่กลุ่มพรรคการเมืองแนวทางแบบอนุรักษ์นิยม ก็ไปร่วมผนึกกำลัง อันนี้คือรูปธรรมที่ชัดเจน โดยมีคนเห็นด้วยคือ ฝ่ายแดง กับฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่เห็นด้วยกับทิศทางนี้ โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคือฝ่ายส้ม ซึ่งตอนนี้ก็ต้องให้โอกาสรัฐบาลทำงานก่อน แต่ก็ผ่านมาได้หนึ่งปีกว่าแล้ว ปีหน้า 2568 ก็น่าจะเป็นปีตัดสินแล้วว่า ประชาชนจะให้โอกาสต่ออีกหรือไม่
ดร.บุญส่ง-เรื่องแดงตรึงส้ม แดงยันส้ม ผมก็เห็นด้วย เข้าใจแบบนั้นเหมือนกัน ที่ยอมให้ทักษิณกลับมา แล้วได้รับการลดโทษจากแปดปีเหลือหนึ่งปี หนีคดีไป 17 ปีแล้วได้รับการลดโทษ แล้วมาตั้งรัฐบาล ก็ไปยกมือสนับสนุนกันหมดฝ่ายอนุรักษ์นิยม แล้วผลทุกวันนี้ไม่แหลกละเอียดหรือ ทุกวันนี้ฝ่ายอนุรักษ์นิยม รู้สึกตัวบ้างไหม ทักษิณทำอะไรกับประเทศไทย รัฐบาลชุดนี้ทำอะไรกับประเทศไทย มันมีอะไรเหลือบ้าง กระบวนการยุติธรรมยับเยินขนาดไหน กระทรวงยุติธรรมยังมีเหลืออยู่หรือไม่ เป็นเรื่องเศร้าที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไปร่วมกับพรรคเพื่อไทย ที่เป็นเรื่องผิดพลาด หากคุณคิดถึงผลประโยชน์ประชาชน คุณต้องไม่ร่วมกับเพื่อไทย ที่คุณไปร่วมรัฐบาล เป็นรัฐมนตรี ถามว่าคุณทำอะไรได้บ้าง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีผลงานอะไรที่เป็นรูปธรรมที่สะท้อนว่าคุณได้ต่อสู้ประชาชน ทำเพื่อประเทศชาติ ไม่เห็นเลย
นพ.ระวี-เมื่อเรายอมรับระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก -การเลือกตั้งแบบนี้ ทางเลือกหนึ่งตอนตั้งรัฐบาลตอนแรก เพื่อไทยก็ร่วมกับก้าวไกล แล้วพรรคฝ่ายอนุรักษ์ก็มาเป็นฝ่ายค้าน ที่อาจจะแรงกว่านี้หรืออาจจะดีกว่านี้ก็ได้ ก็เป็นทางออกทางหนึ่ง ทางที่สองคือเพื่อสกัดฝ่ายส้ม ฝ่ายแดงกับอนุรักษ์นิยม เลยต้องมารวมกัน เป็นหมากบังคับ จนเพื่อไทยส่งคนขึ้นมาเป็นนายกฯ เหตุการณ์อย่างที่อาจารย์บุญส่งกล่าวเลยเกิดขึ้น แต่ฝ่ายอนุรักษ์ฯจริงๆ ก็มีจุดยืนขั้นหนึ่ง อย่างเช่นภูมิใจไทย ก็มีจุดยืนของเขา หรือรวมไทยสร้างชาติ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน ก็สู้เรื่องพลังงาน ก็เห็นทำอยู่ 4-5 เรื่องที่ออกมาสกัด นายทุนพลังงาน เขาก็ทำในกรอบที่สามารถจะทำได้ ทางออกถ้าจะแก้ได้ ฝ่ายอนุรักษ์ฯ ก็ต้องได้เสียงข้างมากเข้ามา มันก็จบ
ปี 2567 เรื่องที่เจ็บปวดก็คือเรื่องชั้น 14 ร.พ.ตำรวจ เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจที่สุด เป็นการทำร้ายและทำลายระบอบยุติธรรมของประเทศไทยอย่างรุนแรงที่สุดโดยการร่วมมือกันของบุคคลกลุ่มต่างๆ ทั้งนักการเมือง ข้าราชการและประชาชนด้วยส่วนหนึ่ง เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สุดสำหรับประเทศไทย เป็นเรื่องโกหกระดับชาติ
บุญส่ง ชเลธร
2568 จับสัญญาณม็อบการเมือง เงื่อนไขสุกงอมหรือยัง?
-การทำงานของรัฐบาลเพื่อไทยช่วงหนึ่งปีกว่า ตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสินมารัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร แลหน้าแล้วมีอะไรที่โอเคหรือไม่?
บุญส่ง-อนาคตปีหน้า น่ากลัว ปี2567 รัฐบาลไม่ผ่าน นายกฯก็ไม่ผ่านสักคนเดียว ผมไม่เห็นเลยว่า รัฐบาลชุดนี้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนแม้แต่นิดเดียว ผมว่าที่เขาวางแผนทำสิ่งต่างๆในปีนี้ เพื่อที่จะเตรียมการหาเสียงในปีต่อไป คือหากมีอะไรสะดุดเขาพร้อมที่จะหาเสียง สิ่งที่รัฐบาล ทำทุกวันนี้ อย่างที่นพ.ระวีบอก ประชานิยมสามานย์จะกลับมา ซึ่งประชานิยม มันก็มีข้อดีและข้อเสีย ไม่ใช่ว่าเลวร้ายไปทั้งหมด ในบางขณะบางจังหวะ ประชานิยมก็เกิดประโยชน์ได้ แต่ควรเป็นการใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหา สิ่งที่ควรทำคือต้องวางแผนระยะยาว แต่สิ่งที่เห็นจากรัฐบาลทำในรอบปี 2567 อย่างที่เสนอก่อนหน้านี้เรื่องการขึ้น VAT ก็เพื่อต้องการเก็บภาษีนำเงินไปแจก เป็นการแจกเพื่อหาเสียง นี้คือสามานย์อย่างแท้จริง ถ้าคิดจะรีดเงินประชาชน ผ่านทางภาษี เพื่อเอามาใช้จ่ายในการหาเสียงของตัวเอง เพื่อจะเอาชนะการเลือกตั้งสมัยต่อไป สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องชั่วร้าย แต่ถ้าคิดขึ้นภาษี เพราะไม่มีงบ แต่จะเอามาพัฒนาประเทศ มาสร้างอะไรต่างๆ เพื่อทำให้ประเทศดีขึ้น ประชาชนมีงานทำ แก้ปัญหาสวัสดิการ ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ต่างๆ แบบนี้ผมเห็นด้วย แต่สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ที่คิดมาตั้งแต่ต้น ไม่มีอะไรเลย ตั้งแต่แจกเงินหนึ่งหมื่นบาท ก็แจกเพื่อหาเสียง และที่บอกจะสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ก็เป็นการโกหกประชาชน โดยไม่ได้มีความละอายแม้แต่นิดเดียว ดังนั้นหากถามว่ารัฐบาลเพื่อไทยที่ผ่านมาแล้วสองรัฐบาลมีผลงานอะไร (เศรษฐา ทวีสิน-แพทองธาร ชินวัตร) ผมก็เหมือนประชาชนทั่วไปคิดต้องนั่งคิดนาน แต่ถ้าถามว่ามีความผิดพลาดอะไร มันจะพลั่งพลูออกมา
นพ.ระวี-ตอนเลือกตั้งปี 2566 หลายพรรคหาเสียง ให้เบี้ยผู้สูงอายุเดือนละสามพันบาท ตอนนี้เงียบหมด แค่เดือนละพันทุกวันนี้ยังให้ไม่ถึงเลยเพราะเป็นแค่นโยบายไว้หาเสียงเช่นเดียวกับดิจิทัลวอลเล็ต ตอนออกมา จะเริ่มทำคนคัดค้านจำนวนมาก แล้วแทนที่จะทำคนละครึ่ง ถ้าทำพายุหมุนเศรษฐกิจเกิดแน่ แต่ไม่ทำ เพราะถ้าทำมันไม่ได้ประชานิยม แลหน้าต่อไป ต้องดูว่าครม.จะตั้งกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดธปท.คนใหม่หรือไม่ นี้คือระบบกินทีละคำของระบบทักษิณ ถ้าตั้งได้ จะเป็นการเริ่มต้นบีบธปท.เพื่อทำนโยบายประชานิยม
การเมืองปีหน้า ที่คนบอกฝ่ายอนุรักษ์นิยม อ่อนกำลังที่จะไปสู้กับฝ่ายแดง-ฝ่ายส้ม การที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ เริ่มมีการเคลื่อนไหวเช่นการจัดเวทีความจริงมีหนึ่งเดียว ที่ธรรมศาสตร์ แสดงว่านายสนธิก็เริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่าระบอบทักษิณเริ่มจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง มีการไปยื่นหนังสือเรื่องMOU2544 ถึงนายกฯ ก็มีคนถามผมว่า นายสนธิจะลงถนนหรือไม่ และลงแล้วจะสำเร็จหรือไม่ เพราะม็อบช่วงหลังล้มเหลวหมด และถ้าลงถนนสำเร็จจะจบอย่างไร
ซึ่งความคิดเห็นของผม มองว่าหากนายสนธิจะลงถนนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสุกงอมของสถานการณ์ทางการเมือง หากสถานการณ์สุกงอม นายสนธิและประชาชนลงถนนแน่นอน อย่างเรื่องแจกเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาท ไม่ได้เกิดพายุหมุนเศรษฐกิจ รัฐบาลเอาเงินไปทิ้งเสียเปล่า หากไปลงม็อบด้วยประเด็นแบบนี้ ประชาชนยังไม่สุกงอม ประชาชนยังไม่ออก อาจมีแค่ประชาชนไปร่วมม็อบสักหนึ่งพันถึงสองพันคน แต่สุกงอมคือต้องมีสิ่งที่ประชาชนทุกคนเริ่มคิดว่า อยู่บ้านไม่ได้แล้ว ต้องลงถนน ต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอีกครั้ง ซึ่งเรื่องmouอาจไม่ใช่ประเด็นเดียว ก็คิดว่าหากสุกงอม นายสนธิ-ประชาชน ลงถนนแน่นอน สุกงอมก็คือ ปล่อยประเทศไปแบบนี้ไม่ได้อีกแล้วหากปล่อยไปประเทศจะเสียหาย จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนว่าลงแล้วจะสำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีบุคคลสามคนช่วยนายสนธิและประชาชนหรือไม่ หากช่วยก็มีโอกาสสำเร็จ
สามคนดังกล่าวที่จะช่วยให้นายสนธิประสบความสำเร็จ คือนายทักษิณ นส.แพทองธาร และยิ่งลักษณ์ สามคนนี้จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ เช่น อีกสัก2-3 เดือน ก็ประกาศเลยคณะกรรมการร่วมไทย-กัมพูชา หรือJTC มีมติแบ่งปันผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกัน เพราะปล่อยทิ้งไว้มันจะสูญเปล่าไม่ได้ประโยชน์อะไร ดังนั้นสองประเทศจะเดินหน้า ขุดเจาะน้ำมัน แบ่งปันผลประโยชน์คนละครึ่ง เหมือนไทย-มาเลเซีย ส่วนเรื่องเขตแดนเก็บไว้ก่อน หากครม.มีมติแบบนี้ ก็คือ นายกฯอุ๊งอิ๊ง ช่วยนายสนธิแล้ว ส่วนยิ่งลักษณ์ ปีหน้าก็กลับประเทศไทยแล้วทำเหมือนนายทักษิณ แบบทักษิณโมเดล ถ้าทำแบบนี้ก็จะเกิดความสุกงอมมากขึ้น และภายในสิ้นปีนี้ ตั้งกิตติรัตน์ เป็นประธานบอร์ดธปท.จากนั้นเริ่มบี้ธปท.ที่ต้องดูว่าจะมีการโยกเงินคงคลังหรือไม่ และแทรกแซงนโยบายการเงินหรือไม่ รวมถึงต้องดูว่าเพื่อไทยจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมพ่วงคดี 112 เพื่อช่วยใครหรือไม่ โดยหากให้นิรโทษกรรม 112 เข้าไปด้วย เขาไม่ได้คิดจะช่วยส้ม แต่ต้องการจะช่วยคนอื่นหรือไม่
และเรื่องสุดท้ายที่ประชาชนจะทนไม่ได้คือ พอบีบธปท. กระบวนการต่อไปคือการบงการนโยบายหาเสียงของเพื่อไทยโดยใช้ประชานิยมผลาญเงินของประเทศในโครงการที่แปลกๆ หลังต้องไปตั้งหลักใหม่เรื่องการแจกเงินผู้สูงอายุ แทนที่จะนำงบประมาณไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนว่าจะจบอย่างไร หากนายสนธิกับประชาชนลงถนน มีสามทาง ทางแรก รัฐบาลยอมตามม็อบคือม็อบเรียกร้องอะไร ก็ยอมหมด แต่ยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรสำหรับเส้นทางนี้ สอง จบลงด้วยมติขององค์กรอิสระหรือศาล เช่นหุ้นอัลไพน์ นายกฯ โดนถอดถอน หรือนายทักษิณติดคุกคดี 112 กลับไปนอนคุกใหม่ สาม ก็คือเหมือนกับสมัยพันธมิตรฯ สมัยกปปส. ถ้ามันเกิดความขัดแย้งเกิดความรุนแรง เกิดการยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นสามทางออกที่อาจจะเกิดขึ้น ที่ต้องคอยดูในปีหน้า
บุญส่ง-คำว่าสุกงอม มันต้องตีความกันเยอะ ว่าจะตีความกันยังไง แต่ปัญหาที่รัฐบาลชุดนี้ทำไว้เยอะตลอดปีที่ผ่านมา ได้สร้างปัญหาให้กับประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงมาตลอด และมันจะเหมือนดินพอกหางหมู วันหนึ่งมันจะระเบิด กับสิ่งที่ทำวันละนิด วันละนิด แล้วพอถึงวันที่มันระเบิดขึ้นมา คุณจะงงมากว่าจุดเล็กนิดเดียว ทำไมมันระเบิดได้ แต่มันไม่ใช่จุดนั้นแต่เพราะการสะสมกันมาตลอดปีของการทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องมาตลอด พอถึงวันมันจะระเบิดแล้วจะระเบิดแรงมาก บางทีไม่ต้องมีเรื่องใหญ่โตเลยในวันที่ระเบิด แค่จุดเล็กๆ แต่ถ้ามันไปจี้ใจประชาชนได้ ซึ่งผมเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ ได้ทำสิ่งเหล่านี้สะสมมาตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เรื่องนายกฯมาอ่านไอแพดแล้วอ่านแบบตะกุกตะกัก ที่ทุกคนก็จับได้ว่าไม่ได้มีความรู้ในสิ่งที่ตัวเองอ่านเลย อ่านไปแบบผ่านๆ แล้วก็ตอบแบบผ่านๆ เรามีนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีวุฒิภาวะ ไม่มีความเป็นผู้นำในการเป็นนายกฯเลยแม้แต่นิดเดียว มันทำให้มองเห็นได้ว่าประเทศเรามันแย่แล้ว สิ่งเหล่านี้เมื่อมันสะสมาเรื่อยๆ ผมว่าปีหน้า มันจะถึงจุดระเบิด ที่เมื่อถึงตอนนั้นแล้ว มันก็ไม่มีอะไรที่ต้านได้
ส่วนหากนายสนธิจะลงถนนจริงๆ อันหนึ่งที่ต้องเคลียร์ต้องตอบคำถามให้ได้ก็คือ ประชาชนหากสนับสนุนเรื่องนี้ จะได้ประโยชน์อะไร ประชาชนจะโดนหลอกให้ลงถนนหรือไม่ เพราะว่าตอนนี้ มันมีความไม่แน่ใจ มันมีความรู้สึกว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา คุณหลอกเราหรือเปล่า ตลอดเวลา พอลงถนนหรือมีอะไรขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง ก็จะมีคนที่ได้ประโยชน์อยู่แค่คนกลุ่มเล็กนิดเดียวแต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ และแถมตัวผู้นำ แกนนำที่ลงไปก็มีคดีความติดต่อกันมาเป็นสิบปี โดนฟ้องล้มละลายอะไรต่างๆ มันทำให้คนส่วนใหญ่ไม่แน่ใจแล้วว่าลงแล้วมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่ คุณเคลียร์ปัญหานี้ให้ชัดเจนได้ไหม หากยังปล่อยให้มีคนกังวล คนก็จะร่วมลงถนนน้อย และโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว การจะชนะ การจะวิจารณ์รัฐบาล มันไม่จำเป็นต้องไปจุดม็อบ บางทีนั่งพูดกันในห้องแอร์ สองนาที คนฟังกันเป็นล้านคน ก็ง่ายกว่า คำว่าลงถนน ก็เป็นวิธีการหนึ่งเท่านั้น
-หลายคนมองว่าโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารอีก มันน้อยมาก?
บุญส่ง-ผมไม่ค่อยเชื่อว่าจะมีรัฐประหาร มันยาก มันมีทางเลือกอื่น และผมคิดว่าถ้ารัฐประหาร มันไม่ใช่แล้ว มันไม่ใช่ทางออก มันจะเป็นการผูกปัญหาให้มันยุ่งยากขึ้นไปอีก การรัฐประหารไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา บางทีในระบบอาจต้องปล่อยแม้จะวุ่นวายก็ต้องยอม
นพ.ระวี-ในส่วนที่อาจารย์บุญส่งบอกว่า หากจะมีการเคลื่อนไหว จะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่ ขอชี้แจงว่า ม็อบตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 มา 6 ตุลาคม 2519 มาถึงยุคหลังๆ บรรดาผู้นำนักศึกษา หรือแกนนำพันธมิตร แกนนำกปปส. หรือแกนนำตอนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทุกคนไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง สิ่งที่เราพูดกันก็คือ การเคลื่อนไหวของประชาชนทุกครั้ง จะจบลงทุกครั้ง ที่ขอพูดแบบภาษาชาวบ้าน หมาคาบไปแดก
เพราะพอเสร็จแล้วเข้าสู่ภาคการเมือง นักการเมืองก็เอาไปพวกผลประโยชน์ ก็แบบนี้ทุกครั้ง แกนนำมีแต่ถูกคดีไม่รู้กี่คดี คำว่าเบื้องหน้าเบื้องหลังอาจเป็นคนอื่น ที่อาจอยู่เบื้องหลัง behind อีกทีหรือไม่ และเรื่องรัฐประหาร ผมว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก คือจะยากขึ้นไปเรื่อยๆ แต่โดยส่วนตัวผม ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่เกิดขึ้นยาก
ผมเลยพูดว่าทางออกสำหรับปีหน้าถ้ามันเกิดขึ้น หากมันจบด้วยกระบวนการยุติธรรมหรือองค์กรอิสระ มันอาจจบแบบนั้นก็ได้ แต่หากจบแบบนั้นทางการเมืองจะเป็นอย่างไร ในเมื่อเราเลือกตั้ง ณ วันนี้ ต่อให้คุณมีเงินเป็นแสนล้าน แต่คุณก็ไม่สามารถโค่นเสื้อส้มกับเสื้อแดงได้ ณ วันนี้นะ ยกเว้นแต่มีปรากฏการณ์พิเศษ คุณถึงจะโค่นลงได้
ดังนั้นเลือกตั้งรอบหน้า สองพรรคหลัก ก็ยังเป็นส้มกับแดง ส่วนความเป็นไปได้ในเรื่องการยุบสภาปีหน้านั้น ผมมองว่านักการเมืองไม่ชอบการเลือกตั้ง การมีอำนาจอยู่ในมือดีที่สุด ถึงเวลาก็เกี้ยะเซี้ยะเจรจาแบ่งผลประโยชน์ ตกลงกันเช่น กระบวนการยุติธรรมแทบไม่มีความหมาย เรื่องอัลไพน์ ศาลตัดสินไปแล้ว แต่ตระกูลชินวัตร ยังเป็นเจ้าของสนามกอล์ฟอัลไพน์ หรือเขากระโดง ตัดสินมาไม่รู้กี่ศาลแล้ว แต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้ แต่มันอาจยุบสภาก็ได้ ถ้ามันขัดแย้งกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลแต่ถ้าตกลงกันได้ ไม่ยุบแน่ แต่ดูแล้ว ณ วันนี้คงยาก ก็คงทู่ซี้กันไปอีก2-3 ปี อยู่จนครบ ถามว่าทำไมทู่ซี้ ถามว่ามีรัฐมนตรีคนไหน ไม่รับเงินใต้โต๊ะ มีใครมายืนยันกับผมสิ มีไหม ปีหนึ่งเท่าไหร่ ผมก็ถาม ถ้าไม่มีลองมาบอก
ดร.บุญส่ง-อำนาจการยุบสภาฯ เป็นของนายกรัฐมนตรี ซึ่งการจะยุบหรือไม่ยุบสภาขึ้นอยู่กับว่า แผนการในการซื้อเสียงกับประชาชนก้าวหน้าไปขนาดไหน ตลอดเวลาที่ทำกันมา ก็คิดเรื่องซื้อเสียง ปีหน้า ก็คงจะมีการแจกเงินกันเป็นอีกระลอกๆ แจกให้กลุ่มเปราะบางแล้วต่อไปก็จะแจกให้ผู้สูงอายุ แล้วต่อไปก็อาจเป็นสตรีมีครรภ์ แม่และเด็ก ก็แจกเป็นระลอกๆ บนเป้าหมายเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง ถ้าเขาทำได้สำเร็จตามนี้ โดยการรีดเงินจากประชาชนเพื่อมาแจกประชาชน แล้วมีการสำรวจออกมาพบว่าทำแล้วได้ผล ประชาชนชอบใจมาก แล้วหวังว่าหากกลับมาเป็นรัฐบาลพรรคเดียว จะแจกได้มากกว่านี้ ผมว่าโอกาสยุบสภา ก็อาจเกิดขึ้น
-การเลือกตั้งรอบหน้า ที่คนมองว่า ก็จะแข่งกันสองพรรคคือพรรคแดงกับพรรคส้ม แล้วมีโอกาสหรือไม่ ที่อาจเกิดกรณีเช่นภูมิใจไทย อาจขึ้นมาเป็นพรรคอันดับหนึ่ง?
นพ.ระวี– ณ วันนี้ การที่ภูมิใจไทยจะขึ้นมาแซง ส้มกับแดง ได้หรือไม่ ผมยังมองว่ายาก มันไม่เหมือนการเลือกสว. ที่การเลือกสว.ทางสีน้ำเงิน ครองเสียงข้างมากขาดลอย แต่การเลือกตั้งส.ส. ภูมิใจไทย อาจได้เสียงส.ส.มากขึ้นแต่พรรคที่จะได้ส.ส.มากสุด ไม่เพื่อไทยก็พรรคประชาชน แต่จะเป็นพรรคไหน ต้องรอดูใกล้ๆ เลือกตั้ง ส่วนกรณีของพรรคส้ม การเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งส.ส.คนละเรื่องกัน ส่วนพรรคที่จะได้อันดับสี่ ยังมองไม่เห็น สีฟ้า อันดับสี่ก็คงยาก เผลอๆ มาอันดับหกหรือเจ็ด
บุญส่ง-หากดูจากสถานการณ์วันนี้ ยังไม่เห็นว่า พรรคสายอนุรักษ์นิยมจะฟื้นตัวได้ แต่ถ้าฟื้นตัวทัน มีเวลาทำงานบ้าง ผมว่าเขาก็มีโอกาสจะขึ้นมา ส่วนเพื่อไทยกับพรรคประชาชน ผมมองว่าอาจจะทรุดลงทั้งสองพรรคในการเลือกตั้งสมัยหน้า คือจะไม่ได้เท่าเดิม ขณะที่พรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม หากยังไม่ฟื้นตัว เพื่อไทยกับประชาชน ก็ยังคงเป็นพรรคใหญ่ทั้งสองพรรค แต่ไม่ใช่ว่า จะมีคะแนนมากกว่าที่ผ่านมา ผมว่าทรุดทั้งสองพรรค แต่แม้พรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมฟื้นมาไม่ทันทั้งสองพรรคดังกล่าวก็จะไม่ใหญ่ไปกว่าเดิม แต่ยังคงเป็นพรรคใหญ่
นพ.ระวี-ผมว่าเพื่อไทยกับประชาชน อาจจะได้คะแนนมาไม่อันดับหนึ่งก็อันดับสอง แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะโตขึ้นหรือไม่ คืออาจจะมากกว่าเดิมหรืออาจจะน้อยกว่าเดิม ซึ่งถึงตอนนี้ยังบอกไม่ได้ ก็อยู่ที่เงื่อนไขที่สามคือ ถ้านายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและรมว.พลังงาน สู้เรื่องพลังงานจริงๆ แล้วชนะขึ้นมา ก็ไม่แน่ คุณพีระพันธุ์ ก็อาจเป็นตัวแทนของสายอนุรักษ์นิยมแทนพลเอกประยุทธ์ได้ ส่วนข่าวการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อ โอกาสใหม่ ข่าวที่ได้รับ ก็อย่างที่เรารู้ๆกัน คือเป็นพรรคที่มีทุนในการที่จะทุ่มเทในการเลือกตั้ง แบบเป็นเนื้อเป็นหนัง แต่จากบทเรียนที่ได้เห็นมา ทุนไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด คือเป็นปัจจัยสำคัญแต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด แล้วจะเอากระแสมาจากไหน ผมยังไม่เห็นเลย จากบุคคลที่ประกาศชื่อมา ก็มีแต่อดีตผู้ว่าฯ คือหากลงท้องถิ่น อาจจะสำเร็จ