เอาแล้ว ‘จตุพร’ อัดยับ ‘เพื่อไทย’ เล่นทีเผลอแหวกกติกา ชง กม.ขนส่งทางราง เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน

พรบ.ขนส่งทางราง ท่าจะวุ่น ! “จตุพร” อัดยับ “เพื่อไทย” เล่นทีเผลอ แหวกกติกาวิปรัฐบาล เสนอ กม.ขนส่งทางราง ฉบับพรรคเพื่อไทย เข้าสภา หวังเคลมเร็ว ประเคนผลประโยชน์กลุ่มทุน เร่งฮุบสัมปทานรถไฟฟ้า พร้อมที่ดินเอื้อเอกชน ขณะที่พรรคร่วมไม่เอาด้วย ให้ยึดฉบับรัฐบาลเป็นหลัก เมินหนีไม่ร่วมลงมติ จับตาครั้งหน้า ดันใหม่ จี้นายกฯ ชี้แจงพฤติกรรมส่อเจตนาก่อหายนะให้บ้านเมือง

20 ต.ค. 2567 – นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ระบุในเฟซบุ๊คส่วนตัว”Jatuporn Prompan – จตุพร พรหมพันธุ์” ระบุถึงกรณี พระราชบัญญัติขนส่งทางราง พ.ศ. … ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ว่า พรรคเพื่อไทยเล่นการเมืองทีเผลอ โดยอาศัยช่วงขณะประชาชนสนใจการจับกุมบรรดาบอสธุรกิจขายตรง ดิไอคอน ดันให้สภาอภิปรายร่าง พรบ.ขนส่งทางราง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนสัมปทานอย่างร้อนรนและเร่งรีบผิดปกติ

นายจตุพร กล่าวว่า เมื่อ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา สภาได้อภิปรายร่าง พรบ.ขนส่งทางราง ซึ่งนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม กับคณะเสนอ โดยก่อนหน้านี้วิปพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นให้ยึดร่างกฎหมาย ของรัฐบาล เป็นหลัก และให้ร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกันของพรรคการเมืองเสนอมาประกบได้ และ ครม.ได้เห็นชอบกับวิปรัฐบาลแล้ว

“แต่พรรคเพื่อไทยได้เสนอร่างกฎหมาย (แบบเดียวกันของพรรค) นี้เข้าสภา แล้วรีบอภิปราย (วาระรับหลักการ) จึงเป็นพฤติกรรมทำผิดกติกาของวิปรัฐบาล เพราะร่างกฎหมายของรัฐบาลไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้เอกชนอย่างสาสมความต้องการ”

นายจตุพร กล่าวว่า ร่าง พรบ.ขนส่งทางรางของพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ประโยชน์กับเอกชน มีความยาว 47 หน้า พร้อมเอกสารประกอบอีกกว่า 80 หน้า กำหนดสาระสำคัญอยู่ที่คำนิยาม “เจ้าของโครงการ” กับ ม.19 โดยสรุปแล้วพรรคเพื่อไทยต้องการยกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของโครงการให้กับเอกชนที่รับสัมปทานร่วมลงทุนรับจ้างเดินรถ โดยคำนิยาม “เจ้าของโครงการ” ร่างกฎหมายของพรรคเพื่อไทยระบุว่า หมายถึงหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ดำเนินการเกี่ยวกับกิจการขนส่งทางราง ดังนั้น จึงแสดงถึงพฤติกรรมที่ส่อเจตนาให้ผลประโยชน์เอื้อกลุ่มทุนโครงการที่เป็นของเอกชนด้วย
ส่วน ม.19 ระบุว่า ให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโครงการขนส่งทางรางที่มีหน่วยงานเจ้าของโครงการเป็นหน่วยงานของรัฐตกเป็นหน่วยงานของเจ้าของโครงการดังกล่าวเมื่อ (1) ได้มีการจัดสร้างแล้วเสร็จ ตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยหน่วยงานเจ้าของโครงการ ในกรณีที่เป็นใบอนุญาตประกอบกิจการทางรางเพื่อการขนส่ง

(2) ได้มีการอนุญาตให้เดินรถขนส่งทางรางโดยหน่วยงานของเจ้าของโครงการในกรณีที่เป็นใบอนุญาตประกอบกิจการทางรางเพื่อการขนส่งและการเดินรถขนส่งทางราง ทั้งนี้เว้นแต่สัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมลงทุนหรือสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางแล้วแต่กรณีกำหนดการโอนกรรมสิทธิ์ไว้เป็นอย่างอื่น

นายจตุพร ย้ำว่า สาระใน ม.19 แปลเป็นอื่นได้ยาก นอกจากต้องการให้เอกชนเป็นเจ้าของโครงการ เพราะขณะนี้กลุ่มทุนใหญ่ทั้ง กลุ่มซีพี กลุ่มบีทีเอส ที่ได้รับสัมปทานรถไฟ 3 สนามบิน รถไฟความเร็วสูง สายอีสาน บวกที่ดินสองข้างทางสถานีนอกเหนือจากรถไฟฟ้าบีทีเอส และบีทีเอ็ม ดังนั้น ด้วยผลประโยชน์เช่นนี้ของรัฐ จึงเปิดช่องว่างด้วยการเสนอ ร่าง พรบ.ขนส่งทางรางเอื้อให้เอกชน

“ที่น่าสนใจคือ คนในแวดวงทั้งบ้านทั้งเมือง ต่างได้ยินกลุ่มธุรกิจที่ร่วมลงขันเลือกตั้ง แล้วส่งคนเข้าไปเป็นรัฐมนตรี เรื่องนี้นายกฯ รับทราบหรือไม่ เพราะที่คุณกำลังอธิบายการเวนคืนสัมปทานที่เหลืออยู่ทั้งหมดมาเป็นของรัฐเพื่อเก็บ 20 บาทตลอดสาย แล้วให้เอกชนบริหารต่อ แต่ร่างกฎหมายใหม่ (ของพรรคเพื่อไทย) นั้น คือการยกโครงการให้กับเอกชนและผลประโยชน์ที่ดินสองข้างทาง โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงที่กำลังสร้างในสายอีสานที่มีที่ดินตลอดสองข้างทางอย่างมโหฬารที่สุด”

นายจตุพร กล่าวว่า ไม่ว่ารถไฟ 3 สนามบิน หรือนอกเหนือรถไฟฟ้าบีทีเอส บีทีเอ็ม เป็นสิ่งไม่ตรงไปตรงมา เพราะเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา มีการอภิปรายร่าง พรบ.ขนส่งทางรางของพรรคเพื่อไทย แต่ปิดประชุมโดยไม่มีการลงมติ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย เนื่องจากผิดกติกาของมติวิปพรรคร่วมรัฐบาล

“แต่เจตนาหลักอยู่ที่พฤติกรรมการใน ม.19 กับคำนิยามความหมายเจ้าของโครงการ คุณเล่นอะไร ที่อยู่ในอายุสัมปทานคุณก็ไปซื้อสัมปทาน เพราะหาเสียง 20 บาทตลอดสายไว้จึงเสนอทุนให้เอาเม็ดเงินไป แล้วหาเงินสร้างภาระกับคนที่เดินทางเข้ามายัง กทม. ไม่ว่าคนจังหวัดอื่นหรือคน กทม. ไปต่างจังหวัดเมื่อกลับเข้ามา กทม.ต้องจ่ายเงิน เพื่อไปอุดหนุนนโยบาย 20 บาท”

นายจตุพร กล่าวว่า ที่สำคัญที่สุดคือ สัมปทานทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์กำลังครบอายุสัมปทานยังมีทีทาไม่ชัดเจนว่าจะต่ออายุสัมปทานอีกหรือไม่ ซึ่งไม่มีเหตุผลใดต้องต่ออายุสัมปทานเลย ดังนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกันทั้งหมด โดยเรื่องจะเกิดใหม่ได้เขียนกฎหมายล่วงหน้าให้เอกชนเป็นเจ้าของได้ถ้าทำสัญญากันเอาไว้ จึงเป็นพฤติกรรมสร้างความเสียหายให้รัฐ

“อยากบอกไปยังรัฐบาลว่า คุณมาเร็ว เคลมเร็วนะ แต่ความฉิบหายมันก็รวดเร็วเหมือนกัน โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ชาติในการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน ถ้าต่อไปนี้นักธุรกิจ นักธุรกรรมใดก็ตามร่วมลงขัน ก็จองกระทรวงกันได้เลย ดังนั้น อยากฟังคำตอบจากรัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคม หรือนายกฯ หรือหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่าอยู่ดีๆ คุณแหวกกติกาของวิปรัฐบาล เจตนาคืออะไร ดิไอคอนที่ว่าดังๆ นั้น ยังมีดิไอคอนในรัฐบาลเป็นแบบนี้กันเหรอ ซึ่งจะนำความเสียหายไปสู่ชาติบ้านเมือง”

นายจตุพร ย้ำว่า นายกฯ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ควรชี้แจงให้กระจ่าง เพราะกฎหมายที่พรรคเพื่อไทยเสนอเข้าสภานั้นไม่ได้เป็นผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง แต่กลับยกให้เอกชน และยังมีความสงสัยว่า กลุ่มทุนไหนมาร่วมลงขันเลือกตั้ง แต่จะเอาผลประโยชน์ชาติไปตอบแทนไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ก็ตาม

“เมื่ออภิปรายในสภาแล้วปิดประชุม โดยไม่ลงมตินั้น ในสัปดาห์ต่อไปจะเอาเข้าสภาต่อหรือไม่ จะมีการลงมติหรือไม่ ดังนั้น อะไรก็ตามที่ไม่ยึดผลประโยชน์ชาติ ความหายนะก็จะบังเกิด ภาคประชาชนควรติดตามดิไอคอนในรัฐบาลอย่างใกล้ชิด”

You may also like...