แต่งชุด ‘เคบายา’ ทั้งเมืองภูเก็ต ฉลองยูเนสโกขึ้นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม
14 ธ.ค.2567 – กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) ร่วมกับจังหวัดภูเก็ตจัดงานเฉลิมฉลองการได้รับประกาศ ต้มยำกุ้ง และ ชุดแต่งกาย เคบายา เป็นรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประเภทบัญชี รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากองค์การยูเนสโก โดยเริ่มจากที่สนามบินนานาชาติ ภูเก็ต เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินสายการบินไทย สวมใส่ชุดเคบายา ให้การต้อนรับผู้โดยสาร พร้อมนำเสนอเมนู ต้มยำกุ้ง ในห้องรับรองผู้โดยสาร สร้างความประทับให้แก่นักท่องเที่ยว
จากนั้น ในช่วงเวลา 17.00 น. มีการจัดขบวนแห่ฉลองยิ่งใหญ่ นำโดยนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับ ชาวภูเก็ต พร้อมใจกันใส่ชุดเคบายาประกาศความภาคภูมิใจ สร้างการรับรู้ ให้แก่นักท่องเที่ยว ด้วยการเดินอวดโฉมเครื่องแต่งกายเคบายาหลากสีสันหลายรูปแบบ เคลื่อนขบวนจากสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี (ลานมังกร) ผ่านย่านเมืองเก่าภูเก็ต ไปยังบริเวณหน้าภัตตาคารบลูอิเลฟเฟ่นภูเก็ต ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานเฉลิมฉลองในระยะทาง 850 เมตร
จากนั้นเข้าสู่พิธีเปิดงานมีการเสวนาสร้างการรับรู้ โดยคณะผู้แทนไทย และ ปอย- ตรีชฎา หงษ์หยก ในฐานะผู้แทนคนรุ่นใหม่ การเดินแฟชั่นโชว์ ชุดเคบายาหลายรูปแบบงดงามตระการตาสมมรดกวัฒนธรรมโลก
นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าฯ ภูเก็ต กล่าวว่า หลังจากทั้ง ต้มยำกุ้งและเคบายาได้รับประกาศเป็นมรดกของมวลมนุษยชาติแล้ว ในฐานะเจ้าของหรือผู้สืบทอดวัฒนธรรม ต้องช่วยกันปกป้องรักษาวัฒนธรรม อย่างถูกต้องเหมาะสม จึงขอเชิญชวนให้ ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ห้างร้านบริษัท สถานศึกษา ร่วมกันรณรงค์ สวมใส่ชุด เคบายา ขณะเดียวกันขอให้ผู้แทนชุมชน สภาวัฒนธรรมทุกระดับช่วยกันรวบรวมองค์ความรู้ ทักษะ และธรรมเนียมการปฏิบัติเพื่อถ่ายทอดไปยังลูกหลานรุ่นถัดไป นอกจากนี้ จังหวัดภูเก็ตจะทำหนังสือแจ้งหน่วยงานในสังกัด ขอความร่วมมือสวมใส่ชุดเคบายาทุกวันพฤหัสบดีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการแต่งกายชุดเคบายา
นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า จ.ภูเก็ต เป็นศูนย์กลางของสมาคมเพอรานากัน การจัดงานครั้งนี้ได้เห็นคนภูเก็ตมีความภาคภูมิใจ พร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดเคบายา ทั้งเมืองร่วมเดินขบวนพาเหรดยิ่งใหญ่เชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศร่วมเฉลิมฉลอง หลังงานนี้ แล้วสมาคมเพอรานากันประเทศไทยจะรวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการและร้านค้าที่จำหน่ายชุดเคบายาเพื่อจัดทำเนียบ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการสืบค้นข้อมูล รวมถึงจัดทำทำเนียบผู้เชี่ยวชาญงานปักและงานผ้าเคบายา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ สนับสนุนให้เกิดการสร้างรายได้ พร้อมกันนี้จะมีการจัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการสร้างสรรค์ชุดเคบายา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วยประชาชนทั่วไปที่สนใจและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งในส่วนนี้ สวธ. ประสานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเทศบาลนครภูเก็ตพิจารณาคัดเลือกกลุ่มเปราะบางดังกล่าว เข้ารับการอบรมเชิงตั้งแต่บัดนี้ต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน 2568 เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กลุ่มคนเหล่านี้
อธิบดี สวธ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในปี 2568 จะร่วมมือกับ 4 ประเทศ ที่ขึ้นทะเบียนมรดกร่วมเคบายาจัดการประชุมนานาชาติที่จ.ภูเก็ต โดยจะจัดประชุมนอกฤดูกาลท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดคนเดินทางมาท่องเที่ยวจ.ภูเก็ต อีกทััง สวธ.จะร่วมกับจังหวัดสตูล กระบี่ ระนอง พังงา ตรัง ภูเก็ต จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองหมุนเวียนกันไป เพื่อให้งานฉลองเคบายามีความเคลื่อนไหวตลอดเวลาและส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ละจังหวัดมีความโดดเด่น โดยเฉพาะ จ.ภูเก็ต มีฝีมือเรื่องผ้า ก็จะมาเพิ่มสีสันนอกจากเป็นเมืองสร้างสรรค์วิทยาการด้านอาหาร ส่วน จ.ระนอง เก่งเรื่องเครื่องประดับมงกุฏเคบายา
นอกจากนี้ ได้หารือกับกลุ่มสยามพิวรรธน์ มีแนวทางจัดตั้งร้านจำหน่ายเคบายาในพื้นที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม สถานที่ให้ความรู้สาธิต และจำหน่ายชุดเคบายาในที่เดียวกัน โดยคัดเลือกผู้ประกอบการในภูเก็ตมาคอลแลบกับดีไซเนอร์แบรนด์ดัง ซึ่งจะเปิดตัวเร็วๆ นี้
The post แต่งชุด ‘เคบายา’ ทั้งเมืองภูเก็ต ฉลองยูเนสโกขึ้นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม appeared first on .