ในวันที่ ‘ส้ม’ โหยหาเพื่อน

ไอ้เสือถอย! 

ไปไม่ถึงสุดซอยครับ “หัวเขียง” ยอมเลี้ยวกลับเสียก่อน

แผนยึดอำนาจกองทัพ เป็นอันพับไว้ชั่วคราว

มิได้ยกเลิกนะครับ เพราะฟังสุ้มเสียงจาก “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” แล้ว ยังหวังจะกลับมาใหม่

“…จากการรับฟังความเห็นของประชาชนในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ตามมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีเสียงคัดค้านจำนวนมาก

ดังนั้นในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ที่มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีการประชุมพรรคเพื่อไทยในช่วงเช้า จะเสนอต่อพรรค เพื่อขอถอนร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม กลับไปปรับปรุงแก้ไขใหม่…”

“…อย่างไรก็ตามเมื่อมีเสียงคัดค้านมาก ก็ต้องนำมาปรับปรุง จากที่หวังไว้ ๑๐๐% ถ้าได้มาสัก ๓๐-๕๐% ก็คงพอใจแล้ว แต่คงไปสุดซอยไม่ได้แล้ว…”

เห็นมั้ยครับ…ไม่ได้ถอยกรูด

แต่ถอยตั้งหลัก!

เก็บไว้เป็นหัวเชื้อหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง

สาเหตุหลักที่พรรคเพื่อไทยไม่ยอมไปต่อ ณ เวลานี้ ไม่มีอะไรซับซ้อน เป็นเรื่องของเสถียรภาพของรัฐบาลล้วนๆ

การเสนอกฎหมายที่มีความขัดแย้งสูง พรรคที่เป็นรัฐบาลมักไม่ทำกัน เพราะได้ไม่คุ้มเสีย

ดูกรณีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยที่เสนอโดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นตัวอย่าง

พรรคเพื่อไทยมีบทเรียน และเลือกที่จะรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลดีกว่าปล่อยให้มีความขัดแย้งจนคุมไม่อยู่ 

สุดท้ายรัฐบาลพังพาบ!

ไม่สายเกินไปหากพรรคเพื่อไทยจะเสนอร่างกฎหมายยึดอำนาจกองทัพกลับเข้าสภาอีกครั้งตอนที่ตัวเองเป็นฝ่ายค้าน

แต่ในขณะเป็นที่รัฐบาล ต้องบอกกองเชียร์พรรคเพื่อไทยว่า อย่าได้คาดหวังว่าพรรคเพื่อไทยจะรบกับกองทัพโดยตรง

 สถานการณ์ขณะนี้คือถ้อยทีถ้อยอาศัย เพราะรัฐบาลแพทองธาร เล็งเห็นเรื่องอื่นที่อยู่ตรงหน้าสำคัญกว่า โดยเฉพาะการเจรจาแบ่งผลประโยชน์กับกัมพูชา

ดีกว่าจะเป็นศัตรูกับกองทัพ

ครับ…เป็นอันจบ หลังจากนี้ “หัวเขียง” จะไม่ปรากฏให้เป็นข่าวคราวไปอีกพักใหญ่

หันไปทางพรรคส้ม รอตกเหยื่ออยู่เหมือนกัน

ก็อย่างที่ทราบกัน หาก พรรคเพื่อไทย กับพรรคส้ม รวมหัวกันผลักดันกฎหมายฉบับนี้ จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรแบบที่ใครก็ต้านไม่อยู่

เพราะ ๒ พรรครวมกันได้ ๒๘๔ เกินครึ่งในสภาผู้แทนราษฎร

ภายใต้บรรยากาศเงียบเหงา เพราะบรรดาแกนนำทั้งในและนอกพรรคยังนอนหยอดน้ำข้าวต้มอยู่ ก็มีเสียงตะโกนจาก “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ”

“…ถ้าดูตามคณิตศาสตร์ทางการเมือง ในสภาผู้แทนราษฎร หากพรรคประชาชน กับพรรคเพื่อไทยจับมือกันแน่น รวมกันแล้วก็มี สส.ถึง ๒๙๐ คน ก็สามารถผลักดันให้ทุกร่างผ่านความเห็นชอบของสภาได้ ในวาระที่ ๑ คือชั้นรับหลักการ จากนั้นค่อยไปถกกันในชั้นกรรมาธิการ

จึงเชื่อว่าการที่บางพรรคไม่เห็นด้วย ก็ไม่เป็นอุปสรรค ที่พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน จะโหวตเห็นชอบในร่างของตัวเอง เพื่อให้ผ่านวาระที่ ๑ ไป จึงขอเชิญชวน สส. รัฐบาลร่วมกันโหวต…”

แต่…”ไอติม” มาช้าไปหน่อย เพราะพรรคเพื่อไทยเขากลับลำแล้ว

หลายครั้งการเมืองไม่ใช่เรื่องคณิตศาสตร์

ดูการตั้งรัฐบาลช่วงที่ พยายามผลักดัน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นตัวอย่าง

รวมเสียงจนเป็นข้างมากแล้ว “พิธา” ก็ยังไม่ได้เป็นนายกฯ เพราะการเมืองมันมากกว่าการบวกลบคูณหาร มันมีเรื่องผลประโยชน์ เรื่องสถานการณ์ ความเหมาะสม ฯลฯ เข้ามามีอิทธิพลด้วย

ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม นี้่ก็เช่นกัน หากพรรคส้มมี สส.เกินครึ่งสภาก็ว่าไปอย่าง แต่ในความเป็นจริง พรรคส้มยังต้องหาพันธมิตรมาช่วยโหวต

พรรคเพื่อไทยวันนี้่ คิดถึงความอยู่รอดของตัวเอง มากกว่าจะไปเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของพรรคส้ม

สถานการณ์แทบไม่ต่างไปจากกรณี การแก้ไข ม.๑๑๒

พรรคเพื่อไทยประเมินแล้ว หากเดินตามทิศทางของพรรคส้มจะเกิดปัญหาไม่รู้จบ

สุดท้ายอาจเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้่นมา

การเมืองที่ยังไม่คุ้มทุน จึงไม่น่าเสี่ยง

แต่การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จมากกว่า เพราะเป็นเป้าหมายร่วมของหลายพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล

พรรคส้ม จะไม่เดินเดียวดาย บนเส้นทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เพดานสูงสุดของพรรคส้ม ณ เวลานี้ คือต้องเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาให้ได้ แล้วฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทิ้งไป

“…เราสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเรามองว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีปัญหาทั้งที่มา และเนื้อหา เนื่องจากขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

และขณะที่มีการยกร่างนั้น หลายคนที่ออกมารณรงค์คัดค้าน ก็ถูกจับกุม

ดังนั้น เราจึงอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งถูกจัดทำโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ๑๐๐%…”

นี่คือคำพูดของไอติมวานนี้ (๑๐ ธันวาคม)

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหามากจริงหรือ

ทำไมกรณีการแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรี ถึงมีการพูดถึงข้อดีของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ที่บัญญัติคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีไว้อย่างเข้มข้น จนสามารถสกัดคนที่มีปัญหาด้านจริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตได้

รัฐธรรมนูญมีปัญหา หรือแค่มายาคติ

ทำไมนักการเมืองส่วนใหญ่ถึงได้รังเกียจรัฐธรรมนูญฉบับนี้นักหนา ทั้งๆ ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติจากประชาชนทั่วประเทศ

การที่บอกว่าขาดความเป็นประชาธิปไตย เอาอะไรวัด

ความรู้สึกส่วนตัว หรือ ข้อเท็จจริง

แต่ก็เตือนด้อมส้มไว้แต่เนิ่นๆ อย่าคาดหวังกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่พรรคส้มคุยโม้โอ้อวดก่อนหน้านี้ว่าจะเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศได้

จะได้ไม่ผิดหวังมาก

เพราะรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ บัญญัติกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ในหมวด ๑๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา ๒๕๕ กำหนดว่า

“…การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้…”

เนื่องจากประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ และต้องมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เป็นบททั่วไปของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐

ดังนั้น จึงห้ามมิให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ…”

ฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับที่จะยกร่างกันใหม่ ไม่มีอะไรวิเศษวิโสไปกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมากหรอกครับ

เผลอๆ ปล่อยผีนักการเมืองโกงกินเข้าไปอยู่ในรัฐสภา ในทำเนียบรัฐบาลมากกว่าเดิม.

The post ในวันที่ ‘ส้ม’ โหยหาเพื่อน appeared first on .

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *