2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง

ฝ่ายการเมืองต้องการให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการมาทำทั้งฉบับเลย ซึ่งสำหรับเราเห็นว่ามันไม่จำเป็น และบางพรรคที่ต้องการแก้ ก็ต้องการแก้เพื่อตัวเองและพวกพ้อง ไม่ได้แก้เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง …จะมาแก้ทั้งฉบับ ยิ่งไม่เอาด้วย จะแก้ทำไม ตอนนี้ประชาชนเดือดร้อนเรื่องอื่นมากกว่า เรื่องเศรษฐกิจอะไรต่างๆ ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องรัฐธรรมนูญเลย..ประเทศเราทุกวันนี้ ค่อนข้างดีอยู่แล้ว จะทำ ทำไมให้วุ่นวาย ผมเป็นห่วงว่าประเทศจะวุ่นวาย อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งจากเรื่องพวกนี้

ชาญวิศว์ บรรจงการ

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ถึงตอนนี้ ไทม์ไลน์เดิมที่วางไว้ ต้องขยับออกไป

หลังเกิดกรณีมีความเห็นที่แตกต่างกันของเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา ในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม“ร่างพรบ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ…”ในเรื่องกระบวนการออกเสียง ที่ฝ่ายสภาฯ แก้ไขพรบ.ออกเสียงประชามติพ.ศ. 2564 ให้เป็น”ประชามติแบบชั้นเดียว“แต่เสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภา เห็นชอบให้คงการออกเสียงประชามติแบบสองชั้น หรือdouble majority   ในกรณีการออกเสียงประชามติ ที่เป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ

จนสุดท้าย ร่างพรบ.ออกเสียงประชามติฯฉบับดังกล่าว จึงต้องค้างไว้ในสภาฯ เป็นเวลา 180 วัน นับจากวันที่ 19 ธ.ค. 2567 ที่พอครบกำหนด สภาฯ ถึงสามารถนำร่างดังกล่าวกลับมาพิจารณาลงมติอีกครั้งฯ

ส่วนทิศทางเรื่องการแก้ไขรธน.-การทำประชามติต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ทางรายการ“ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด”สัมภาษณ์ สองแกนนำสมาชิกวุฒิสภา ถึงเรื่องดังกล่าว คือ พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ และ ชาญวิศว์ บรรจงการ ซึ่งนอกจากเรื่อง การแก้ไขรธน.และการทำประชามติแล้ว ยังได้มีการซักถามมุมมองเรื่องการเมืองไทย ในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต จากสว.ทั้งสองคนด้วย

เริ่มด้วยการที่”พิสิษฐ์-สว.”ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพรบ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ….ที่เป็นกรรมาธิการร่วมกันของสองสภาฯ คือสภาผู้แทนราษฎร กับวุฒิสภา โดยเป็นสว.ที่มีบทบาทในการผลักดันให้ร่างพรบ.การออกเสียงประชามติฯ คงหลักเรื่อง การทำประชามติสองชั้นที่ให้ใช้กับเฉพาะกับเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยเขาได้ยกตัวอย่างมาอธิบายเหตุผลในการคงหลักการการทำประชามติสองชั้นในกรณีทำประชามติเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยเปรียบเทียบให้ฟังว่า

…การเลือกตั้งปี 2566 มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ประมาณ 52 ล้านคน หากมีการทำประชามติ สมมุติมาแค่หนึ่งล้านคน ถ้าในหนึ่งล้านคน มีคนที่เห็นชอบกับการจัดทำประชามติในเรื่องที่ทำประชามติ แค่ห้าแสนกับหนึ่งคน ก็ถือว่าประชามติที่จัดทำ เห็นชอบ-ผ่าน แต่ยิ่งกว่านั้นอีกคือน้อยกว่านั้นก็ได้ เพียงแค่ให้มากกว่าคะแนนโหวตงดออกเสียง แต่ความจริงไม่ใช่ตรงนั้น ความจริงกลายเป็นว่าห้าแสนดังกล่าว เป็นเสียงของคนห้าสิบสองล้านคน แล้วคิดว่ามันเหมาะสมหรือไม่ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ผมจึงเสนอเขียนไว้ในร่างพรบ.การออกเสียงประชามติ (ยื่นแปรญัตติ) ว่า ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ(ให้ใช้การออกเสียงประชามติสองชั้น) เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่ และกระทบกับประชาชนทั้งประเทศ ผมก็เลยเสนอเพิ่มให้กลับไปใช้แบบตอนพรบ.ออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ให้เป็นประชามติสองชั้น ที่เป็นหลักการ-เนื้อหาแบบเดิม ซึ่งก็ยังเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

-หลักการออกเสียงประชามติสองชั้น ก็คือสมมุติว่า หากมีผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 52 ล้านคน ต้องมีคนมาออกเสียงไม่ต่ำกว่า 26 ล้านกับหนึ่งคน โดยการทำประชามติเรื่องที่จะผ่านได้ ต้องมีเสียงเห็นชอบ อย่างน้อย 13 ล้านคนกับหนึ่งคน?

พิสิษฐ์-ถูกต้อง  13 ล้านกับหนึ่งคน หากเทียบกับ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 52 ล้านคน เทียบแล้วก็คือ 25 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง

ซึ่งไม่ได้เยอะ กับการเห็นชอบเรื่องรัฐธรรมนูญ หลักเกณฑ์ดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายอื่น

จริงๆ แล้วพรบ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ไม่ยืดหยุ่น ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ไม่ยืดหยุ่น ก็แก้ให้มีความยืดหยุ่นขึ้นเพราะอย่าลืมว่าการทำประชามติ มันไม่ได้มีแค่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ

ยกตัวอย่าง หากจะมีการทำโรงขยะในชุมชนแห่งหนึ่ง แล้วต้องการจะถามว่าประชาชนในชุมชนเห็นด้วยหรือไม่ การที่เราไม่ต้องเอาคนที่มีสิทธิ์ทั้งหมดมาคิด เอาเฉพาะคนที่มีปัญหาตรงนั้น

ชาญวิศว์-เห็นด้วยกับเรื่องการออกเสียงประชามติสองชั้นเรื่องของรัฐธรรมนูญ  เพราะการทำประชามติ คือเรื่องการเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยของประชาชน จึงเป็นมติที่สำคัญที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบด้วยกับสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่จะทำแบบ ถ้าภาษาบ้านๆ คือทำแบบลวกๆ  มันต้องเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มติของประชาชน จึงต้องเป็นเรื่องสำคัญ ผมไม่เห็นด้วยที่จะทำแบบลวกๆ

-บางฝ่ายเช่นนายพริษฐ์ วชิรสินธุส.ส.พรรคประชาชน  พยายามสื่อว่า หากคนที่ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็แค่รณรงค์ให้คนนอนอยู่กับบ้านก็จบแล้ว?

พิสิษฐ์-ผมบอกตรงๆ มันมีกฎหมายชัดเจนอยู่แล้ว การรณรงค์ให้คนนอนหลับทับสิทธิ์มันผิดกฎหมาย มันไม่สามารถทำได้ อันนี้พูดจริงๆ การที่เป็นวิวาทะในสภาฯว่า ก็ไปรณรงค์ให้คนนอนหลับทับสิทธิ์ ผมถามจริงๆ ว่าใครกล้าทำ ติดคุก มันเป็นเรื่องทางอาญา

ชาญวิศว์-ผมยังไม่เคยเห็นคนไทยในเรื่องพวกนี้ เรื่องที่จะมานอนหลับทับสิทธิ์  เรื่องที่สำคัญของประเทศ ครั้งก่อน เราทำประชามติตอนปี 2559 คนก็ออกมาใช้สิทธิ์ถล่มทลาย ผมไม่เชื่อว่าเรื่องแบบนี้คนจะนอนหลับทับสิทธิ์

ถ้าบอกว่าสว.สีน้ำเงิน เอาจริงๆ น้ำเงินคือสีแถบธงชาติ คือสีของสถาบันฯ คือพวกเรามา เพื่อปกป้องประเทศชาติและสถาบันฯ และประชาชน นี้คือหน้าที่เรา… เป็นการเรียกตามเสียงข้างมาก อะไรเสียงข้างมาก ก็เรียกสว.สีน้ำเงินหมด แต่ต้องบอกว่า พวกเรามาแบบอิสระ ทุกคนเป็นอิสระ คิดเองได้ ใบสั่งไม่มี ใบสั่งมีแค่เรื่องจราจรอย่างเดียว ..เรื่องพรบ.การออกเสียประชามติ มีส.ส.บอกว่าเราขัดขวางการแก้ไขรธน. ซึ่งพวกเราไม่เคยขัดขวางการแก้ไขรธน. แต่เราทำให้มันถูกต้องชอบธรรม อะไรที่มันถูกต้อง เราก็ให้ผ่าน แต่อะไรไม่ถูกต้อง เราต้องคัดค้าน  

พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์       

คนก็อาจพูดว่า คุณพิสิษฐ์ เป็นสว.สีน้ำเงิน ต้องมีใบสั่งทางการเมืองแน่นอน?

พิสิษฐ์-ใบสั่ง เอาไว้สำหรับเสียค่าปรับจราจร ไม่มีหรอกครับ ง่ายๆ เราปรับตัวนี้(พรบ.ออกเสียงประชามติ)ให้มันยืดหยุ่น

ชาญวิศว์-ผมชัดเจนครับ ผมไม่มีใบสั่ง ไม่รู้จักใบสั่งด้วย ผมอิสระครับ

-คุณพิสิษฐ์ ก็ไม่ปฏิเสธว่าตัวเองก็ถูกมองว่าเป็นสว.สีน้ำเงิน?

พิสิษฐ์-จริงๆ ถ้าบอกว่าสว.สีน้ำเงิน เอาจริงๆ น้ำเงินคือสีแถบธงชาติ คือสีของสถาบันฯ คือพวกเรามา เพื่อปกป้องประเทศชาติและสถาบันฯ และประชาชน นี้คือหน้าที่เรา

-พอครบ 180 วันแล้ว สภาฯ ก็คงประชุมแล้วลงมติยืนยันเอาตามร่างเดิมฯของสภาฯ คือให้ทำประชามติชั้นเดียว แล้วอนาคตเรื่องประชามติจะเป็นอย่างไร?

พิสิษฐ์-อนาคตจะเป็นอย่างไร ในมุมมองของผม ก็คิดว่า พอครบ 180 วัน ทางสภาฯ คงนำร่างพรบ.การออกเสียงประชามติ กลับมาพิจารณาอีกครั้งและคงลงมติตามร่างเดิมของสภาฯ ก็น่าจะเป็นแบบนั้น ส่วนต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นก็คงไม่รู้ได้

ชาญวิศว์-มันเป็นความต้องการของฝ่ายการเมืองอย่างเดียว ในความคิดผม ที่ต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญ และถ้าสังเกตุ จากที่เราตามข่าวและสังเกตุมาตลอด รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มันเป็นกลไกที่จะป้องกันและตรวจสอบการทุจริต ซึ่งเขียนไว้ดี แต่ฝ่ายการเมืองบางพรรค เขาไม่ชอบ เขาเลยต้องการแก้ อันนี้คือปัญหา

-อาจเพราะไปติดกับดักความรู้สึกหรือไม่ที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นผลพวงจากรัฐประหาร?

พิสิษฐ์-อันนี้คือสิ่งที่เขาอ้าง เขาอ้างว่า การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมา คนที่เขียนมาจากรัฐประหาร

ชาญวิศว์-แต่ส่วนตัวผม แมวสีอะไร ผมไม่เกี่ยง ถ้ามันจับหนูได้ ที่มาที่ไปของรัฐธรรมนูญมันไม่สำคัญหรอก มันอยู่ที่เนื้อใน ถ้าเนื้อในมันตอบโจทย์ มันตรงกับใจประชาชน และที่สำคัญ ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติจากประชาชน

-แล้วจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะรายมาตราหรือยกร่างใหม่ มีจุดยืนอย่างไร?

ชาญวิศว์-ขอท้าวความอย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น สำคัญที่สุดคือตอนนี้ฝ่ายการเมือง ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจริงๆ แก้ได้ ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยออกมาแล้วว่าแก้ไขได้ แต่ตอนนี้ฝ่ายการเมืองต้องการให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการมาทำทั้งฉบับเลย

สำหรับเราเห็นว่ามันไม่จำเป็น และบางพรรคที่ต้องการแก้ ก็ต้องการแก้เพื่อตัวเองและพวกพ้อง ไม่ได้แก้เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง อย่างที่แก้เพื่อพวกพ้อง หากดูจากข่าวที่ออกมา บางพรรคการเมือง บางพรรคต้องการแก้ให้มีแต่ส.ส.เขตอย่างเดียว ไม่ต้องมีปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อตอบโจทย์ตัวเองเท่านั้น จะได้มีอำนาจต่อ หรือบางพรรคการเมือง ก็เลยเถิดไปเลย จะแก้ จะไปแหย่ทหาร ไปแก้กฎหมายเพื่อลดอำนาจทหาร หรือจะไปแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เห็นข่าวกันอยู่ คือแก้เพื่อจะสถาปนาตัวเองขึ้นมา

เหตุผลหลักก็มีให้เห็นกันอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน อยากเป็นแบบนั้น แต่หากจะแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ก็ต้องดูเป็นเรื่องๆไป แต่ถ้าจะแก้แบบที่เอ่ยมา ผมไม่เอาด้วย และยิ่งจะมาแก้ทั้งฉบับ ผมยิ่งไม่เอาด้วย จะแก้ทำไม ตอนนี้ประชาชนเดือดร้อนเรื่องอื่นมากกว่า เรื่องเศรษฐกิจอะไรต่างๆ ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องรัฐธรรมนูญเลย แต่ฝ่ายการเมืองบางพรรค อยากเห็น อยากทำตาม อยากมีอำนาจเหมือนประเทศใกล้เรา เห็นไหม ฮุน เซ็นโมเดล ผมคิดอย่างนั้น

พิสิษฐ์-เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมขออ้างอิงผลสำรวจของนิด้าโพล ที่ผมก็ได้นำเรื่องนี้ไปอภิปรายในที่ประชุม(วุฒิสภา) ซึ่งนิด้าโพล ที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนเมื่อช่วง 2-3 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ที่สำรวจจากประชาชนประมาณ 1,300 ตัวอย่าง พบว่าความต้องการของคนในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีประมาณ 27.63  เปอร์เซ็นต์(เห็นด้วย) แต่คนที่ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย ก็มี 27.02 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน ตรงนี้บ่งบอกว่า มันไม่แตกต่างกันคือ 27 เปอร์เซ็นต์เท่าๆกัน แต่ก็พบว่าก็มีตัวเลขออกมาว่าไม่ค่อยต้องการ( 19.08) กับ ค่อนข้างต้องการ( 25.34) มันเป็นคำตอบที่ไม่ค่อยแน่ใจ

ผมจึงไม่สามารถชี้วัดได้ว่าคนที่ตอบคำถามแบบนี้ อยากจะให้แก้หรือไม่ให้แก้ไขรธน.ซึ่งรวมแล้วก็ร่วมสี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ผมมองว่า จริงๆแล้วการแก้ไขรธน.ต้องยึดหลักสี่ข้อ

คือ 1. ความรู้ ต้องให้ความรู้กับประชาชนก่อนว่าแก้ไขรธน.ไปเพื่ออะไร แก้เรื่องไหนและแก้รธน.แล้วประชาชนได้อะไร

2.การรณรงค์ แต่ไม่ใช่รณรงค์ให้นอนหลักทับสิทธิ์ ที่มีวาทะของส.ส.พูดแบบนี้ ผมว่ามันผิดกฎหมาย แต่การรณรงค์ที่ถูกต้องคือ หลังให้ความรู้กับประชาชนแล้วต้องรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์

3.ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ไม่ใช่ประโยชน์ที่จะไปเอื้อกับนักการเมือง

4. ความคุ้มค่า การทำประชามติหรือการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ใช้งบประมาณเป็นหลักพันล้านบาท ร่วมครั้งละสามพันล้านบาท และหากจะมีการแก้ไขรธน.แล้วทำประชามติ ก็ต้องทำไม่ต่ำกว่าสองครั้ง ก็ใช้งบร่วมหกพันล้านบาท และหากทำสามครั้งก็ร่วมหมื่นล้านบาท อันนี้คือสิ่งที่เราต้องคิดให้รอบคอบ

ยืนยันว่าไม่ได้คิดปิดประตูการแก้ไขรธน. เพียงแต่หากจะแก้ต้องตอบโจทย์ทั้งสี่เรื่องข้างต้นโดยเฉพาะเรื่องว่าประชาชนต้องการแก้ไขรธน.หรือไม่ เพราะผลสำรวจของนิด้าโพลก็ชี้ชัดแล้วว่า 27 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน(ควรแก้-ไม่ควรแก้)  

-ที่จะมีความพยายามแก้ไขรธน.มาตรา 256 ของพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค เพื่อแก้ไขกระบวนการแก้ไขรธน. เพื่อให้มีสภาร่างรธน.และจะตอบโจทย์ว่า จะให้ทำประชามติแค่สองครั้ง เห็นด้วยหรือไม่ และคิดว่าจะเป็นไปได้หรือไม่?

ชาญวิศว์-ผมไม่เห็นด้วย คือประเทศเราทุกวันนี้ ค่อนข้างดีอยู่แล้ว จะทำ ทำไมให้วุ่นวาย ผมเป็นห่วงว่าประเทศจะวุ่นวาย อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งในเรื่องพวกนี้ ควรเดินไปตามระบบ อย่างที่คุณพิศิษฐ์บอกไว้ ที่ไม่ได้มีการปิดกลั้นอะไร เราแก้ไขกันได้ ก็ไปคุยกันให้ชัดเจนในฝั่งของสภาฯ

เพราะอย่างผลสำรวจของนิด้าโพล ที่คุณพิสิษฐ์กล่าวอ้าง ก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มันก้ำกึ่งกัน อย่างหากมีสมาชิกสภาร่างรธน. ก็ไม่รู้ว่าคนเข้าไปเป็นสสร.จะตอบโจทย์ฝ่ายการเมืองแค่ไหน จะเลือกสสร.เข้ามา จะเป็นใครก็ไม่รู้ ซึ่งผมก็เชื่อว่า คงไม่ผ่าน เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยกับเขา ซึ่งหากที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา ผมก็จะลงมติค้านแน่นอน เพราะมันไม่ได้ตอบโจทย์ประชาชนอย่างที่ผมกล่าวข้างต้น

พิสิษฐ์-ก็เป็นความพยายามลดขั้นตอน เขาต้องการให้เหลือขั้นตอนน้อยที่สุด เขาก็เลยจะแก้ตรงนี้ในมุมมองของผม ส่วนว่า เขาจะหาสว.มาลงมติให้หนึ่งในสาม 67 เสียงหรือไม่ ผมตอบไม่ได้จริงๆ ไม่แน่ใจ

-แต่เขาบอกกันว่า สว.สีน้ำเงินมีร่วม 167 คน?

พิสิษฐ์-ก็เป็นการเรียกตามเสียงข้างมาก อะไรเสียงข้างมาก ก็เรียกสว.สีน้ำเงินหมด แต่ต้องบอกว่า พวกเรามาแบบอิสระ ทุกคนเป็นอิสระ คิดเองได้ ใบสั่งไม่มี ใบสั่งมีแค่เรื่องจราจรอย่างเดียว

-ก็คือ อย่าได้ประมาท 67 เสียงของสว.ที่อาจจะมาร่วมลงมติให้  ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ?

พิสิษฐ์-ก็ต้องบอกอย่างนั้น เพราะคือหลักประชาธิปไตยอยู่แล้ว ส่วนความเห็นคุณชาญวิศว์เป็นความเห็นส่วนตัว

ชาญวิศว์-คือผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่เห็นด้วย ส่วนสว.ก็แบบที่คุณพิศิษฐ์บอก คือสว.ก็มีความเป็นอิสระของเขา คือผมเชื่อมั่นจากสิ่งที่ผ่านมา จากที่เห็นในการออกเสียงตอนโหวตร่างพรบ.ออกเสียงประชามติ ของสว. ที่ลงมติไปในทิศทางเดียวกัน ผมเชื่อว่าสว.เราไม่มีใบสั่งออกมา ไม่ว่าจะใบสั่งฝั่งไหนให้มายกมือได้ เพราะสว.แต่ละคนก็มีแนวความคิด มีที่ไปที่มา มีอิสระในการคิด

แลหน้าการเมืองไทย 2568 ต้องให้โอกาสนายกฯ ทำงาน

-สว.ชุดปัจจุบัน เข้ามาในช่วงรอยต่อสองรัฐบาล คือรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน กับรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร แล้วมองปี 2567 ในเชิงมิติต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อย่างไรบ้าง?

ชาญวิศว์-ปี 2567 เราก็ได้เห็นอะไรหลายอย่างเช่นมีการเปลี่ยนตัวนายกฯ จนมีนายกฯสองคน แต่ในฐานะประชาชน ผมยังมองไม่เห็นอะไรที่ชัดเจนที่ตอบโจทย์ประชาชน อย่างเรื่องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้อยู่ดีกินดี นโยบายของรัฐบาลก็ยังไม่เห็นภาพชัด ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้านก็คือเหมือนกับว่าเรากินบุญเก่าอยู่ ที่ต่อเนื่องกันมา เห็นชัดๆ นโยบายที่ปฏิบัติออกมาก็คือเรื่องเงินหมื่น แต่ก็ไม่เห็นว่าจะตอบโจทย์ลงไปถึงการเคลื่อนไหวของระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เพียงแต่รัฐบาลก็ได้ดำเนินการตามนโยบายที่เคยพูดไว้ คือแจกจริง

ผมเป็นนักประชาธิปไตย ยอมรับในกระบวนการที่ได้มาตามระบบประชาธิปไตย กระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ ถูกต้องตามกฎหมาย ผมก็ให้กำลังใจนายกฯแม้ว่าจะเจอปัญหาอะไรก็แล้วแต่ ทว่ามันก็เป็นเรื่องปกติ เพราะหากไม่เจอปัญหา ก็ไม่ใช่ผู้นำ หน้าที่ผู้นำคือต้องแก้ปัญหา

-เสียงวิจารณ์ว่านายกฯเหมือนมาฝึกงาน คิดว่าจริงไหม?

ชาญวิศว์-เรื่องนี้ส่วนตัวผม ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย หรือเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อท่านเข้ามาโดยประชาชนส่วนใหญ่เลือกเข้ามาแล้ว ก็ต้องให้โอกาสนายกฯ คือสี่ปี ตามอายุของสภาฯ คนไทยต้องรู้จักอดทน อดกลั้นให้ได้ เมื่อเลือกเขาเข้ามาแล้ว ถ้าถูกใจก็เลือกต่อ หากไม่ถูกใจก็ไม่ต้องเลือกเที่ยวหน้า อันนี้เป็นการป้องกันรัฐประหารได้ด้วย หากคนไทยยึดถือระบบเป็นหลัก

พิสิษฐ์-ปี 2567 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากนายกฯเศรษฐมาเป็นนายกฯแพทองธาร ชินวัตร อย่างที่ถามคุณชาญวิศว์ว่า เข้ามาฝึกงานหรือไม่ ซึ่งในมุมมองของผม จริงๆแล้วผมชอบสิบนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ผมยังตั้งชื่อไว้เลย

-ที่ว่า พ่อคิด ลูกทำ?

พิสิษฐ์-ใช่ เป็นคอนเสปต์ผมเอง ผมก็ว่าดีครับ เพราะอดีตนายกฯก็เป็นคุณพ่อ แล้วลูกมาเป็นนายกฯ ผมเชื่อว่านโยบายที่ท่านทักษิณ ชินวัตรเคยทำเช่น 30 บาทรักษาทุกโรค จนมาถึงลูกสาวคือคุณแพทองธาร ซึ่งผมว่าต้องให้โอกาส เพราะเพิ่งรับตำแหน่งได้แค่สี่เดือนเอง ก็เหมือนกับสว.อย่างพวกผม ก็อยากให้ประชาชนได้ดูผลงานเราก่อน เรายังเข้ามาได้ไม่ถึงครึ่งปี ก็เหมือนกัน เราก็ต้องให้โอกาสกับนายกฯก่อน ก็คืออย่างน้อย ก็หกเดือนถึงจะเห็นผลคือครึ่งปี เพื่อดูภาพรวมก่อนว่าที่บอกสิบนโยบายเร่งด่วน ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง จะสอบตกหรือสอบได้ ต้องให้เวลาหกเดือน

แต่หากถามว่าตอนนี้จับต้องอะไรได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่ายังไม่มีความชัดเจน นโยบายที่เคยชูธงเช่นดิจิทัลวอลเล็ต ก็ยังทำไม่ได้ ซึ่งการแจกเงิน ถามว่าแจกแล้วได้อะไร วันนี้เราก็ยังไม่เห็นว่ามันกระตุ้นเศรษฐกิจตรงไหน มันเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ก็ยังไม่เห็นประโยชน์จากการแจกเงินตรงนั้น ส่วนที่บอกว่ายังทำไม่ได้(สิบนโยบายเร่งด่วน)  ก็น่าจะเกิดจากยังไม่มีการโฟกัสจริงจัง สิ่งที่เขาโฟกัส เท่าที่ผมเห็นหลังผมเข้ามาเป็นสว.ก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะแก้อยู่นั่นแหละ ไม่คิดจะทำอะไรอย่างอื่นที่ผมคิดว่าเป็นรูปธรรม อันนี้คือสิ่งที่ผมเห็น แล้วที่จะแก้ แก้อะไรบ้างก็เช่น จะลดอำนาจองค์กรอิสระ จะนิรโทษกรรม ถามว่าเคยเห็นนโยบายรัฐบาลอะไรที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหรือไม่ ผมก็ต้องบอกว่าไม่เห็น

สองสว.กับทัศนะ การฟื้นคืนระบอบทักษิณ

-บางภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาสังคม  เกรงกันมากถึงสิ่งที่เรียกว่าการฟื้นคืนของระบอบทักษิณ ตรงนี้คิดอย่างไร หวั่นเกรงหวั่นใจลึกๆไหม?

ชาญวิศว์-ก็น่าเป็นห่วงอยู่ เพราะว่าสมัยก่อน เราได้เจอมาแล้ว อำนาจเบ็ดเสร็จ เผด็จการในรัฐสภา เราได้เจอมาแล้ว วันนี้ก็เช่นเดียวกัน หลังจากอดีตนายกฯได้ออกเดินสาย เราก็ได้เห็น ได้เห็นวาทกรรม ได้เห็นคำพูด ได้เห็นการข่ม การขู่ พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลก็มีอยู่ ก็น่าเป็นห่วงอยู่ครับว่า โอกาสมันจะเกิดขึ้นมา

-แล้วเรื่องชั้น 14 มองยังไง?

ชาญวิศว์-ผมมองแบบแลไปข้างหน้าปี 2568 ว่านี้คือปัญหาตัวหนึ่งของประเทศ

-ต้องถอดสลักระเบิดนี้ แล้วจะถอดอย่างไร?

ชาญวิศว์-นั่นแหละคือประเด็นสำคัญว่าจะถอดอย่างไร ตัวอย่างก็มีให้เห็นอยู่ที่สำนักงานป.ป.ช. (การเคลื่อนไหวยื่นหนังสือของกลุ่มต่างๆ ที่สำนักงานป.ป.ช.นำโดยนายแก้วสรร อติโพธิ เมื่อ 18 ธ.ค. 2567) ก็ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งนั้น เรื่องนี้ก็เป็นสลักตัวหนึ่ง ในปี 2568 เป็นเคสๆหนึ่ง

พิสิษฐ์-ที่ถามเรื่องระบอบทักษิณ ถามว่าโดยส่วนตัวกลัวหรือไม่ จริงๆในความรู้สึกผม มุมมองผม ผมไม่กลัว เหตุผลเพราะผมเชื่อมั่นในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาแก้ปัญหาที่ทำให้เกิดรัฐประหารรอบที่ผ่านมา (2557) แทบจะเรียกได้ว่า ปิดจุดอ่อนเกือบหมดแล้ว สิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณ

เอาง่ายๆ คือระบอบที่แทรกแซงทุกสิ่งทุกอย่าง เช่นองค์กรอิสระ ที่หากเรายินยอมให้มีการแก้ไขเพื่อลดทอนอำนาจองค์กรอิสระ อันนี้ผมจะหวั่น จะกลัวเหมือนที่สว.ชาญวิศว์กล่าว คือหากแก้แล้วลดอำนาจลง คราวนี้ก็จะกลับไปเป็นแบบเดิมหรือไม่ แต่ว่าระบบของเขา ก็ไม่ใช่ว่าเสียไปหมด อย่างน้อยช่วงที่เขาเป็นรัฐบาลแรกๆ ก็เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ทุกคนยังจดจำได้ แต่พอช่วงหลัง เหมือนกับว่าตัวเองเขาเองเริ่มรู้ระบบที่จะเข้าไปแทรกแซงต่างๆ อันนี้แหละคือปัญหา

-เรื่องการแก้ไขพรบ.การออกเสียงประชามติเหมือนกับเป็นสัญญาณเบื้องต้น?

พิสิษฐ์-มันคือกุญแจดอกแรก ถ้ามันง่ายแสดงว่าพวกเขา เอาง่ายๆ คือเรื่องพรบ.ประชามติฯ ดูเหมือนว่าอาจไม่มีอะไร แต่หากเขามั่นใจว่าการแก้ไขรธน.ของเขา ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ ต่อให้ทำประชามติสิบชั้น ผมก็เชื่อว่าผ่าน แต่ที่เขากลัว เขากลัวจะไม่ผ่าน ก็เลยปรับเงื่อนไขให้มันง่ายที่สุด 

-มีอะไรจะเสนอแนะรัฐบาลในเรื่องการทำงานว่าในปี 2568 รัฐบาลควรพุ่งเป้าการทำงานอย่างไร?

ชาญวิศว์-ส่วนตัวผมเห็นว่าเรื่องหลักที่รัฐบาลควรทำ ก็คือแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ทำเรื่องนี้เป็นเรื่องหลักก่อน อย่าเพิ่งไปคิดเรื่องพวกการทำ MOU หรือเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เอาเรื่องปากท้องประชาชนก่อน วันนี้หากลงพื้นที่จะรู้ว่าประชาชนเขาบ่น ความเดือดร้อนเรื่องปากท้อง

พิสิษฐ์-สิ่งที่อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาจริงๆ คือเรื่องการสร้างรายได้ เพราะรายได้ของประชาชนตอนนี้ลดลง อัตราการจ้างงานก็เริ่มลดลง เหตุผลหนึ่งผมมองว่าต่างชาติเองก็เริ่มหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ผมสังเกตุจากหลายนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งหากถามว่าดีหรือไม่ ก็เป็นเรื่องดี แต่สำหรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็มีผลกระทบ เช่นกระทบกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น เพราะสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ก็เพิ่มจากต้นทุน ซึ่งเรื่องค่าแรงก็เป็นต้นทุน ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายมันเพิ่มขึ้น ซึ่งในมุมมองผม เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ที่กำหนดในปัจจุบัน ถือว่าโอเคแล้ว แต่ต้องส่งเสริมให้แรงงานมีความสามารถมากขึ้นกว่าเดิม

เสียงวิจารณ์สภาสูง -สว.สีน้ำเงิน ยันขอให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์

ปิดท้ายกันที่ ถามถึงการทำงานของสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ซึ่งตอนเข้ามา ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย โดยจากที่ได้ทำงานกันมาหลายเดือน การทำงานของสว.เป็นอย่างไรบ้าง คำถามดังกล่าว “ชาญวิศว์-สมาชิกวุฒิสภา”ย้ำว่า จริงๆ แล้ว วุฒิสภาเรามีทุกสี ที่ผมถือว่าเป็นเรื่องปกติ และพวกเราเอง หากมองย้อนกลับไปดู เราวุ่นวายกับเรื่องสี มาสองทศวรรษแล้ว เลิกๆ ลืมๆ กันหน่อยได้ไหม  ผมว่าการด้อยค่า อย่างเช่น บอกเป็นสีน้ำเงิน แต่ตัวผม บอกได้เลยว่าผมไม่ใช่สีน้ำเงิน แต่ว่าสว.ที่เกี่ยวข้องกับสีน้ำเงิน ถามว่ามีหรือไม่  ก็ต้องยอมรับความจริงว่ามีอยู่ แต่ไม่ได้ผิดปกติ เพราะว่ากติกาการได้มา กลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ของใครที่จะเข้ามามันเป็นอย่างนี้

… อย่างการเลือกอบจ.ที่จะมีขึ้น แต่ละพรรค แต่ละสีก็แข่งกัน และผมมั่นใจว่าสีน้ำเงินมาอีก เพราะฉะนั้นผมว่าเราอย่ามาอ้างเรื่องสีกันเถอะ พวกเราสว.ขอให้รอดูผลงานพวกผม คอยดูผลงานสว.ชุดนี้ว่าจะออกมาตรงใจกับที่ประชาชนต้องการหรือไม่ เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศชาติ รักประเทศหรือไม่ ดูเรื่องพรบ.การออกเสียงประชามติได้ เป็นตัวอย่างพวกเรา

พิสิษฐ์-สื่อมวลชนอาจเรียกพวกเราว่าสีน้ำเงิน แต่จริง ๆแล้วพวกเราก็คือคนไทย และพวกผมในฐานะที่เป็นสว. และมาจากหลากหลายสาขาอาชีพจริงๆ และเป็นอาชีพที่มีเกียรติทุกอย่าง เป็นอาชีพสุจริต ซึ่งในมุมมองผม ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่หลากหลาย 

เพราะอย่าลืมว่ากฎหมายต่างๆ ที่ส่งเข้ามา จำเป็นต้องได้รับความคิดเห็นจากสิ่งที่แตกต่างกัน เรามีทั้งมหาเศรษฐี มีอดีตข้าราชการระดับสูง รวมไปถึงระดับรากหญ้า ทุกคนอยู่ในวุฒิสภาสองร้อยคน ซึ่งเคยมีครั้งใดหรือไม่ที่รวมสว. ได้หลากหลายอาชีพขนาดนี้ ผมตอบตรงๆว่ายากมาก เราเคยได้ยินแต่สภาผัวเมีย สภาใบสั่ง ซึ่งเราเคยได้ยินมาตลอด ซึ่งที่ผมเข้ามาเป็นสว.ได้ประมาณหกเดือน ผมรู้สึกว่าเราถูกสังคมประณามว่าเป็นตัวร้ายอย่างเช่น เรื่องพรบ.การออกเสียประชามติ มีส.ส.บอกว่าเราขัดขวางการแก้ไขรธน. ซึ่งพวกเราไม่เคยขัดขวางการแก้ไขรธน. แต่เราทำให้มันถูกต้องชอบธรรม อะไรที่มันถูกต้อง เราก็ให้ผ่าน แต่อะไรไม่ถูกต้อง เราก็ต้องคัดค้าน

You may also like...